แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์คดีนี้กับคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลยในคดีหลังมีประเด็นซึ่งศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยที่ 1 เมื่อศาลชั้นต้นในคดีหลังได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดว่าที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นของจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 แม้ว่าโจทก์จะได้ฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนคดีแพ่งของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาชี้ขาดคดีแล้วกรณีก็ตกอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ที่พิพาทที่ดินแปลงดังกล่าวเดิมเป็นของนายสมพงษ์ก่อนที่นายสมพงษ์จะแบ่งขายให้โจทก์ จำเลยทั้งสามได้มาขอปลูกบ้านพักอาศัยชั่วคราว โดยตกลงว่าหากนายสมพงษ์จะใช้ประโยชน์ในที่ดิน จำเลยทั้งสามจะรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปทันที ต่อมาเดือนตุลาคม 2539 หลังจากนายสมพงษ์จดทะเบียนขายที่ดินให้โจทก์ โจทก์และนายสมพงษ์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินแต่จำเลยทั้งสามไม่ยินยอม ที่ดินพิพาทหากนำออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 บาท ขอให้พิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารออกจากที่ดินที่พิพาท ให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน ห้ามเกี่ยวข้องอีก กับให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายเดือนละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท แก่โจทก์ นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไป
จำเลยทั้งสามให้การและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นมารดาจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นหลานจำเลยที่ 1 ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินนายสมพงษ์เป็นเจ้าของ ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 1 ไร่ เป็นส่วนหนึ่งในที่ดินแปลงใหญ่ของจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2517 จำเลยที่ 1 กับนายสุคำสามีจำเลยที่ 1 ได้ซื้อที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ประมาณ 70 ไร่ จากนายสัมฤทธิ์แล้วจำเลยที่ 1 กับสามีเข้าครอบครองทำประโยชน์ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาปี 2529 สามีจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม ปี 2536 จำเลยที่ 1 บริจาคที่ดินเนื้อที่ประมาณ 35 ไร่ แก่ทางราชการ คงเหลือที่ดินประมาณ 41 ไร่ ซึ่งมีที่ดินพิพาทรวมอยู่ด้วยปี 2537 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินอีกบางส่วนเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ให้นายเส็งและเนื้อที่ 1 ไร่ ให้นายบุญมีเดือนตุลาคม 2539 นายเส็งได้บุกรุกเข้าไปไถที่ดินพิพาทโดยอ้างหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.)เลขที่ 449 ตำบลตาเกา กิ่งอำเภอน้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีชื่อนายสมพงษ์ เป็นเจ้าของ โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 449 แล้วแบ่งแยกออกมาเป็นที่ดินที่พิพาท การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ 1 ไร่ เป็นของจำเลยที่ 1 ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้อง กับให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ที่พิพาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนายสมพงษ์ ต่อมานายสมพงษ์ขายให้นายสวัสดิ์แล้วนายสวัสดิ์ขายให้โจทก์ จำเลยที่ 1 อ้างต่อทางราชการว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 449 เป็นของตน แล้วลักลอบบริจาคให้ทางราชการกับหลอกขายให้บุคคลอื่น โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยจดทะเทียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และชำระราคาแก่ผู้ขายโดยสุจริตถูกต้องตามระเบียบ การออกเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดินพิพาทและนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย และโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งว่า หลังจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้แล้วคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์กับพวกถูกจำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2257 ตำบลตาเกา อำเภอน้ำยืน (กิ่งอำเภอน้ำขุ่น) จังหวัดอุบลราชธานี และพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ห้ามโจทก์กับพวกเข้าเกี่ยวข้องที่ดินพิพาทในคดีดังกล่าว และที่ดินพิพาทในคดีนี้เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีดังกล่าวให้การต่อสู้โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกับข้ออ้างตามคำบรรยายฟ้องและคำให้การแก้ฟ้องแย้งของตนในคดีนี้ ต่อมาคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ปรากฏตามคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 192/2540 คดีหมายเลขแดงที่ 1494/2545 ของศาลชั้นต้น เห็นว่า ฟ้องโจทก์ในคดีนี้กับคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลยในคดีหลังมีประเด็นซึ่งศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยที่ 1 เมื่อศาลชั้นต้นในคดีหลังได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดว่าที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นของจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 แม้ว่าโจทก์จะได้ฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1494/2545 ของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาชี้ขาดคดีแล้ว กรณีก็ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน ศาลจึงไม่อาจหยิบยกพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบขึ้นวินิจฉัยได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน