คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2261-2264/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมมาดำเนินการ ตามสัญญาเช่ากำหนดให้จำเลยรับโอนพนักงานและคนงานเข้าทำงานต่อไปและให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระเบียบว่าด้วยเวลาทำงาน โดยที่เงินบำเหน็จตามคำสั่งดังกล่าวได้วางระเบียบให้จ่ายเท่ากับค่าจ้างปกติในเดือนสุดท้ายของปีที่ออกปีละ 1 เดือนโจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โดยคำนวณเฉพาะเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีทำงานแต่ไม่นำเงินรางวัลพิเศษที่โจทก์ได้รับเป็นรายเดือนมารวมคำนวณด้วยดังนี้ คำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องระเบียบว่าด้วยเวลาทำงาน เป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งจำเลยในฐานะผู้เช่าโรงงานสุราจะต้องถือปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ทำไว้กับผู้ให้เช่าและจำเลยในฐานะที่เป็นนายจ้างจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอันเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่วางไว้ด้วยเมื่อได้ความว่าเงินรางวัลพิเศษที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานและคนงานที่มีเงินเดือนหรือค่าจ้างเต็มอัตรา เกินอัตรา หรือไม่มีอัตราโดยจ่ายเป็นรายเดือนและมีขั้นวิ่งเหมือนเงินเดือนถือได้ว่าเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดเวลาทำงาน ฯลฯและเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ และเงินรางวัลพิเศษนี้เป็นค่าจ้างปกติตามบทนิยามคำว่า ‘ค่าจ้างปกติ’ ในคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง ระเบียบว่าด้วยเวลาทำงานฯ ฉะนั้น จึงต้องนำเงินรางวัลพิเศษไปรวมกับเงินเดือนหรือค่าจ้างคำนวณเป็นเงินบำเหน็จตามคำสั่งดังกล่าวด้วยแม้จำเลยได้มีหนังสือแจ้งทุกหน่วยงานว่า ไม่ถือว่าเงินรางวัลพิเศษเป็นค่าจ้างที่จะนำมารวมคำนวณเงินบำเหน็จก็ไม่มีผลบังคับเพราะขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยและคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าวแล้ว
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 แก้ไขเพิ่มเติมโดย ฉบับที่ 5 เป็นเรื่องกำหนดข้อยกเว้นการจ่ายเงินค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างไม่เกี่ยวกับจ่ายเงินบำเหน็จเช่นคดีนี้ทั้งเป็นกฎหมายที่ออกมาภายหลังที่โจทก์เกษียณอายุออกจากงานแล้วไม่อาจนำมาปรับกับคดีนี้ได้
เงินบำเหน็จมิใช่เป็น ‘ส่วนหนึ่งของเงินจ้าง’ ตามความหมายในมาตรา 165(9) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันจะมีอายุความ 2 ปีแต่เป็นการเรียกร้องเงินบำเหน็จในกรณีที่ลูกจ้างเกษียณอายุออกจากงานตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติว่ามีอายุความฟ้องร้องเท่าใดจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องว่า โจทก์ทำงานอยู่โรงงานสุราบางยี่ขัน กรมโรงงานอุตสาหกรรม จำเลยได้เช่าโรงงานสุราบางยี่ขันดำเนินกิจการโดยมีข้อสัญญากับกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าจะให้พนักงานเดิมได้รับสิทธิประโยชน์ เงินช่วยเหลือฯจากผู้เช่าไม่น้อยกว่าที่บุคคลเหล่านี้เคยได้รับจากผู้ให้เช่า เมื่อโจทก์ทั้งสี่สำนวนออกจากงาน จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้เท่ากับเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยระยะเวลาทำงาน โดยไม่นำเงินรางวัลพิเศษที่โจทก์ ทั้งสี่สำนวนได้รับรวมกับเงินเดือนเพื่อคูณกับระยะเวลาทำงานด้วย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จที่ยังขาดอยู่ให้แก่โจทก์ทั้งสี่สำนวน

จำเลยให้การทั้งสี่สำนวนว่า เหตุที่จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จโดยไม่รวมเงินรางวัลพิเศษด้วยนั้น เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีคำสั่งให้ถืออัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างของพนักงานโรงงานสุราเดิมครั้งสุดท้ายเป็นยุติหากผู้ใดอยู่ในข่ายควรจะได้เลื่อนเงินเดือนหรือค่าจ้าง ก็ให้จำเลยจ่ายเงินพิเศษให้สมทบอีกต่างหาก เงินเพิ่มพิเศษนี้ไม่ผูกพันอัตราเงินเดือนของทางราชการจำเลยจึงได้ตั้งเป็นเงินรางวัลพิเศษขึ้น โดยเป็นที่ตกลงและถือปฏิบัติว่า ผู้ที่ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างเต็มอัตรา เกินอัตราหรือไม่มีอัตรา ให้ถือเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้รับจริงครั้งสุดท้ายนำไปคำนวณเป็นเงินบำเหน็จและโบนัสได้ส่วนเงินรางวัลพิเศษไม่ถือเป็นค่าจ้างตามระเบียบว่าด้วยเวลาทำงานและวันหยุดงาน จะนำมาคำนวณเป็นเงินบำเหน็จไม่ได้ ซึ่งโจทก์รู้และยอมถือปฏิบัติตามอยู่แล้วและคดีของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์เว้นแต่โจทก์สำนวนที่สามไม่ขาดอายุความ เงินรางวัลพิเศษที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานและคนงานนั้นเป็น “ค่าจ้าง” ซึ่งจะต้องนำมาคำนวณเป็นเงินบำเหน็จ พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จที่ยังขาดอยู่แก่โจทก์สำนวนที่หนึ่ง สำนวนที่สองและสำนวนที่สี่ สำหรับโจทก์สำนวนที่สามให้ยกฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์ทั้งสี่สำนวนต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องระเบียบว่าด้วยเวลาทำงาน เป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งจำเลยในฐานะผู้เช่าโรงงานสุราบางยี่ขันจะต้องถือปฏิบัติตามข้อสัญญาที่จำเลยทำไว้กับกรมโรงงานอุตสาหกรรมผู้ให้เช่า และจำเลยในฐานะที่เป็นนายจ้างจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอันเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่วางไว้ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เงินรางวัลพิเศษเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานและคนงานที่มีเงินเดือนหรือค่าจ้างเต็มอัตรา เกินอัตรา หรือไม่มีอัตรา โดยจ่ายเป็นรายเดือนและมีขั้นวิ่งเหมือนเงินเดือน ซึ่งถือได้ว่าเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดเวลาทำงาน ฯ และเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์เกษียณอายุออกจากงาน และเงินรางวัลพิเศษนี้เป็นค่าจ้างปกติตามบทนิยามคำว่า “ค่าจ้างปกติ” ในคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระเบียบว่าด้วยเวลาทำงาน ฯ ฉะนั้น จึงต้องนำเงินรางวัลพิเศษไปรวมกับเงินเดือนหรือค่าจ้างคำนวณเป็นเงินบำเหน็จตามคำสั่งดังกล่าว การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้พนักงานและคนงานทราบว่า ไม่ถือว่าเงินรางวัลพิเศษเป็นค่าจ้างที่จะนำมารวมคำนวณเงินบำเหน็จจึงไม่มีผลบังคับ เพราะขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยและคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าวแล้ว

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 แก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 5 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2521 เป็นเรื่องกำหนดข้อยกเว้นการจ่ายเงินค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างไม่เกี่ยวกับการจ่ายเงินบำเหน็จเช่นคดีนี้ทั้งเป็นกฎหมายที่ออกมาภายหลังที่โจทก์เกษียณอายุออกจากงานแล้ว ไม่อาจจะนำมาปรับกับคดีนี้ได้

สำหรับเงินบำเหน็จที่โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยนี้ มิใช่เป็น “ส่วนหนึ่งของเงินจ้าง” ตามความในมาตรา 165(9) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันมีอายุความ 2 ปี แต่เป็นการเรียกร้องเงินบำเหน็จในกรณีที่โจทก์ลูกจ้างเกษียณอายุออกจากงานตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติว่ามีกำหนดอายุตามฟ้องร้องเท่าใด จึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164

พิพากษายืน

Share