แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 โดยวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยรู้หรือสมคบกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด และคดีส่วนอาญาของจำเลยที่ 2 ถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้จึงไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่จะต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีอาญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 492/2541 ของศาลชั้นต้น ซึ่งบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 440,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2543 จำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 45492 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นน้องภริยาของจำเลยที่ 1 ในราคาต่ำกว่าราคาท้องตลาดโดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตไม่รู้ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ต้องเสียเปรียบ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 45492 พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 492/2541 ของศาลชั้นต้น ซึ่งบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ 440,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คดีดังกล่าวถึงที่สุด โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตั้งแต่ปี 2543 วันที่ 7 มิถุนายน 2543 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่ากับนางสุมาลีซึ่งเป็นพี่สาวของจำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 4 ธันวาคม 2543 จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 45492 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย แล้วโอนขายให้จำเลยที่ 2 ในวันเดียวกัน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า การโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยทั้งสองได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์ และนายสุขุมเป็นพยานเบิกความสอดคล้องกันว่าเดิมโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ก่อนวันนัดไต่สวนมูลฟ้องประมาณ 2 ถึง 3 สัปดาห์ โจทก์และจำเลยทั้งสองได้ไปเจรจากันที่สำนักงานทนายความของนายสุขุม จำเลยที่ 2 บอกโจทก์และนายสุขุมว่า จำเลยที่ 1 เคยนำบ้านและที่ดินของบิดามารดาจำเลยที่ 2 ไปจำนองเพื่อนำเงินมาต่อสู้ในคดีกู้ยืมที่ถูกโจทก์ฟ้องแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ไถ่ถอนจำนอง จำเลยที่ 2 จึงต้องชำระหนี้แทน และจำเลยที่ 2 เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กับนางสุมาลีเคยนำที่ดินของบิดามารดาจำเลยที่ 2 ไปจำนอง และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของโจทก์และนายสุขุม เห็นว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องที่จำเลยที่ 1 นำบ้านและที่ดินของบิดามารดาจำเลยที่ 2 ไปจำนองและจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองนั้น เป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะ และเกี่ยวกับที่มาของมูลหนี้ระหว่างจำเลยทั้งสองอันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จึงเชื่อว่าโจทก์และนายสุขุมเบิกความไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ยินได้ฟังมาจากจำเลยที่ 2 และจากคำพูดของจำเลยที่ 2 นั้นเอง บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์และถูกโจทก์ฟ้องบังคับชำระหนี้ โดยโจทก์เบิกความยืนยันว่าในวันที่มีการเจรจากันนั้น โจทก์และนายสุขุมได้ยินจำเลยที่ 2 พูดว่าการโอนที่ดินพิพาท จำเลยที่ 2 รู้ว่ายังมีหนี้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์อยู่ ซึ่งในข้อนี้นายสุขุมเบิกความสนับสนุนว่า จากการสอบถามจำเลยที่ 2 น่าจะรู้ว่าจำเลยที่ 1 ยังมีหนี้สิ้นค้างชำระอยู่กับโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ และโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้นเพื่อบังคับชำระหนี้ การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 45492 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์และปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีที่ดินดังกล่าวเพียงแปลงเดียวจำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวย่อมเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 2 ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับโอนโดยสุจริตนั้น จำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อต่อไปที่ว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 โดยวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยรู้หรือสมคบกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดและคดีส่วนอาญาของจำเลยที่ 2 ถึงที่สุดแล้ว ในการพิพากษาคดีนี้ซึ่งเป็นคดีส่วนแพ่ง ศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญาว่าจำเลยที่ 2 ไม่รู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์และไม่รู้ว่าการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้จึงไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่จะต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีอาญา ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้คู่ความไม่ได้อุทธรณ์โต้เถียงคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”
พิพากษายืน