คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1881/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เรือยนต์ชนิดเพลาใบจักรที่ใช้บรรทุกสุกรที่มีชีวิตอันเป็นของที่ไม่ต้องเสียภาษีออกนอกราชอาณาจักร โดยมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง ซึ่งเป็นความผิดอย่างหนึ่งตามมาตรา 27แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรฯ นั้น ไม่ใช่ยานพาหนะที่ใช้ในการย้าย ถอน ซ่อนเร้น หรือขนของที่ยังมิได้เสียภาษี หรือที่ต้องจำกัดหรือต้องห้าม ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ว่าให้ริบเสียสิ้น จึงริบเรือยนต์พร้อมเครื่องจักรของกลางไม่ได้

สิ่งของที่นำเข้าหรือออกนอกราชอาณาจักร จะต้องเสียภาษีศุลกากรหรือไม่นั้น จะต้องกำหนดไว้ในกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่ศาลต้องรู้เอง
หน้าที่พิสูจน์ที่ตกอยู่แก่จำเลยตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรฯนั้น เป็นเรื่องการฟ้องร้องเกี่ยวด้วยของที่ยึด เพราะหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรหรือเป็นของที่พึงริบ หรือเพื่อเอาค่าปรับตามพระราชบัญญัตินี้ หากจำเลยมีข้อโต้เถียงว่าเสียภาษีศุลกากรถูกต้องแล้ว หรือนำเข้าหรือนำออกเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ต่างกับกรณีของจำเลยคดีนี้ที่ปฏิเสธว่ามิได้นำสุกรออกนอกราชอาณาจักร แต่เป็นการขนหรือบรรทุกในประเทศลาว ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกที่หลบหนี นำสุกรมีชีวิต 2 ตัวโดยพาหนะเรือยนต์เพลาใบจักรจากประเทศไทยออกไปยังประเทศลาวโดยจำเลยมิได้เสียภาษีและผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้อง และมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เจ้าพนักงานจับสุกรได้พร้อมด้วยเรือยนต์ที่ใช้เป็นพาหนะบรรทุก ขอให้ลงโทษและริบของกลางกับจ่ายสินบนและรางวัลตามกฎหมาย

จำเลยให้การปฏิเสธว่า นำเรือของกลางไปรับจ้างขนสุกรที่ประเทศลาวแล้วถูกเจ้าพนักงานตำรวจกับพวกปล้นและยิงจำเลยบาดเจ็บชิงเอาเรือและสุกรของกลางและทรัพย์อื่นของจำเลยมาประเทศไทย

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเชื่อว่า จำเลยนำสุกรมีชีวิต 2 ตัวบรรทุกเรือหางยาวออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่เสียภาษีศุลกากรพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 32 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 6, 16, 17 (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 ให้ปรับ 4 เท่าของราคาสุกรของกลางเป็นเงิน 5,200 บาท ริบของกลาง และจ่ายสินบนและรางวัลตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9

จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำผิด โจทก์มิได้นำสืบว่าสุกรมีชีวิตเป็นของต้องเสียภาษี หรือเป็นของต้องจำกัดหรือต้องห้าม หรือต้องรับอนุญาตสุกรมีชีวิตเป็นของที่ไม่ต้องเสียอากร จึงยังไม่เป็นผิดตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 สุกรและเรืออันเป็นพาหนะจึงริบไม่ได้

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และมีผู้พิพากษานายหนึ่งทำความเห็นแย้งว่า ควรพิพากษากลับยกฟ้องโจทก์ คืนของกลางให้จำเลย

จำเลยฎีกาในข้อกฎหมายว่า สุกรมีชีวิตของกลางเป็นของที่ไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรและไม่ปรากฏว่าเป็นของต้องห้าม จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 และจะนำมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรมาใช้บังคับในกรณีของจำเลยไม่ได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นที่ว่าการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ฯลฯ หรือไม่ เห็นว่าโดยข้อความในบทบัญญัติมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร ฯลฯได้แยกการกระทำที่เป็นความผิดไว้หลายอย่างหลายชนิดด้วยกัน มีทั้งของที่ต้องเสียภาษีแต่ยังมิได้เสียภาษี ของต้องจำกัด ของต้องห้ามแต่ละชนิดของการกระทำนั้นเป็นความผิดอยู่ในตัวไม่เกี่ยวข้องกันซึ่งศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2513 คดีอาญาระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ห้างหุ้นส่วนจำกัดปืนธนบุรี กับพวก จำเลยเรื่องความผิดเกี่ยวกับเอกสารและพระราชบัญญัติอาวุธปืนไว้แล้ว การกระทำของจำเลยคดีนี้ข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าจำเลยนำสุกรที่มีชีวิต 2 ตัวที่ไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรออกนอกราชอาณาจักรไทยไปยังประเทศลาว และไม่ได้ผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้อง จำเลยจึงไม่มีความผิดในเรื่องที่มิได้เสียภาษีศุลกากรแต่การที่จำเลยไม่นำสุกรที่มีชีวิต 2 ตัวผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้องอันเป็นความผิดอีกชนิดหนึ่งต่างหากจากความผิดที่ไม่เสียภาษีศุลกากร จำเลยจึงไม่พ้นผิด สุกรของกลางจึงต้องริบตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พุทธศักราช 2482 มาตรา 17

ส่วนเรือยนต์ชนิดเพลาใบจักร (เรือหางยาวพร้อมด้วยเครื่องยนต์)ของกลาง ที่ใช้บรรทุกสุกรมีชีวิต 2 ตัวนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ยานพาหนะที่จะริบได้นี้มาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 บัญญัติไว้ดังนี้ “เรือชนิดใด ๆ อันมีระวางบรรทุกไม่เกิน 250 ตัน ก็ดี รถ เกวียน ยานพาหนะ หีบ หรือภาชนะอื่นใดก็ดี หากใช้ในการย้าย ถอน ซ่อนเร้น หรือขนของที่ยังมิได้เสียภาษี หรือที่ต้องจำกัดหรือต้องห้าม ให้ริบเสียทั้งสิ้น” เป็นการบัญญัติถึงระวางบรรทุกของเรือ และลักษณะของการใช้ตามที่ระบุไว้เท่านั้น จึงจะริบได้ยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำอย่างอื่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว นอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 32 แล้วจะริบยานพาหนะนั้นมิได้ และการริบนี้ตามมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ถือเป็นโทษชนิดหนึ่ง เรือยนต์พร้อมเครื่องยนต์ที่จำเลยใช้กระทำผิดคดีนี้ เป็นความผิดเฉพาะที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเสียก่อนเท่านั้น จะถือว่าเป็นการใช้ในการ ย้าย ถอน ซ่อนเร้น หรือขนของที่ต้องจำกัด หรือต้องห้าม ก็ไม่ได้ เพราะมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้แยกไว้เป็นชนิด ๆ แต่ละชนิด เป็นความผิดในตัวอยู่แล้ว และการใช้เรือดังกล่าวก็มิได้เข้าลักษณะเช่นนั้น จึงริบเรือยนต์พร้อมเครื่องจักรของกลางไม่ได้ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบเรือยนต์พร้อมเครื่องจักรของกลางและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยความเห็นแย้งของศาลอุทธรณ์ที่ว่า สิ่งของใดที่นำเข้าหรือนำออกนอกราชอาณาจักร จะต้องเสียภาษีศุลกากรหรือไม่นั้น จะต้องกำหนดไว้ในกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่ศาลต้องรู้เองนอกจากนั้น มาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ก็เป็นเรื่องการฟ้องร้องเกี่ยวด้วยของที่ยึดเพราะหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรหรือเป็นของที่พึงริบหรือเพื่อเอาค่าปรับตามพระราชบัญญัตินี้ หากจำเลยจะมีข้อโต้แย้งว่าเสียภาษีศุลกากรถูกต้องแล้ว หรือการนำเข้าหรือนำออก เป็นการชอบด้วยกฎหมายอย่างไรแล้ว จำเลยจึงจะมีหน้าที่ต้องนำสืบ ต่างกับกรณีของจำเลยคดีนี้ ซึ่งให้การปฏิเสธมาแต่แรกว่ามิได้นำสุกรที่มีชีวิต 2 ตัว ออกนอกราชอาณาจักรไทย หากแต่เป็นการขนหรือบรรทุกอยู่ในประเทศลาว เป็นคนละเรื่องกันจะนำบทมาตราดังกล่าวมาให้เป็นหน้าที่จำเลยนำสืบพิสูจน์ไม่ได้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ไม่ริบเรือยนต์ชนิดเพลาใบจักรพร้อมเครื่องยนต์ (เรือหางยาวพร้อมเครื่องยนต์) ของกลางให้คืนเจ้าของไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

Share