แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แม้จำเลยจะให้ ธ. เช่าบ้านเลขที่ 60/1 ก็ตามแต่เมื่อจำเลยยังคงใช้บางส่วนของบ้านดังกล่าวเป็นที่พักอาศัย เช่นเดิม และเมื่อเจ้าพนักงานศาลนำหมายแจ้งคำสั่ง ศาลชั้นต้น ที่ให้จำเลยแถลงให้ศาลทราบภายใน 7 วัน ว่าจะจัดการ ส่งสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์อย่างไร ไปปิดที่บ้านเลขที่ 60/1 ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของจำเลยถือว่าเป็นการแจ้งคำสั่งศาล โดยวิธีปิดหมายให้จำเลยทราบโดยชอบจนล่วงพ้นระยะเวลา ที่กำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคสอง แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยไม่แถลงให้ศาลทราบภายในเวลาที่กำหนด เป็นการทิ้งฎีกา และศาลฎีกามีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความ ศาลฎีกาโดยชอบแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะยกฎีกาขึ้นพิจารณาใหม่อีก
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจาก ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 1,000,000 บาท ภายในวันที่ 2 มีนาคม 2538 จำเลยตกลง ยกสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด ยกเว้นสินส่วนตัวของผู้ตายใน บ้านเลขที่ 60/1 ซึ่งเป็นบ้านตามที่โจทก์ฟ้องโดยโจทก์ ต้องขนย้ายออกไปจากบ้านให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2538 หากพ้นกำหนดดังกล่าวแล้วโจทก์ไม่ขนย้าย ออกไปให้ถือว่าโจทก์สละสิทธิในทรัพย์ดังกล่าวให้ตกเป็นของ จำเลยและโจทก์จะขนย้ายออกไปไม่ได้ และหากยังมีทรัพย์มรดก อื่นนอกจากที่ฟ้องอยู่อีก โจทก์และจำเลยตกลงแบ่งกันตามกฎหมาย
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า นางโสภาพร บุญมาก เจ้ามรดกยังมีเงินฝากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพาหุรัดพลาซ่า รวม 8 บัญชี รวมประมาณจำนวน 621,692 บาท และหุ้นตามใบหุ้นบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 200 หุ้น ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลย แบ่งทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ให้โจทก์ติดต่อขอแบ่งไปยังจำเลยก่อน หากจำเลยปฏิเสธการแบ่งจึงจะมาแจ้งให้ศาลทราบ ชั้นนี้ ให้ยกคำร้อง
วันที่ 26 กรกฎาคม 2538 จำเลยยื่นคำร้องว่าโจทก์ขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านเลขที่ 60/1 ผิดข้อตกลงคิดเป็นเงิน จำนวน 150,000 บาท ขอให้นำทรัพย์สินมาคืนหรือใช้ราคา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยไม่ติดใจเรียกค่าเสียหายตามคำร้องลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2538 และรับจะปฏิบัติตาม คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยจะโอน ทะเบียนรถยนต์ที่มีชื่อผู้ตายให้แก่โจทก์และโอนเงินในบัญชีเงินฝาก ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ให้แก่โจทก์ 3 ใน 4 ให้จำเลยปฏิบัติภายใน 15 วัน นับแต่วันตกลงกัน ตามรายงาน กระบวนพิจารณาลงวันที่ 15 กันยายน 2538 และวันที่ 14 สิงหาคม 2539
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า จำเลยทิ้งฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบมาตรา 246 และ 247 ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความศาลฎีกา
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ว่า จำเลยมิได้มีเจตนา หรือจงใจ จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้น กล่าวคือ บ้านเลขที่ 60/1 ซอยดำเนินกลางใต้ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลย จำเลยได้ให้ผู้มีชื่อเช่าเปิดเป็น ห้องอาหารและเนื่องจากจำเลยเป็นพนักงานของ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) มีตำแหน่งเป็นพนักงาน ต้อนรับบนเครื่องบิน ในระหว่างต้นเดือนธันวาคม 2540 ถึงปลายเดือนมกราคม 2541 จำเลยต้องไปปฏิบัติงาน บนเครื่องบินตลอด 2 เดือนเต็ม และจำเลยไม่ได้กลับมา ที่บ้านเลขที่ 60/1 ผู้เช่าบ้านหรือลูกจ้างของผู้เช่าบ้าน ก็ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าเจ้าพนักงานเดินหมายได้นำหมายศาล มาส่งและได้ปิดหมายไว้ที่บ้านเลขที่ดังกล่าว นอกจากนี้การที่ โจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นขอให้ศาลสั่งให้เจ้าหน้าที่ และจำเลยส่งคำคู่ความไปให้โจทก์ ณ บ้านเลขที่ 69/140ซอยนครการศึกษา 6 ถนนติวานนท์ ตำบลบางกระสออำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งความจริงโจทก์ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ดังกล่าว ผู้อยู่ในบ้านจึงไม่ยอมรับสำเนาฎีกาของจำเลย เป็นการแจ้งเท็จ ต่อศาลชั้นต้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลฎีกา ได้โปรดมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการ ให้จำเลยได้ส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ที่บ้านเลขที่ 70 ซอยสายสิน แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานครอันเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ตามทะเบียนราษฎร อีกครั้งหนึ่ง ตามหนังสือรับรองการทะเบียนราษฎร สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของ จำเลยก่อน ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วส่งสำนวนคืนศาลฎีกา
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า สัญญาเช่าบ้าน เลขที่ 60/1 ซอยดำเนินกลางใต้ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนครเอกสารหมาย ล.1 ระบุว่า จำเลยให้นายธวัช ธิริโรจนสกุลเช่าบ้านเลขที่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2538 และเมื่อเจ้าพนักงานศาลไปส่งหมายเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2539ได้ระบุว่าบ้านดังกล่าวเป็นร้านอาหารเพ็ญศิริ เชื่อว่าจำเลยให้นายธวัชเช่าบ้านดังกล่าวเปิดเป็นร้านขายอาหารจริงแต่หลังจากให้เช่าแล้วเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2539 จำเลยยื่นคำแถลงขอถ่ายเอกสารโดยระบุว่าจำเลยอยู่บ้านเลขที่ 60/1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้น และฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2539 และวันที่ 8 กันยายน 2540 ตามลำดับอันเป็นระยะเวลาหลังจาก ทำสัญญาเช่านั้น จำเลยยังคงระบุว่าจำเลยอยู่บ้านเลขที่ 60/1 เช่นเดิม ซึ่งถ้าจำเลยมิได้พักอาศัยอยู่บ้านดังกล่าว แต่ได้ย้ายไปเช่าอาคารชุดพักอาศัยเป็นประจำ จำเลยจะต้อง ระบุเปลี่ยนที่อยู่ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง แต่จำเลย หาได้ระบุเปลี่ยนไม่ อีกประการหนึ่ง ตามคำร้องของ จำเลย ฉบับลงวันที่ 14 สิงหาคม 2541 จำเลยอ้างแต่เพียงว่า ระหว่างต้นเดือนธันวาคม 2540 ถึงปลายเดือนมกราคม 2541 จำเลยต้องไปปฏิบัติงานบนเครื่องบินเท่านั้น มิได้อ้างว่า จำเลยไปเช่าอาคารชุดใกล้กับบริษัทการบินไทย จำกัดพักอาศัย ทั้งจำเลยมิได้นำพยานที่รู้เห็นว่าจำเลยไปเช่า อาคารชุด หลักฐานการเช่าหรือหลักฐานการชำระค่าเช่ามาเป็นพยาน และมิได้นำหลักฐานการไปปฏิบัติงานบนเครื่องบินมาเป็นพยาน สนับสนุนข้ออ้างของจำเลยข้ออ้างของจำเลยที่ว่าในช่วงระยะ เวลาดังกล่าวจำเลยไปปฏิบัติงานบนเครื่องบินและไปเช่าอาคารชุด พักอาศัยขาดเหตุผลและไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง ข้อเท็จจริง แห่งคดีเชื่อว่า แม้จำเลยจะให้นายธวัชเช่าบ้านเลขที่ 60/1 แต่เนื่องจากบ้านดังกล่าวมีถึงสองชั้น จำเลยยังคงใช้บางส่วน เป็นที่พักอาศัยเช่นเดิม เมื่อเจ้าพนักงานศาลนำหมายแจ้ง คำสั่ง ศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยแถลงให้ศาลทราบภายใน 7 วัน ว่าจะจัดการส่งสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์อย่างไรไปปิดที่ บ้านเลขที่ 60/1 ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของจำเลย ถือว่าเป็นการ แจ้งคำสั่งศาลโดยวิธีปิดหมายให้จำเลยทราบโดยชอบ และล่วงพ้น ระยะเวลาที่กำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคสองแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยไม่แถลงให้ศาลทราบ ภายในเวลาที่กำหนด จึงเป็นการทิ้งฎีกา และเมื่อศาลฎีกา มีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความศาลฎีกาโดยชอบแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะยกฎีกาขึ้นพิจารณาใหม่ และไม่มีสำเนาฎีกา ที่จะส่งให้โจทก์ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ”