แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ ป. ทนายความของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาและยื่นฎีกาแทนจำเลยที่ 2 ตามที่ระบุไว้ในใบแต่งทนายความ แต่เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ก่อนที่ทนายความของจำเลยที่ 2 จะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาฉบับลงวันที่ 26 เมษายน 2549 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์ต่อสู้คดีในชั้นศาลฎีกาและขอให้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้จำเลยที่ 2 ด้วย หลังจากนั้นทนายความของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลยที่ 2 อีกสองฉบับ และยื่นฎีกาของจำเลยที่ 2 ซึ่งขัดแย้งกับความประสงค์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งทนายความตามที่ระบุไว้ในคำร้องของจำเลยที่ 2 ฉบับดังกล่าว ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ทนายความของจำเลยที่ 2 ขยายระยะเวลายื่นฎีกาและสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 โดยไม่สอบถามจำเลยที่ 2 ก่อน จึงเป็นการไม่ชอบตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 223 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์ฎีกาและวันที่ครบกำหนดฎีกาวันที่ 21 พฤษภาคม 2549 เป็นวันอาทิตย์หยุดราชการ คดีของจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดในวันที่ 22 พฤษภาคม 2549 ซึ่งเป็นวันที่ระยะเวลาฎีกาได้สิ้นสุดลงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 83, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสองและวรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ลงโทษประหารชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คงจำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืน จำคุกกระทงละ 4 เดือน เมื่อจำเลยที่ 2 ต้องโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ริบกระดาษอัดปิดหน้ากระสุนปืน กระสุนปืนลูกซอง ขนาด 12 และปลอกกระสุนปืนของกลาง สำหรับอาวุธปืนลูกซองยาว และรถจักรยานยนต์ของกลางไม่ริบ และให้คืนแก่เจ้าของ คดีถึงที่สุดวันที่ 6 พฤษภาคม 2552
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 25 เมษายน 2549 โดยแสดงเจตนาชัดเจนว่าไม่ประสงค์จะต่อสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุด แม้ต่อมาทนายจำเลยที่ 2 ได้ยื่นฎีกาให้จำเลยที่ 2 ก็ตาม ทนายความเป็นเพียงตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการเท่านั้น คำร้องของจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 25 เมษายน 2549 ถือว่าเป็นการตัดอำนาจทนายความซึ่งเป็นตัวแทนแล้ว ต้องถือเจตนาของตัวการเป็นหลัก ความเห็นของเจ้าหน้าที่ศาลลงวันที่ 9 มิถุนายน 2552 จึงน่าจะคลาดเคลื่อนต่อหลักกฎหมาย ขอให้แก้ไขหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของจำเลยที่ 2 ให้ถูกต้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 2 ได้แต่งตั้งให้ทนายความมีอำนาจอุทธรณ์หรือฎีกาได้ แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 จะยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 25 เมษายน 2549 ว่า ไม่ประสงค์จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 และขอให้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด ซึ่งศาลได้มีคำสั่งดังกล่าวในวันที่ 2 พฤษภาคม 2549 ว่า เมื่อครบกำหนดที่อนุญาตให้ฎีกาในวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 แล้ว ให้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้จำเลยที่ 2 แต่ปรากฏว่าทนายความจำเลยที่ 2 ที่ได้แต่งตั้งไว้ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาในวันที่ 19 พฤษภาคม 2549 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ประสงค์จะให้ทนายความฎีกาคัดค้านคำพิพากษาให้ ซึ่งศาลได้สั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้ตามขอ ต่อมาทนายความจำเลยที่ 2 ได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาตามที่ได้รับแต่งตั้งไว้ในใบแต่งทนายความ ดังนี้ การฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของทนายความจำเลยที่ 2 จึงกระทำไปภายในอำนาจที่ได้รับแต่งตั้งจึงชอบแล้ว ทั้งในวันที่ศาลจังหวัดสีคิ้วอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟังแทนศาลชั้นต้น หากจำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์จะฎีกาตามคำร้องฉบับลงวันที่ 25 เมษายน 2549 ก็น่าจะโต้แย้งคัดค้านว่าตนไม่ได้มอบอำนาจให้ทนายความยื่นฎีกาให้ เพื่อให้ศาลจังหวัดสีคิ้วงดการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟัง และบันทึกข้อโต้แย้งไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา แต่ปรากฏว่าศาลจังหวัดสีคิ้วได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟังโดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งไว้ ดังนี้ จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับให้ทนายความฎีกาให้ตามที่ได้แต่งตั้งไว้ ฉะนั้น การออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลฎีกา จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2549 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยที่ 2 ฟัง วันที่ 25 เมษายน 2549 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์ต่อสู้คดีในชั้นศาลฎีกาขอให้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้จำเลยที่ 2 ด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เมื่อครบกำหนดที่ศาลสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้จำเลยที่ 2 แล้วจัดการให้ ต่อมาวันที่ 26 เมษายน 2549 ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกามีกำหนด 30 วัน และศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 ครั้นวันที่ 16 และ 19 พฤษภาคม 2549 กับวันที่ 22 มิถุนายน 2549 ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีก ศาลชั้นต้นอนุญาตถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2549 ในวันดังกล่าวทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า มีเหตุที่จะแก้ไขหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 223 บัญญัติว่า “ให้เป็นหน้าที่ศาลชั้นต้นตรวจฎีกาว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลฎีกาหรือไม่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าเห็นว่าไม่ควรรับ ให้จดเหตุผลไว้ในคำสั่งของศาลนั้นโดยชัดเจน” ดังนี้ แม้นายประพัฒน์ ทนายความของจำเลยที่ 2 จะมีอำนาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาและยื่นฎีกาแทนจำเลยที่ 2 ตามที่ระบุไว้ในใบแต่งทนายความดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยก็ตาม แต่เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ก่อนที่ทนายความของจำเลยที่ 2 จะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาฉบับลงวันที่ 26 เมษายน 2549 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์ต่อสู้คดีในชั้นศาลฎีกาและขอให้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้จำเลยที่ 2 ด้วย และหลังจากนั้นทนายความของจำเลยที่ 2 ก็ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลยที่ 2 อีกสองฉบับ และยื่นฎีกาของจำเลยที่ 2 ซึ่งขัดแย้งกับความประสงค์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งทนายความตามที่ระบุไว้ในคำร้องของจำเลยที่ 2 ฉบับดังกล่าว เช่นนี้ ศาลชั้นต้นต้องสอบถามจำเลยที่ 2 ก่อนว่าจำเลยที่ 2 ประสงค์จะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาหรือยื่นฎีกาตามที่ทนายความจำเลยที่ 2 ดำเนินการแทนจำเลยที่ 2 หรือไม่ก่อนที่จะสั่งอนุญาตให้ทนายความของจำเลยที่ 2 ขยายระยะเวลายื่นฎีกาหรือรับฎีกาของจำเลยที่ 2 การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ทนายความของจำเลยที่ 2 ขยายระยะเวลายื่นฎีกาและสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 โดยไม่สอบถามจำเลยที่ 2 ก่อน จึงเป็นการไม่ชอบตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์ฎีกาและวันที่ครบกำหนดฎีกาวันที่ 21 พฤษภาคม 2549 เป็นวันอาทิตย์หยุดราชการ คดีของจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดในวันที่ 22 พฤษภาคม 2549 ซึ่งเป็นวันที่ระยะเวลาฎีกาได้สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษายกคำร้องของจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า ให้แก้ไขหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของจำเลยที่ 2 โดยให้ระบุว่า คดีถึงที่สุดวันที่ 22 พฤษภาคม 2549 ให้เพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 2 และเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาและรับฎีกาจำเลยที่ 2 ของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่แล้วส่งคำพิพากษาศาลฎีกาและสำนวนให้ศาลฎีกาดำเนินการต่อไป