คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1887/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีลูกหนี้ของธนาคารทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีให้ไว้แก่ธนาคารในวงเงินที่กำหนดไว้และมีระยะเวลา 2 เดือน นับแต่วันทำสัญญา ส่วนจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีไปนั้น กำหนดให้ถือตามบัญชีกระแสรายวันของธนาคารแล้วมีผู้ค้ำประกันเข้าทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวนั้นจนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง ดังนี้ คำว่า “เบิกเงินเกินบัญชี” ย่อมหมายความเป็นการเบิกเงินเกินจากบัญชีเงินฝากของลูกหนี้ที่เป็นลูกหนี้ธนาคารอยู่ทั้งหมด การเข้าค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีของลูกหนี้ จึงเป็นการค้ำประกันหนี้ที่มีอยู่และหนี้ในอนาคตในวงเงินที่ค้ำประกันในระยะ 2 เดือนนั้นด้วย
แม้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจะมีข้อความว่า ถ้าผู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ส่งดอกเบี้ย (ในอัตราร้อยละ 8ต่อปี) ผู้เบิกเงินเกินบัญชียอมให้ดอกเบี้ยที่ค้างชำระนับทบเข้ากับจำนวนเงินเบิกเกินบัญชีทันทีที่ค้างชำระเป็นคราวๆ ไปก็ดี แต่ข้อสัญญานี้เป็นข้อตกลงในการเบิกเงินเกินบัญชีจะนำไปใช้ในกรณีที่มีการผิดนัดไม่ชำระหนี้มาได้ไม่ การที่ธนาคารโจทก์เจ้าหนี้ขอให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีของลูกหนี้รับผิดใช้ดอกเบี้ยทบต้นต่อไปนับแต่วันฟ้องนั้น เป็นการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคสองห้ามไว้
กรณีลูกหนี้ของธนาคารตายลง แล้วผู้เป็นทายาทได้ทำหนังสือรับสารภาพหนี้ให้ธนาคารเจ้าหนี้ไว้ อายุความเรียกร้องขอธนาคารเจ้าหนี้อันมีต่อลูกหนี้เจ้ามรดกก็ได้เปลี่ยนมาเป็นอายุความเรียกร้องอันมีต่อทายาทผู้รับสารภาพหนี้นั้น อายุความตามมาตรา 1754 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่มิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่ความตายของเจ้ามรดกจึงสะดุดหยุดลง อายุความสำหรับสิทธิเรียกร้องของธนาคารเจ้าหนี้จึงต้องตั้งต้นนับใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้
การที่ลูกหนี้ของธนาคารนำเงินเข้าบัญชีและถอนออกไปในระยะเวลาที่ยังมีการเบิกเงินเกินบัญชีอยู่ หาเป็นการชำระหนี้เงินเบิกเกินบัญชีต่อธนาคารไม่
ข้อสัญญาค้ำประกันที่ว่า เมื่อลูกหนี้ตาย ผู้ค้ำประกันยอมเข้าเป็นลูกหนี้ร่วม ย่อมมีความหมายว่าผู้ค้ำประกันยอมเข้าเป็นลูกหนี้ร่วมในหนี้ของลูกหนี้ซึ่งจะตกทอดไปยังทายาทของลูกหนี้นั้นตามกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าทายาทของลูกหนี้ได้ทำหนังสือรับสารภาพหนี้ให้เจ้าหนี้ไว้ก่อนที่อายุความ 1 ปีได้สิ้นสุดลง ผู้ค้ำประกันก็ย่อมเป็นลูกหนี้ร่วมกับทายาทนั้นต่อไปตามจำนวนหนี้ที่ค้ำประกันไว้ และใช้อายุความตามมูลหนี้นั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2496 หลวงชำนาญยุทธศิลป์เปิดบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 4713 ต่อโจทก์ โดยฝากเงินไว้ 10,000 บาท ต่อมาวันที่ 18 เดือนเดียวกัน หลวงชำนาญฯ ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ในวงเงิน 320,000 บาท มีกำหนดระยะเวลา 2 เดือน นับแต่วันทำสัญญา ส่วนจำนวนเงินเป็นหนี้ที่เบิกเกินบัญชีไปให้ถือตามบัญชีกระแสรายวันของโจทก์เลขที่ดังกล่าวข้างต้นโดยยอมให้ดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปี กำหนดส่งเป็นรายเดือนภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน หากไม่ส่งดอกเบี้ยตามอัตราและกำหนดดังกล่าว ก็ยอมให้ทบเข้ากับจำนวนเงินเบิกเกินบัญชีทันทีเป็นคราว ๆ ไป อันเป็นประเพณีของธนาคาร หลังจากนั้นหลวงชำนาญฯ ได้เบิกเงินจากโจทก์เป็นคราว ๆ จนกระทั่งยอดเงินเป็นหนี้โจทก์ทั้งต้นและดอกเบี้ยตามบัญชีกระแสรายวันเมื่อสิ้นวันที่ 19 สิงหาคม 2496 ขึ้นถึง622,770.67 บาท หลวงชำนาญฯ จึงทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีให้โจทก์อีกฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2496 ในวงเงิน 500,000 บาทมีข้อความเช่นเดียวกับสัญญาฉบับแรก

ในการทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่ 2 นี้ จำเลยที่ 2 ยอมเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของหลวงชำนาญฯ ตามที่ปรากฏในบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง ทั้งจำเลยที่ 2 ได้มอบโฉนดที่ 7125 พร้อมทั้งใบมอบฉันทะให้โจทก์ทำจำนองไว้ด้วย

หลังจากนั้นหลวงชำนาญฯ ได้เบิกเงินไปจากโจทก์อีกหลายคราวจนยอดเงินต้นและดอกตามบัญชีกระแสรายวันขึ้นถึง 949,189.52 บาทหลวงชำนาญฯ จึงทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีต่อโจทก์อีกฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2499 ในวงเงิน 850,000 บาท มีข้อความเช่นเดียวกับสัญญาฉบับก่อน สัญญาฉบับนี้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาและจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรหลวงชำนาญฯ ได้เข้าค้ำประกันการชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของหลวงชำนาญฯ ตามที่ปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันของโจทก์จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิงทั้งจำเลยที่ 1 ยังได้มอบโฉนดที่ 8533 ที่ 4000 และที่ 4409 พร้อมทั้งใบมอบอำนาจให้ทำนิติกรรมแก่โจทก์ไว้ด้วย

ครั้น พ.ศ. 2500 หลวงชำนาญฯ ถึงแก่กรรม จำเลยทั้ง 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันโดยได้ทำสัญญาให้ไว้ต่อโจทก์ไว้ก่อน แล้วว่าถ้าหลวงชำนาญฯ ถึงแก่กรรม จำเลยทั้ง 3 ยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้จำเลยทั้ง 3 จึงเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้รับมรดกของหลวงชำนาญฯ ตามสัญญา

จำเลยที่ 1 ผู้รับพินัยกรรมของหลวงชำนาญฯ ได้ทำหนังสือให้ไว้ต่อโจทก์เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2500 รับรองหนี้เบิกเงินเกินบัญชีปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันที่หลวงชำนาญฯ เป็นหนี้โจทก์จำนวน 904,140.42 บาท และยินยอมใช้หนี้ดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ยที่จะต้องเสียต่อไป จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในหนี้สินนี้อีกโสดหนึ่งต่างหากจากฐานะทายาทและผู้ค้ำประกัน

โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยทั้ง 3 ไม่ชำระดอกเบี้ยนั้นโจทก์ติดต่อมาจนถึงสิ้นวันที่ 28 ธันวาคม 2502 รวมยอดเงินทั้งสิ้นทั้งต้นและดอกเป็นเงิน 1,069,114.42 บาท ตามสำเนาบัญชีกระแสรายวันท้ายฟ้อง ขอให้ศาลบังคับจำเลยร่วมกันใช้เงินจำนวนดังกล่าวและดอกเบี้ยเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 8 ต่อปี โดยคิดทบต้นทุกเดือนตามสัญญา นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จ

จำเลยทั้ง 3 ให้การต่อสู้คดีหลายประการ และฟ้องแย้งขอให้คืนโฉนด

ศาลชั้นต้นจดข้อแถลงรับกันแล้วสั่งงดสืบพยาน พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมและผู้จัดการมรดกของหลวงชำนาญฯลูกหนี้เอามรดกใช้หนี้โจทก์ 1,064,114 บาท 42 สตางค์ กับดอกเบี้ยร้อยละ 8 คิดทบต้นทุกเดือนตามประเพณีธนาคารที่ระบุไว้ในสัญญานับแต่วันฟ้องต่อไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้ง 3 คนในในฐานะส่วนตัวร่วมกันใช้ด้วยตามจำนวนต่อไปนี้ คือ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมใช้ 850,000 บาท และให้จำเลยที่ 2 ร่วมใช้เพียง 500,000 บาท เท่าที่จำเลยได้ค้ำประกันไว้กับให้ร่วมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องร่วมรับผิดนั้นในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในฐานะผิดนัดนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

จำเลยทั้ง 3 คนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ให้จำเลยที่ 2ใช้เงิน 231,623 บาท 40 สตางค์แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ในฐานะค้ำประกัน ให้โจทก์คืนโฉนด 3 แปลงที่เป็นของจำเลยที่ 3 ให้แก่จำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยทั้ง 3 ฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาฟังว่า เดิมหลวงชำนาญฯ ได้ฝากเงินไว้ต่อโจทก์เป็นเงิน 10,000 บาท โดยเปิดบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 4713 ต่อโจทก์แล้วได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 300,000 บาท จากนั้นหลวงชำนาญฯ ได้เบิกเงินจากโจทก์เป็นคราว ๆ จนยอดเงินเป็นหนี้โจทก์ขึ้นถึง 672,770.67 บาท หลวงชำนาญฯ จึงได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีให้แก่โจทก์อีกฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2496 ในวงเงิน 500,000 บาท มีกำหนดระยะเวลา 2 เดือน นับจากวันทำสัญญา ส่วนจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีไปนั้น ให้ถือตามบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ แล้วในวันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชีให้โจทก์ไว้ ความว่า เนื่องในการที่ธนาคารได้ยอมให้หลวงชำนาญฯ เบิกเงินจากธนาคารตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีลงวันที่ 25 สิงหาคม 2596 เป็นเงิน 500,000 บาทนั้น ผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่กล่าวแล้วจนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิงดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าคำว่า เบิกเงินเกินบัญชีนี้ ย่อมหมายความเป็นการเบิกเงินเกินจากบัญชีฝากของหลวงชำนาญฯ ที่เป็นลูกหนี้ธนาคารอยู่ทั้งหมด จะตีความว่าเป็นการที่จะเบิกเงินเกินจากบัญชีลูกหนี้ธนาคารที่หลวงชำนาญฯ มีอยู่ในวันทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีนั้นหาได้ไม่ โดยเหตุผลก็น่าจะเห็นได้ว่า เมื่อหลวงชำนาญฯ ได้เบิกเงินเกินบัญชีไปแล้ว และเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ถึง 622,720 บาทเศษโจทก์จะต้องทวงถามให้จัดการชำระหนี้ หลวงชำนาญฯ จึงได้ยอมทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีนั้นเพื่อขยายเวลาการชำระหนี้นั้นต่อไปอีกการที่จำเลยที่ 2 เข้าค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีของหลวงชำนาญฯ จึงเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมตนเข้าค้ำประกันหนี้ของหลวงชำนาญฯ ที่มีอยู่ต่อะนาคารไม่เกินวงเงิน 500,000 บาท กล่าวคือเป็นการค้ำประกันหนี้ที่มีอยู่และหนี้ในอนาคตในวงเงินนั้นในระยะเวลา2 เดือนนั้นด้วย ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า หนี้ที่หลวงชำนาญฯ มีอยู่ต่อโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รู้ จึงไม่มีผลค้ำประกันในหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนหรือภายหลังระยะเวลา 2 เดือนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะคำว่า เบิกเงินเกินบัญชีหาได้มีความหมายถึงการเบิกเงินเป็นคราว ๆ อย่างไรไม่ ศาลฎีกาจึงเห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้เข้าค้ำประกันหนี้ที่หลวงชำนาญฯ เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์ทั้งสิ้นแต่ไม่เกินวงเงิน 500,000 บาท

สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังว่า เมื่อยอดเงินเบิกเงินเกินบัญชีของหลวงชำนาญฯ ได้ขึ้นถึง 849,189.42 บาท หลวงชำนาญฯ จึงทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้กันโจทก์อีกฉบับหนึ่งลงวันที่19 เมษายน 2499 ในวงเงิน 850,000 บาท มีกำหนดระยะเวลา 2 เดือน นับจากวันทำสัญญา ส่วนจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีไปนั้นให้ถือตามบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่กล่าวนั้นศาลฎีกาเห็นว่า แม้ต่อจากนั้นหลวงชำนาญฯ ไม่ได้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์เลยก็ดี แต่ข้อความในสัญญาประกอบพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยอมเข้าผูกพันตนค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่หลวงชำนาญฯ มีอยู่ต่อโจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันของธนาคารจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันในวงเงิน 850,000 บาทตามสัญญาค้ำประกันนั้น

เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 3 ต้องรับผิดดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องคืนโฉนดแก่จำเลยตามฟ้องแย้งฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

ข้อที่โจทก์ฎีกามาด้วยว่า ที่ศาลแพ่งให้จำเลย (ในฐานะผู้ค้ำประกัน)ร่วมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องร่วมรับผิดนั้นในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ในฐานะผิดนัดนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จนั้น โจทก์เห็นว่า ศาลควรให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยทบต้นทุกเดือนไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจะมีข้อความว่า ถ้าผู้เบิกเงินเกินบัญชีไม่ส่งดอกเบี้ย (ในอัตราร้อยละแปดต่อปี) ผู้เบิกเงินเกินบัญชียอมให้ดอกเบี้ยที่ค้างชำระนั้นทบเข้ากับจำนวนเงินเบิกเกินบัญชีทันทีที่ค้างชำระเป็นคราว ๆ ไปก็ดีแต่ข้อสัญญานี้เป็นข้อตกลงในการเบิกเงินเกินบัญชี จะนำไปใช้ในกรณีที่มีการผิดนัดไม่ชำระหนี้หาได้ไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 624 ได้บัญญัติบังคับไว้ว่า หนี้เงินนั้นท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้นและในวรรคสองได้บัญญัติว่า ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด ฉะนั้น การที่โจทก์ฎีกาให้จำเลยรับผิดใช้ดอกเบี้ยทบต้นต่อไปนับแต่วันฟ้องนั้น จึงเป็นการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดซึ่งกฎหมายห้ามไว้

ข้อที่จำเลยยกอายุความขึ้นต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะนำคดีมาฟ้องเกินกว่า 1 ปีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อบุคคลใดตายมรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท จำเลยที่ 1 ผู้เป็นทายาทจึงตกเป็นลูกหนี้ที่โจทก์จะบังคับเอาตามสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่ต่อหลวงชำนาญฯ ผู้ตาย สำหรับทรัพย์สินที่ตกทอดแก่จำเลยที่ 1 โดยสิ้นเชิง ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสารภาพหนี้ให้โจทก์ไว้แล้วอายุความเรียกร้องของโจทก์อันมีต่อเจ้ามรดกก็ได้เปลี่ยนมาเป็นอายุความเรียกร้องอันมีต่อจำเลยที่ 1 อายุความตามมาตรา 1754 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่มิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่ความตายของเจ้ามรดกจึงสะดุดหยุดลง อายุความสำหรับสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงต้องตั้งต้นนับใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้คำว่ารับสารภาพหนี้ ก็มีความหมายบ่งชี้อยู่ชัดแล้วว่า เป็นการรับสภาพหนี้ตามมูลหนี้นั้น ๆ เมื่อมูลหนี้ในเรื่องนี้เป็นหนี้ที่ต่อขึ้นโดยการกู้เงิน อายุความบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีมูลหนี้จากการกู้เงินนั้นย่อมมีกำหนด 10 ปี หาอาจกับไปใช้อายุความ1 ปีสำหรับสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีอยู่แก่เจ้ามรดกได้ไม่ (อ้างฎีกาที่ 1896/2493 และฎีกาที่ 1618/2501)

ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า การที่หลวงชำนาญฯนำเงินเข้าบัญชีและถอนออกไปในระยะเวลาที่ยังมีการเบิกเงินเกินบัญชีกันอยู่ หาเป็นการชำระหนี้เงินเบิกเกินบัญชีต่อธนาคารอย่างใดไม่ (อ้างฎีกาที่ 1073/2506) จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมเมื่อหลวงชำนาญฯ ตายตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์ไว้เต็มจำนวน 500,000 บาท เพราะวันที่ 22 ตุลาคม 2496 อันเป็นวันก่อนครบกำหนดเวลา 2 เดือนที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้นั้นหลวงชำนาญฯ เป็นลูกหนี้โจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันโดยการเบิกเงินเกินบัญชีอยู่ถึง 886,340.69 บาท

ข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ข้อสัญญาค้ำประกันที่ว่า เมื่อหลวงชำนาญฯ ตาย จำเลยที่ 2 ยอมเข้าเป็นลูกหนี้ร่วม ไม่เป็นผลบังคับได้ เพราะไม่มีตัวหลวงชำนาญฯ ศาลฎีกาเห็นว่าข้อความในสัญญาเช่นนั้นย่อมมีความหมายว่าจำเลยที่ 2 ยอมเข้าเป็นลูกหนี้ร่วมในหนี้ของหลวงชำนาญฯ ซึ่งจะต้องตกทอดไปยังทายาทของหลวงชำนาญฯ ตามกฎหมายนั่นเอง

ข้อที่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า คดีต้องใช้อายุความมรดก 1 ปีนั้นศาลฎีกาเห็นว่าคดีปรากฏว่าทายาทของหลวงชำนาญ ผู้เข้าเป็นลูกหนี้แทนที่หลวงชำนาญฯ ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้ก่อนที่อายุความ 1 ปีได้สิ้นสุดลง จำเลยที่ 2 ซึ่งตกลงเป็นลูกหนี้ร่วมในหนี้ของหลวงชำนาญฯ ที่ตกทอดมานั้น ก็ย่อมเป็นลูกหนี้ร่วมกับทายาทนั้นต่อไปตามจำนวนหนี้ที่ค้ำประกันไว้ และหนี้เงินกู้ที่รับสภาพแล้วนั้น ก็ย่อมเป็นหนี้เงินกู้ต่อไป สิทธิเรียกร้องมีอายุความ10 ปี ดังได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share