คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2251/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด การดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องอาศัยบุคคลธรรมดาเป็นผู้กระทำ ซึ่งก็คือ จำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อจำเลยที่ 2ทำบันทึกข้อตกลงให้แก่โจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงข้ออื่น ๆ ในนามของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์บางส่วน ทั้งได้จดทะเบียนถอนโจทก์ออกจากการเป็นผู้ถือหุ้นตามบันทึกข้อตกลงแล้ว เท่ากับจำเลยที่ 1ยอมรับการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำของจำเลยที่ 1แม้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจะไม่ได้ประทับตราของจำเลยที่ 1 ตามข้อบังคับก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำการแทนจำเลยที่ 1จึงผูกพันจำเลยที่ 1 ที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เดิมโจทก์เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งต่อมาโจทก์ถอนตัวจากการเป็นหุ้นส่วน จำเลยทั้งสองตกลงคืนเงินจำนวน 300,000 บาท ที่ยืมไปให้โจทก์ภายในวันที่ 30 เมษายน2539 เมื่อถึงกำหนดจำเลยทั้งสองผิดนัด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 319,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองไม่มีการประทับตราจำเลยที่ 1 จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกัน ชำระเงินให้โจทก์ 319,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี จากต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1

โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้โต้แย้งกันรับฟังได้ยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เดิมมีโจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการต่อมาโจทก์ถอนตัวออกจากการเป็นหุ้นส่วนได้ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินตามเอกสารหมาย จ.2 โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ให้สัญญาแต่ไม่ประทับตราของจำเลยที่ 1 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ประการแรกว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 300,000 บาทตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 2 ให้แก่โจทก์หรือไม่โดยโจทก์ฎีกาว่า บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.2 ถือว่าเป็นเอกสารของจำเลยที่ 1 ดังนั้นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันก็ดีในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกับห้างหุ้นส่วนก็ดี ให้สันนิษฐานว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้ทำบันทึกไว้นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1024 จึงย่อมต้องผูกพันจำเลยที่ 1 แม้จะไม่ได้มีการประทับตราของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า หนี้ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.2เป็นหนี้ของจำเลยที่ 1 เจตนาของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต้องการให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงนั้น จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในนามของจำเลยที่ 1 เท่านั้น จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เห็นว่าจำเลยที่ 2 ให้การว่า บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.2ไม่มีผลตามกฎหมายใช้บังคับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อเป็นผู้ให้สัญญาโดยไม่ได้ประทับตราของจำเลยที่ 1ตามข้อบังคับ จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2ก็ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเพราะเป็นหนี้ของจำเลยที่ 1 และจำเลยทั้งสองก็ได้อุทธรณ์ยืนยันในความข้อนี้ โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกข้อต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำการในนามของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์เท่านั้น แต่เท้าความระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 และโจทก์เป็นหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 เพราะมีข้อความอื่นว่าโจทก์ยอมออกจากการเป็นหุ้นส่วนและถอนเงินลงหุ้นด้วย หาใช่เป็นบันทึกข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการไม่ จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงไม่ตรงกับที่คู่ความรับกันมาและจำเลยทั้งสองยกขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ นอกจากนั้นข้อกำหนดในบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.2 ข้ออื่น ๆ เช่น การถอนเงินลงหุ้นจากจำเลยที่ 1 ของโจทก์ การยอมให้โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ฟ้องคดีบังคับเอาเงินจากลูกหนี้ การคืนทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการจะต้องปฏิบัติต่อโจทก์ทั้งสิ้นอีกทั้งจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการก็ดำเนินการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงในข้ออื่น ๆ นั้นเสร็จสิ้นไปแล้วโดยไม่มีข้อโต้แย้ง จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ให้สัญญาแก่โจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การที่บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.2 ไม่ได้ประทับตราของจำเลยที่ 1ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ที่ได้จดทะเบียนไว้มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด การดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องอาศัยบุคคลธรรมดาเป็นผู้กระทำในนามของจำเลยที่ 1 ซึ่งก็คือจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.2ให้แก่โจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงข้ออื่น ๆ ในนามของจำเลยที่ 1ให้แก่โจทก์บางส่วนไปแล้ว ทั้งจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2หุ้นส่วนผู้จัดการก็จดทะเบียนถอนโจทก์ออกจากการเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกข้อตกลงแล้ว ซึ่งเท่ากับจำเลยที่ 1 ยอมรับการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ปฏิบัติไปตามบันทึกข้อตกลงนั้นเป็นการกระทำในนามของจำเลยที่ 1ดังนั้นแม้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.2จะไม่มีการประทับตราของจำเลยที่ 1 ก็ตาม ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 2หุ้นส่วนผู้จัดการกระทำการแทนในนามของจำเลยที่ 1 บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ 1 ที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้รายนี้ให้แก่โจทก์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในหนี้ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมายจ.2 ต่อโจทก์เพราะจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในนามของจำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด ย่อมต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1077(2)ประกอบด้วยมาตรา 1087 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้รายนี้ให้แก่โจทก์…

อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้โจทก์ 319,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2คงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ โดยมิได้มีคำพิพากษาถึงจำเลยที่ 2 นั้น เป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีจำเลยทั้งสองไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share