แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีก่อน ส. ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับ ส. ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องและคำร้องคัดค้านคดีถึงที่สุด ในคดีนี้ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องคัดค้านขอเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง คู่ความทั้งสองคดีจึงมิใช่คู่ความเดียวกันไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ผู้คัดค้านเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว เป็นทายาทโดยธรรมและมีสิทธิรับมรดกแทนที่บิดาได้ จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของปู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713สมควรตั้งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นายก๋วน เต็มมา และนางสา เต็มมาอยู่กินกันฉันสามีภริยาก่อน พ.ศ. 2470 มีบุตรด้วยกัน 3 คน ผู้ร้องนายเสาร์ เต็มมา และนายมูล เต็มมา ซึ่งถึงแก่กรรมไปก่อนแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2526 นายก๋วนถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์มรดกของผู้ตายมีที่ดินโฉนดเลขที่ 9064ตำบลปงแสนทอง อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ซึ่งจำนองไว้กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้ร้องได้ไปติดต่อขอไถ่ถอนจำนอง ธนาคารและเจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าต้องมีคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดกก่อน ผู้ร้องไม่เป็นผู้ต้องห้ามตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการมรดกขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของนายมูล เต็มมา และนางแก้ว เต็มมา ซึ่งบิดาได้รับรองแล้วในการยื่นคำร้องขอจัดการมรดก ผู้ร้องไม่ได้ปรึกษาหารือกับผู้คัดค้านก่อน ทั้งที่ผู้คัดค้านก็เป็นทายาทเช่นกัน หากศาลอนุญาตให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียวจะเกิดความเสียหายแก่กองมรดกของนายก๋วน เต็มมา ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้นายจันทร์ เต็มมา ผู้ร้อง และนายผัด เต็มมา ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายก๋วน เต็มมาผู้ตายร่วมกัน
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้าน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2531 นายเสาร์ เต็มมา ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่านายเสาร์เป็นบุตรของนายก๋วน และนางสา เต็มมา ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งนายเสาร์เป็นผู้จัดการมรดกของนายก๋วน ผู้ตายวันที่ 26 เมษายน 2531 ผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายก๋วน ผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2531 ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องและคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้าน คดีถึงที่สุดแล้วตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 509/2531 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่28 กุมภาพันธ์ 2532 ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายก๋วน ผู้ตายเป็นคดีนี้ ผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายก๋วนผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่าคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีที่นายเสาร์ เต็มมา ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายก๋วน เต็มมา ผู้ตาย รายเดียวกันนี้หรือไม่นั้น ปรากฏว่าในคดีก่อนนายเสาร์เป็นผู้ร้อง นายผัด เต็มมาผู้คัดค้านคดีนี้เป็นผู้คัดค้าน คู่ความทั้งสองคดีจึงไม่ใช่คู่ความเดียวกัน ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้หาเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวไม่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนในประเด็นที่ว่า ผู้คัดค้านสมควรจะเป็นผู้จัดการมรดกของนายก๋วน เต็มมา ผู้ตายร่วมกับผู้ร้องหรือไม่นั้น ในประเด็นข้อนี้ ผู้ร้องอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้วินิจฉัยผู้คัดค้านไม่ได้ฎีกาในประเด็นข้อนี้โดยตรง แต่ผู้คัดค้านฎีกาให้ศาลฎีกาพิพากษากลับ (ที่ถูกควรเป็นแก้) คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2ซึ่งพอถือได้ว่าผู้คัดค้านฎีกาขอให้บังคับไปตามคำสั่งศาลชั้นต้นนั่นเอง ถึงแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ไว้เมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านได้นำสืบข้อเท็จจริงในประเด็นข้อนี้ไว้แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย พิเคราะห์แล้วผู้ร้องและนายเสาร์เต็มมา พยานผู้ร้องต่างเบิกความว่านายมูล เต็มมา ไม่มีภริยาและบุตร ส่วนผู้คัดค้าน เบิกความว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรนายมูล เต็มมา และนางแก้ว เต็มมา ตอนผู้คัดค้านเกิดนายมูลเป็นผู้แจ้งการเกิดปรากฏตามสูติบัตรเอกสารหมาย ค.2 ผู้คัดค้านพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 120 หมู่ที่ 11 ตำบลปงแสนทองอำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ปรากฏตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ค.3 นางแก้ว เต็มมา พยาน ผู้คัดค้านเบิกความว่า เมื่อปีพ.ศ. 2509 พยานมีสามีคนที่สอง คือนายมูล โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือผู้คัดค้านและนางสาวคำ เต็มมา ซึ่งนายมูลเป็นผู้ไปแจ้งเกิดที่บ้านกำนันปรากฏตามสูติบัตรเอกสารหมาย ค.2 และ ค.4 นายฟุ้ง น้อยปลูก พยานผู้คัดค้านอดีตกำนันตำบลปงแสนทอง เบิกความว่า สูติบัตรเอกสารหมาย ค.2 นายเรือนแสนห่อคำ กำนันเป็นผู้ทำขึ้น ส่วนสูติบัตรเอกสารหมาย ค.4นายคำอ้าย พรมเชื้อ สารวัตรกำนัน เป็นผู้ทำขึ้น ศาลฎีกาเห็นว่าผู้คัดค้านมีสูติบัตรเอกสารหมาย ค.2 และ ค.4 และสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ค.3 มาแสดง เอกสารทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวระบุว่าผู้คัดค้านและนางสาวคำหรือภานุมาศเป็นบุตรของนายมูลและนางแก้วเอกสารทั้ง 3 ฉบับ ดังกล่าวไม่มีข้อพิรุธ นายฟุ้งพยานผู้คัดค้านซึ่งเคยเป็นสารวัตรกำนันตำบลปงแสนทอง ระหว่างปี 2504 ถึง 2512และเป็นกำนันตำบลปงแสนทอง ระหว่างปี 2515 ถึง 2516 ซึ่งเคยทำหน้าที่ออกสูติบัตรให้แก่ราษฎรผู้มาแจ้งการเกิดมาก่อน ก็เบิกความรับรองว่าสูติบัตรเอกสารหมาย ค.2 เป็นเอกสารที่ถูกต้อง ผู้ร้องและนายเสาร์คงเบิกความลอย ๆ เพียงว่านายมูลไม่มีภริยาและบุตรเท่านั้น นางไหล่ เต็มมาพยานผู้ร้องซึ่งอ้างว่าเมื่อพยานอายุได้ 12 ปี นายมูลได้นำพยานไปเลี้ยงเป็นบุตรก็เบิกความเพียงว่า ไม่ทราบว่านายมูลจะไปมีภริยาและบุตรที่อื่นหรือไม่ทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่านายมูลไม่สามารถจะมีภริยาและบุตรได้และผู้คัดค้านยังมีนางแก้วมาเบิกความยืนยันว่าเป็นภริยาของนายมูล นายฟุ้งพยานผู้คัดค้านก็เบิกความยืนยันว่านายมูลและนางแก้วเป็นสามีภริยากันและอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้านเลขที่120 หมู่ 11 ตำบลปงแสนทอง ห่างจากบ้านพยานประมาณครึ่งกิโลเมตรเห็นว่าพยานหลักฐานของผู้คัดค้านมีน้ำหนักมั่นคงกว่าพยานหลักฐานของผู้ร้อง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของนายมูลจริงพฤติการณ์ที่นายมูลไปแจ้งการเกิดของผู้คัดค้านตามสูติบัตรเอกสารหมาย ค.2 ถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว ผู้คัดค้านเป็นทายาทโดยธรรมและมีสิทธิรับมรดกแทนที่นายมูล จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของนายก๋วนเต็มมา เจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713ผู้คัดค้านจึงสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของนายก๋วนผู้ตายร่วมกับผู้ร้องที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น