แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ ศาลก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
ข้อบังคับของจำเลยกำหนดว่า สมาชิกจำเลยจะต้อง มีคุณสมบัติเป็นลูกจ้างประจำของบริษัท เนชั่นแนลไทย จำกัด หรือลูกจ้างประจำของบริษัทซึ่งทำกิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เมื่อขณะที่โจทก์ฟ้องได้ถูกนายจ้างเลิกจ้างแล้ว ในขณะยื่นฟ้องโจทก์จึงไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิกจำเลยได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่ามติของคณะกรรมการจำเลยที่ปลดโจทก์ออกจากสมาชิกจำเลยเป็นโมฆะ อันมีผลทำให้โจทก์กลับเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสมาชิกของจำเลย และได้รับเลือกเป็นกรรมการของจำเลย ต่อมาวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ โจทก์ลาออกจากกรรมการเพราะคณะกรรมการดำเนินการผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดตั้งสหภาพ จำเลยร่วมกับสมาชิกทำหนังสือให้คณะกรรมการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ แต่คณะกรรมการไม่เรียกประชุม โจทก์มีหนังสือถึงนายทะเบียน ต่อมาสำนักงานแรงงานจังหวัดมีหนังสือสั่งการให้คณะกรรมการจำเลยจัดประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๓๓ เมื่อถึงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๓๒ จำเลยปลดโจทก์ออกจากสมาชิกของจำเลยโดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดมติกรรมการที่ให้ปลดโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาว่ามติของคณะกรรมการที่ปลดโจทก์จากสมาชิกสหกรณ์เป็นโมฆะ
จำเลยให้การว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยหลายประการและได้ลาออกจากการเป็นกรรมกาบริหารของจำเลย ต่อมาโจทก์กล่าวโจมตีคณะกรรมการบริหารของจำเลยต่อสมาชิกทั่วไปยุยงปลุกปั่นสมาชิกของจำเลยให้ยื่นฟ้องจำเลยเพื่อยกเลิกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๒การกระทำของโจทก์เป็นการจงใจฝ่าฝืนมติคณะกรรมการบริหารและวัตถุประสงค์ตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารของจำเลยจึงลงมติปลดโจทก์ออกจากากรเป็นสมาชิกของจำเลย มติดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ตามข้อบังคับสหภาพแรงงานเนชั่นแนลไทย พุทธศักราช ๒๕๓๑ เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข ๓ ข้อ ๕ กำหนดไว้ว่า สมาชิกของสหภาพฯ ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
๑. เป็นลูกจ้างประจำของบริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัด หรือลูกจ้างประจำของบริษัทซึ่งทำกิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า
๒. มีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๗ ปีบริบูรณ์
๓. ต้องไม่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานอื่น
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่าโจทก์ถูกบริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัด ผู้เป็นนายจ้างเลิกจ้างเสียแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๓๓ ตามเอกสารหมาย จ.๑ ขณะนี้โจทก์ก็ยังไม่ได้ทำงานเป็นลูกจ้างของผู้ใด โจทก์ได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๓๓ ดังนั้นในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างประจำของบริษัทเนชั่นแนลไทยจำกัด หรือบริษัทอื่นที่ทำกิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในขณะยื่นฟ้องโจทก์จึงขาดคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานจำเลยได้ตามข้อบังคับเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข ๓ ข้อ ๕(๑)โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า มติของคณะกรรมการที่ปลดโจทก์ออกจากสมาชิกสหภาพแรงงานตกเป็นโมฆะ คำฟ้องของโจทก์ย่อมมีผลเป็นการขชชอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์กลับเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยอีก เพราะว่าถ้าศาลพิพากษาว่ามติของคณะกรรมการเป็นโมฆะโจทก์ย่อมมีสิทธิกลับสู่ฐานะเดิมคือเป็นสมาชิกของจำเลยต่อไปปัญหามีว่าโจทก์จะฟ้องเพิกถอนมติของจำเลยเพื่อกลับเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยอีกต่อไปได้หรือไม่ เป็นปัญหาอำนาจฟ้องซึ่งเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ยกเอาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติขึ้นต่อสู้ของโจทก์ศาลแรงงานกลางก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ศาลฎีกาเห็นว่าในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ โจทก์ไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิกของจำเลยได้แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่ามติที่ปลดโจทก์ออกจากสมาชิกเป็นโมฆะ เพราะโจทก์ไม่มีสิทธิกลับเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยอีกแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะเสียสิทธิต่าง ๆ ในระหว่างเวลาที่โจทก์ยังไม่ถูกเลิกจ้างคือวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๓๒ ถึงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๓๓นั้น เห็นว่า ถ้าโจทก์ได้รับความเสียหายจริง โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ถ้าโจทก์ฟ้องบริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัด และศาลพิพากษาให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิเป็นสมาชิกของจำเลยได้ทันทีนั้น ข้ออ้างดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ยังไม่เกิดขึ้นโจทก์จะกล่าวอ้างมาเป็นเหตุฟ้องคดีนี้หาได้ไม่ ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว
พิพากษายืน.