คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 59/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ไม่ได้นำสายลับมาเบิกความ ไม่ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ และการที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้ให้สายลับนำเงินไปล่อซื้อยาเสพติดให้โทษจากจำเลย การกระทำดังกล่าวมิได้ฝ่าฝืนกฎหมาย มิได้ผิดศีลธรรมหรือทำนองคลองธรรม มิได้เป็นการใส่ร้ายป้ายสีหรือยัดเยียดความผิดให้จำเลย หากจำเลยมิได้มียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อสายลับไปขอซื้อยาเสพติดให้โทษจากจำเลย จำเลยย่อมไม่มียาเสพติดให้โทษจะจำหน่ายให้แก่สายลับความผิดย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยไม่เป็นการแสวงหาหลักฐานโดยมิชอบ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมรับฟังลงโทษจำเลยได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226
จำเลยรับเงินจากสายลับแล้วจำเลยไปหยิบฝิ่นมา แต่ยังไม่ทันได้ส่งมอบฝิ่นให้แก่สายลับ เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับจำเลยเสียก่อนจำเลยจึงยังไม่มีความผิดฐานจำหน่ายฝิ่น คงมีความผิดฐานพยายามจำหน่ายฝิ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 2 เม็ด น้ำหนัก 0.17 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อขายและมีฝิ่นซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 จำนวน9 ห่อ น้ำหนัก 11.10 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยได้ขายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2 เม็ด และจำหน่ายฝิ่นจำนวน9 ห่อดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อในราคา 1,000 บาท โดยไม่ได้รับอนุญาตขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 62, 89, 106, 116 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 17, 69, 102, 103ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบฝิ่นของกลาง และคืนเงินจำนวน1,000 บาท ที่ใช้ล่อซื้อ

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง,106 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคหนึ่ง วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายฝิ่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง,69 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี ริบฝิ่นของกลาง และคืนเงินจำนวน1,000 บาท ที่ใช้ล่อซื้อข้อหาอื่นให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 69 วรรคสามจำคุก 3 ปี เมื่อรวมกับความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทแล้วเป็นจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30ธันวาคม 2538 เวลาประมาณ 13 นาฬิกา พันตำรวจโทสมนึก โพธิ์แสงนายดาบตำรวจอนุวัตร กุญชรเพชร และจ่าสิบตำรวจสงกรานต์ วิจิตปัญญากับพวกไปที่กระท่อมนาของจำเลย แล้วจับจำเลยไปสถานีตำรวจโดยอ้างว่ายึดได้ฝิ่น 9 ห่อ น้ำหนัก 11.10 กรัม และเมทแอมเฟตามีน 2 เม็ด น้ำหนัก0.17 กรัม พร้อมด้วยธนบัตรฉบับละ 100 บาท 10 ฉบับ ซึ่งให้สายลับนำมาใช้ล่อซื้อยาเสพติดให้โทษจากจำเลย ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำผิดฐานมีฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายฝิ่นโดยไม่ได้รับอนุญาต กับฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีเจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับกุมจำเลยมาเบิกความเป็นพยาน 3 ปาก คือ พันตำรวจโทสมนึกโพธิ์แสง นายดาบตำรวจอนุวัตร กุญชรเพชร และจ่าสิบตำรวจสงกรานต์วิจิตปัญญา พยานทั้งสามเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า เหตุที่ไปจับจำเลยเนื่องจากในวันดังกล่าวเวลาก่อนเที่ยงวันมีสายลับแจ้งพันตำรวจโทสมนึกว่ามีการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษที่บ้านจำเลย พันตำรวจโทสมนึกจึงวางแผนจับกุมโดยนำธนบัตรฉบับละ 100 บาท 10 ฉบับ มาทำตำหนิและถ่ายสำเนากับลงรายงานประจำวันไว้แล้วมอบธนบัตรดังกล่าวให้สายลับนำไปใช้ล่อซื้อยาเสพติดให้โทษที่บ้านจำเลย ต่อมาเวลาประมาณ 13 นาฬิกา พยานทั้งสามกับพวกไปซุ่มรออยู่ห่างบ้านจำเลยประมาณ 20 ถึง 30 เมตร หลังจากนั้นสายลับกลับมาแจ้งว่าจำเลยกำลังรับประทานอาหาร ของที่จะซื้ออยู่ที่กระท่อมนาห่างบ้านจำเลยประมาณ 500 เมตร แล้วสายลับขับรถจักรยานยนต์ไปรอจำเลยที่กระท่อมนา พยานทั้งสามกับพวกจึงขับรถจักรยานยนต์ไปซุ่มรออยู่หลังเล้าไก่ที่ด้านข้างกระท่อมนาและด้านหลังกระท่อมนา ซุ่มรออยู่ประมาณ 10 นาทีจำเลยก็ขี่รถจักรยานมา จำเลยพูดกับสายลับตรงบันไดกระท่อมนา สายลับส่งเงินให้จำเลย จำเลยรับเงินแล้วเดินทะลุใต้ถุนบ้านตรงไปที่ข้างเล้าไก่ และหยิบของบริเวณกอหญ้าห่างจากเล้าไก่ประมาณ 3 ถึง 4 เมตร พยานทั้งสามกับพวกจึงแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้น พบว่าจำเลยถือถุงพลาสติกอยู่ 1 ถุงในถุงพลาสติกมีฝิ่น 9 ห่อ และเมทแอมเฟตามีน 2 เม็ด และจำเลยถือธนบัตรฉบับละ 100 บาท ทั้ง 10 ฉบับ ที่ให้สายลับนำไปใช้ล่อซื้อยาเสพติดให้โทษอยู่ในมือด้วย แม้จำเลยจะอ้างว่านายดาบตำรวจอนุวัตรโกรธเคืองจำเลยที่ไม่ให้ไม้แก่นายดาบตำรวจอนุวัตร แต่นายดาบตำรวจอนุวัตรปฏิเสธว่าไม่เคยขอไม้จำเลยไม่ได้มีเรื่องโกรธเคืองกับจำเลย ข้ออ้างของจำเลยจึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งผู้ที่ทราบเรื่องจากสายลับวางแผนจับกุมและนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับจำเลยคือ พันตำรวจโทสมนึกไม่ใช่นายดาบตำรวจอนุวัตร พันตำรวจโทสมนึกไม่ได้มีเรื่องโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งปรักปรำจำเลย นอกจากนี้ปรากฏตามสำเนารายงานประจำวันธุรการว่า เมื่อเวลา 12.10 นาฬิกา ก่อนไปจับจำเลยประมาณ 1 ชั่วโมง ได้มีการลงบันทึกเรื่องและหมายเลขธนบัตรที่พันตำรวจโทสมนึกมอบให้สายลับนำไปใช้ล่อซื้อยาเสพติดให้โทษไว้ และตามบันทึกจับกุมมีรายละเอียดตรงกับคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสาม โดยจำเลยได้ลงลายมือชื่อรับรองว่าจำเลยให้การรับสารภาพ ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นการลงลายมือชื่อโดยความสมัครใจของจำเลยเอง มิได้เกิดจากการถูกจับมือเขียนตามข้ออ้างของจำเลย ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่ได้นำสายลับมาเบิกความจึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะจำหน่ายยาเสพติดให้โทษแก่สายลับนั้น เห็นว่าโจทก์มีพันตำรวจโทสมนึก นายดาบตำรวจอนุวัตร และจ่าสิบตำรวจสงกรานต์ผู้เห็นเหตุการณ์ขณะสายลับส่งเงินให้จำเลยมาเบิกความเป็นพยานประกอบกับคำรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลย พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักฟังได้ว่า จำเลยรับเงินจากสายลับแล้วไปเอาถุงพลาสติกใส่เมทแอมเฟตามีนและฝิ่นของกลางมาเพื่อจะมอบให้สายลับ แต่ถูกพันตำรวจโทสมนึกกับพวกจับเสียก่อน การที่โจทก์ไม่ได้นำสายลับมาเบิกความไม่ได้ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ และที่จำเลยอ้างว่าการที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้ให้สายลับนำเงินไปล่อซื้อยาเสพติดให้โทษจากจำเลยเป็นการแสวงหาหลักฐานโดยมิชอบ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้นั้น เห็นว่า การกระทำดังกล่าวมิได้ฝ่าฝืนกฎหมายมิได้ผิดศีลธรรมหรือทำนองคลองธรรม มิได้เป็นการใส่ร้ายป้ายสีหรือยัดเยียดความผิดให้จำเลย หากจำเลยมิได้มียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อสายลับไปขอซื้อยาเสพติดให้โทษจากจำเลยจำเลยย่อมไม่มียาเสพติดให้โทษจะจำหน่ายให้แก่สายลับ ความผิดย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่เป็นการแสวงหาหลักฐานโดยมิชอบไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนรับฟังลงโทษจำเลยได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226

แต่สำหรับความผิดฐานจำหน่ายฝิ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยรับเงินจากสายลับ แล้วจำเลยไปหยิบฝิ่นมาแต่ยังไม่ทันได้ส่งมอบฝิ่นให้แก่สายลับ เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับจำเลยเสียก่อน จำเลยจึงยังไม่มีความผิดฐานจำหน่ายฝิ่น คงมีความผิดฐานพยายามจำหน่ายฝิ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานจำหน่ายฝิ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ถูกต้อง แม้ปัญหานี้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามจำหน่ายฝิ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 69 วรรคสอง และวรรคสาม ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80 การกระทำของจำเลยฐานพยายามจำหน่ายฝิ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตกับฐานมีฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 69 วรรคสองและวรรคสามอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 3 ปี คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต 8 เดือน และฐานมีฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต 2 ปี รวมจำคุก 2 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share