คำวินิจฉัยที่ 134/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้เอกชนยื่นฟ้อง กรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อธิบดีกรมที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้จัดการมรดกของนาย ป. เจ้ามรดก ผู้ฟ้องคดีได้ตรวจสอบทรัพย์มรดกพบว่าโฉนดที่ดินพิพาทมีรายการในสารบัญจดทะเบียนไม่ถูกต้อง เนื่องจากภายหลังแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้มีชื่อตามบันทึกข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๒๒ แล้ว ต่อมามีการจดทะเบียนให้แก่ผู้มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดซึ่งเป็นแปลงคงเหลือและทำเป็นถนน ตามบันทึกข้อตกลงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๒๓ อันเป็นการจดทะเบียนที่ไม่ถูกต้องตามเจตนาของเจ้ามรดก ซึ่งผู้มีชื่อทั้งสองคนได้กรรมสิทธิ์ที่ดินไปครบถ้วนแล้ว การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในส่วนของแปลงคงเหลือจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินตามกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพิกถอนนิติกรรมรายการในสารบัญจดทะเบียน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือแจ้งว่าการจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธ์รวมเป็นการจดทะเบียนโดยถูกต้องตามกฎหมาย และไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องดำเนินการตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยกอุทธรณ์ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประเภทแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดที่ดินพิพาท ซึ่งได้จดทะเบียนเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๒๓ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า การจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดพิพาทเป็นการจดทะเบียนไปตามเจตนาของเจ้ามรดกซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ขอให้ยกฟ้อง เมื่อพิจารณาคำฟ้อง คำให้การแล้ว ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีว่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดพิพาทเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๒๓ โดยให้แก่ผู้มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินพิพาทซึ่งเป็นแปลงคงเหลือร่วมกับเจ้ามรดกเป็นการจดทะเบียนโดยชอบด้วยเจตนาของเจ้ามรดก หรือไม่ โดยในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลต้องพิจารณาบันทึกข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ฉบับลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๒๒ และบันทึกการแก้ไขบันทึกข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ฉบับลงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๒๓ ระหว่างเจ้ามรดกเจ้าของกรรมสิทธิ์ และผู้มีชื่อทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ว่าการจดทะเบียนของพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ปรากฏในบันทึกข้อตกลงทั้งสองฉบับดังกล่าวหรือไม่ โดยมิได้มีปัญหาต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นการฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่ามีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประเภทแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดที่ดินพิพาทเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามเจตนารมณ์ของเจ้าของที่ดินหรือไม่ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

Share