แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเสนอราคารับเหมาก่อสร้าง และกำหนดเวลาให้โจทก์สนองรับในใบสืบราคาของโจทก์ ต่อมาได้ลดราคาลงอีกและขยายเวลาตอบสนองรับให้โจทก์ แม้โจทก์ตอบสนองรับก็ยังไม่มีสัญญาต่อกัน โจทก์จึงต้องแจ้งให้จำเลยไปทำสัญญากับโจทก์การที่จำเลยไม่ไปทำหนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับโจทก์จึงไม่เป็นเหตุให้โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 3,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2523 จำเลยได้เสนอราคารับจ้างเหมาก่อสร้างรั้วรอบบริเวณ ประตูและเสาธงของการไฟฟ้าอำเภอมุกดาหารจังหวัดนครพนม ต่อโจทก์เป็นเงิน 87,596 บาท และได้กำหนดระยะเวลาให้โจทก์ตอบสนองรับได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2523ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ต่อมาจำเลยยอมลดราคาลงอีก596 บาท คงเหลือ 87,000 บา ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3และจำเลยได้ขยายระยะเวลาให้โจทก์ตอบสนองรับได้จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2523 ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 โจทก์ได้สนองรับตกลงจ้างจำเลยก่อสร้างรั้วและประตูดังกล่าว ภายในกำหนดระยะเวลาที่จำเลยกำหนด ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.ล.1 (อยู่ในสำนวน) และจำเลยรับทราบแล้ว ต่อมาจำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2523 ขอยกเลิกการทำสัญญารับเหมาตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 และโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 3 กันยายน 2523 ยกเลิกสัญญาจ้างเหมาและสงวนสิทธิเรียกค่าเสียหายและมีหนังสือลงวันที่ 16 มกราคม 2524 ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 และ 7 ตามลำดับ
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 6,000 บาทตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า เมื่อจำเลยเสนอราคารับจ้างเหมาก่อสร้างในใบสืบราคาของโจทก์และโจทก์ตอบสนองรับแล้ว ถือได้ว่าสัญญาสืบราคาระหว่างโจทก์จำเลยเกิดขึ้นแล้ว เมื่อจำเลยไม่ยอมทำสัญญาและทำการก่อสร้าง จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาสืบราคาคือผิดคำมั่นสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยจึงต้องชำระค่าเสียหายตามฟ้องให้โจทก์ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าจำเลยได้เสนอราคารับเหมาก่อสร้างรั้วประตูและเสาธงต่อโจทก์และกำหนดเวลาก่อสร้างกับกำหนดเวลาให้โจทก์สนองรับในใบสืบราคาของโจทก์ (เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2) ก็เพื่อให้โจทก์พิจารณาว่าสมควรตกลงจ้างเหมาจำเลยหรือไม่เท่านั้น ต่อมาจำเลยก็ได้แจ้งเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบถึงการลดราคาลงอีกและขยายระยะเวลาตอบสนองรับให้โจทก์ จากนั้นโจทก์ตอบสนองรับตกลงว่าจ้างจำเลยรับเหมาก่อสร้างตามเอกสารหมายเลข จ.ล. 1 ซึ่งตามเอกสารหมาย จ.ล.1 มีข้อความว่า “ด่วนมาก แจ้ง ผจก. สหช่างอำเภอมุกดาหารโดยให้นายด่วน เจริญยศ ห้างหุ้นส่วนผู้จัดการถนนสมุทรศักดิ์ดารัตน์ อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม ไปทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างรั้วประตูรอบบริเวณและเสาธง กฟอ. มห. ที่ กฟฉ.1โดยนำหลักฐานดังต่อไปนี้ไปด้วยคือ ฯลฯ จึงแจ้งมาให้นายด่วนฯ เซ็นรับทราบและจัดทำสัญญาต่อไปโดยด่วน ฯลฯ” แสดงว่าแม้โจทก์จะตอบตกลงสนองรับตามราคาและเงื่อนไขที่จำเลยเสนอแล้วก็ตามก็ยังไม่มีสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์และจำเลย โจทก์จึงต้องแจ้งให้จำเลยไปทำสัญญาจ้างเหมากับโจทก์ต่อไป กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ” กรณีนี้จึงถือได้ว่าโจทก์จำเลยยังมิได้มีสัญญาใด ๆ ต่อกันไม่ว่าจะเป็นสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างหรือสัญญาสืบราคาดังที่โจทก์ฎีกา การที่จำเลยไม่ไปทำหนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับโจทก์จึงไม่เป็นเหตุให้โจทก์เรียกค่าเสียหายตามฟ้องจากจำเลยได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในผล”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ