คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2273/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 119 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่บุคคลซึ่งถูกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทวงหนี้จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายชื่อของตนออกจากบัญชีลูกหนี้ของลูกหนี้ได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นได้มีหนังสือปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องสอบสวนแล้วมีหนังสือแจ้งยืนยันจำนวนหนี้ไปยังบุคคลนั้นอีกครั้งก่อนด้วย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าภายหลังจากผู้ร้องมีหนังสือปฏิเสธตามหนังสือทวงหนี้ของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านมิได้มีหนังสือแจ้งยืนยันหนี้ไปยังผู้ร้องเนื่องจากผู้คัดค้านได้นำสิทธิเรียกร้องที่ลูกหนี้มีต่อผู้ร้องออกประมูลขายโดยวิธีอื่นไปแล้วตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ตามมาตรา 123 ผู้ร้องจึงยังไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้ของลูกหนี้ได้
ที่ผู้ร้องฎีกาขอให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามขั้นตอนใน พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 119 และขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านที่ทวงถามหนี้มายังผู้ร้องนั้น ล้วนเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 28

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2543 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต จำกัด (มหชน) ลูกหนี้เด็ดขาด ต่อมาวันที่ 21 พฤศจิกายน 2544 ผู้คัดค้านมีหนังสือทวงหนี้ถึงผู้ร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อผู้ร้องมีหนังสือปฏิเสธหนี้ต่อผู้คัดค้านแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 119 วรรคสอง ผู้คัดค้านมีหน้าที่ต้องดำเนินการสอบสวนและทำความเห็นว่าผู้ร้องเป็นหนี้ลูกหนี้หรือไม่ แต่ผู้คัดค้านยังมิได้ทำความเห็นยืนยันว่าผู้ร้องเป็นหนี้ลูกหนี้เลย กลับนำเอาสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ดังกล่าวไปขายให้แก่บุคคลภายนอกโดยผู้ร้องมิได้รู้เห็นแต่อย่างใด การกระทำของผู้คัดค้านดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ขอให้มีคำสั่งจำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้ของลูกหนี้ และให้เพิกถอนสัญญาขายสิทธิเรียกร้องฉบับลงวันที่ 14 กันยายน 2546
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่มีต่อผู้ร้องตามหนังสือทวงหนี้ของผู้คัดค้านเป็นสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่าซื้อขายหลักทรัพย์ เมื่อผู้ร้องมีหนังสือปฏิเสธหนี้ตามหนังสือทวงหนี้ของผู้คัดค้านดังกล่าว แต่ผู้คัดค้านยังมิได้มีหนังสือแจ้งยืนยันหนี้ดังกล่าวไปยังผู้ร้องเนื่องจากวันที่ 24 กรกฎาคม 2546 ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติให้นำสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้รวมทั้งสิทธิเรียกร้องที่ลูกหนี้มีต่อผู้ร้องออกประมูลขายโดยวิธีอื่นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 123 เพื่อรวบรวมเงินเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ ต่อมาผู้คัดค้านได้นำสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ออกประมูลขาย และบริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประมูลซื้อสิทธิเรียกร้องที่ลูกหนี้มีต่อผู้ร้องดังกล่าวได้ ผู้คัดค้านจึงทำสัญญาขายสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่มีต่อผู้ร้องให้แก่บริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาขายสิทธิเรียกร้องฉบับลงวันที่ 14 กันยายน 2546
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องข้อแรกมีว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้ของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 119 ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 119 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่บุคคลซึ่งถูกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทวงหนี้จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายชื่อของตนออกจากบัญชีลูกหนี้ของลูกหนี้ได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นได้มีหนังสือปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องสอบสวนแล้วมีหนังสือแจ้งยืนยันจำนวนหนี้ไปยังบุคคลนั้นอีกครั้งหนึ่งก่อนด้วย หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมิได้มีหนังสือแจ้งยืนยันจำนวนหนี้แล้ว สิทธิที่จะร้องขอต่อศาลจึงยังไม่อาจกระทำได้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้คัดค้านยังมิได้มีหนังสือแจ้งความเห็นยืนยันจำนวนหนี้ไปยังผู้ร้องแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงยังไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้ของลูกหนี้ได้ ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
ที่ผู้ร้องฎีกาขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามขั้นตอนในมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 และขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ทวงถามหนี้มายังผู้ร้องนั้นล้วนเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share