แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าโจทก์เลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมขอให้จ่ายค่าเสียหาย ต่อมาจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เรียกค่าเสียหายโดยอ้างว่าการที่โจทก์เลิกจ้าง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและโจทก์จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยโจทก์ยอมจ่ายเงินแก่จำเลยที่ 1 จำนวนหนึ่ง ศาลพิพากษาตามยอมแล้ว หลังจากนั้นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 อีก ดังนี้ การที่โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจเรียกร้องจากโจทก์อีก ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างของโจทก์แล้ว ไม่สมควรให้โจทก์ต้องใช้ค่าเสียหายตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อีก ศาลย่อมพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เสีย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 ด้วยเหตุเกษียณอายุต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยที่ 2ถึงที่ 14 กล่าวหาว่าโจทก์เลิกจ้างไม่เป็นธรรมขอค่าเสียหายหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์ว่าโจทก์เลิกจ้างไม่เป็นธรรมเรียกค่าเสียหายอีก แต่คดีตกลงกันได้โดยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยโจทก์ยอมชำระเงินให้จำเลยที่ 1 จำนวนหนึ่ง ต่อมาโจทก์ได้รับคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่ 2 ถึงที่ 14ให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 30,000 บาทซึ่งเป็นการไม่ชอบเพราะไม่มีอำนาจวินิจฉัย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 14ดังกล่าวและให้จำเลยที่ 1 ถอนคำร้องที่ยื่นไว้ต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เคยฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางและได้ตกลงกับโจทก์จริง แต่จำเลยที่ 1 ยืนยันแล้วว่าจะไม่ถอนคำร้องที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โจทก์ตกลง คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 14ให้การว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมกับโจทก์ไม่ทำให้สิทธิที่จะได้รับค่าเสียหาย เนื่องจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามคำร้องที่ได้ยื่นไว้ต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ระงับไปเพราะเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายคนละฉบับทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้ระบุว่าจำเลยที่ 1 สละสิทธิไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า ประเด็นที่จำเลยที่ 1 นำไปร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางเป็นการกระทำครั้งเดียวกัน เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลแรงงานกลางโดยจำเลยที่ 1 ยอมรับค่าเสียหายจากโจทก์เป็นเงิน 5,000 บาท และศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอมแล้ว สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1ที่ได้ร้องไว้ต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ย่อมระงับไป คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 ที่สั่งให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 อีก จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นพิเคราะห์แล้ว ในปัญหาดังกล่าวข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างโจทก์ ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2529 ขณะมีอายุ 67 ปี โดยโจทก์อ้างว่าครบเกษียณอายุตามที่โจทก์มีประกาศระเบียบว่าด้วยเรื่องเกษียณอายุของลูกจ้างเมื่อครบ 60 ปีบริบูรณ์ และจำเลยที่ 1 ได้รับค่าชดเชยไปจากโจทก์แล้วเป็นเงิน 13,320 บาท ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2530 จำเลยที่ 1ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่า โจทก์กระทำการอันไม่เป็นธรรมเลิกจ้างจำเลยที่ 1 ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ ขอให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 53,280 บาทต่อมาเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2530 จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลแรงงานกลางกล่าวหาว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 โดยมิได้กระทำความผิด เพราะโจทก์ต้องการนำพนักงานอื่นเข้ามาทำงานแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 53,280 บาท และเงินโบนัส 6,660 บาท ต่อมาวันที่ 6มีนาคม 2530 โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยโจทก์ยอมจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 5,000 บาท และจำเลยที่ 1ไม่ติดใจเรียกร้องจากโจทก์อีก ศาลพิพากษาตามยอม ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 837/2530 ของศาลแรงงานกลาง ต่อมาคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 มีคำสั่งที่20/2530 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2530 ตามคำร้องของจำเลยที่ 1ดังกล่าวข้างต้นให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน31,000 บาท ตามคำสั่งเอกสารหมาย จ.2 โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ 20/2530 นั้นเสียข้อเท็จจริงได้ความดังกล่าวเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 ว่า โจทก์กระทำการอันไม่เป็นธรรม เลิกจ้างจำเลยที่ 1 ขอให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 53,280 บาท โดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 123 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลแรงงานกลาง กล่าวหาว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 โดยไม่เป็นธรรมเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 53,280 บาท และเงินโบนัส 6,660 บาทโดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 นั้น มีมูลฐานมาจากการที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 ในคราวเดียวกันนั้นเอง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ต่อศาลแรงงานกลางนั้น โจทก์และจำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยโจทก์ยอมจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1เป็นเงิน 5,000 บาท และจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจเรียกร้องจากโจทก์อีกศาลพิพากษาตามยอม ดังปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 837/2530ของศาลแรงงานกลาง ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างของโจทก์ในครั้งนี้แล้ว ศาลฎีกาจึงไม่เห็นสมควรให้โจทก์ต้องใช้ค่าเสียหายตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อีก เพราะจะเป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อน โดยอาศัยเหตุจากการเลิกจ้างของโจทก์ในคราวเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม อันมิใช่วัตถุประสงค์ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน”
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งที่ 20/2530 ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 นั้นเสีย