แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 นั้น หาได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงมากหรือน้อยเป็นหลักไม่ แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ
เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยคดีโดยไม่มีพยานหลักฐานในสำนวนหรือขัดกับพยานหลักฐานในสำนวน ดังที่จำเลยฎีกา ฎีกาของจำเลยเป็นเรื่องจำเลยเห็นว่าควรเชื่อตามพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงส่วนฎีกาของจำเลยที่ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดอาญาเพราะจำเลยมิได้หลอกลวงผู้เสียหายก็เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันนำเอาความเท็จมากล่าวหลอกลวงผู้เสียหายว่า จำเลยเป็นหัวหน้าฝ่ายเครดิตการเงินและช่างใหญ่ในบริษัทบรอยสยามอินเตอร์เนชั่นแนล ไฟแนนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นสถาบันการเงินมีโครงการให้กู้เงินเพื่อการอุตสาหกรรมและอื่น ๆ หากผู้เสียหายเข้าเป็นสมาชิกโดยมอบเงิน 100,000 บาทให้แก่บริษัทของจำเลยแล้ว ภายในกำหนด 1 เดือนบริษัทของจำเลยจะพิจารณาให้ผู้เสียหายกู้เงินจำนวนไม่จำกัดเพื่อนำไปขยายโรงงานทำน้ำตาลทราย หากไม่ได้รับอนุมัติก็จะคืนเงินให้แก่ผู้เสียหาย โจทก์หลงเชื่อจึงมอบเงิน 100,000 บาทให้จำเลยกับพวกไป ความจริงจำเลยกับพวกตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อหลอกลวงผู้เสียหายและประชาชน ไม่มีเงินทุนจะให้กู้ไม่มีเจตนาจะให้เงินกู้หรือคืนเงินที่รับไว้แล้ว ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 83 และให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์100,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343, 83 ให้จำคุกคนละ 4 ปี ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์100,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้แล้วว่าโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นถึงการที่จำเลยหลอกลวงรายอื่นอีก ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองฉ้อโกงประชาชนจึงขัดต่อกฎหมาย เพราะเมื่อมีการหลอกลวงรายเดียวย่อมไม่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 นั้น หาได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงมากหรือน้อยเป็นหลักไม่ แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังว่าบริษัทบรอยสยาม-อินเตอร์เนชั่นแนล ไฟแนนซ์ จำกัด ดำเนินการด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อหลอกลวงประชาชน ได้พิมพ์ข้อความโฆษณาตามเอกสารหมาย จ.1ชักชวนให้ประชาชนสมัครเป็นสมาชิกเพื่อใช้สิทธิกู้เงิน โดยผู้สมัครต้องนำเงินมาฝากไว้แก่บริษัทตามจำนวนที่กำหนด เมื่อสมาชิกมาสมัครและขอกู้เงินบริษัทไม่เคยให้กู้ ทั้งเงินที่สมาชิกฝากไว้ก็ไม่คืน กลับปิดสำนักงานและเลิกกิจการจำเลยทั้งสองทราบความข้อนี้มาแต่แรกได้ร่วมกันฉ้อโกงผู้เสียหาย โดยนำเอกสารหมาย จ.1 ไปใช้ในการชักจูงใจผู้เสียหาย จนผู้เสียหายหลงเชื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกและชำระเงินให้บริษัท และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยต่อไปว่า แม้โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นถึงการที่จำเลยหลอกลวงรายอื่นอีก ก็ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนแล้ว ดังนี้ เห็นได้ว่าศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนทั่วไป มิใช่จำกัดเฉพาะผู้เสียหาย จึงหาขัดต่อกฎหมายไม่ประการที่สองจำเลยทั้งสองฎีกาว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยไม่มีพยานหลักฐานในสำนวนสนับสนุน และขัดกับพยานหลักฐานในสำนวนหลายประการ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วปรากฏว่าศาลอุทธรณ์หาได้วินิจฉัยโดยไม่มีพยานหลักฐานในสำนวนหรือขัดกับพยานหลักฐานในสำนวนไม่ ฎีกาของจำเลยเป็นเรื่องจำเลยเห็นว่าควรเชื่อตามพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยประการสุดท้ายจำเลยทั้งสองฎีกาว่า สัญญาระหว่างผู้เสียหายกับบริษัทบรอย-สยามอินเตอร์เนชั่นแนล ไฟแนนซ์ จำกัด เป็นเรื่องฝากทรัพย์ ซึ่งผู้เสียหายจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่ง การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดอาญา ศาลฎีกาเห็นว่าฎีกาจำเลยข้อนี้ใจความเป็นการฎีกาว่าบริษัทบรอยสยามอินเตอร์เนชั่นแนลไฟแนนซ์ จำกัด และจำเลยมิได้หลอกลวงผู้เสียหายเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นเดียวกัน
พิพากษายืน