คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1865/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องว่าจำเลยหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ โดยโจทก์บรรยายฟ้องกล่าวถ้อยคำที่ไม่เป็นคำใส่ความอยู่ในตัว โจทก์จะต้องบรรยายถึงพฤติการณ์ประกอบมาเพื่อให้เห็นว่าเป็นคำใส่ความอย่างไร และความจริงเป็นอย่างใด เมื่อฟ้องไม่บรรยายเช่นนี้ ศาลมีอำนาจยกฟ้องโดยถือว่าฟ้องขาดองค์สำคัญแห่งความผิด
เมื่อศาลสั่งยกฟ้องโดยเหตุผลว่าฟ้องของโจทก์ไม่มีมูลความผิดโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาไป จะมาฟ้องใหม่ไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ฟ้องคดีกรรมเดียวได้หลายครั้ง.

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้มูลกรณีเดียวกัน ศาลฎีกาได้พิพากษารวมกันไป
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จำเลยเป็นเลขาธิการ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๙๘ เวลากลางวัน จำเลยได้จงใจกล่าวเท็จใส่ความโจทก์ให้เสียชื่อเสียงและให้คนทั้งหลายดูหมิ่น โดจกล่าวแก่นักศึกษาแต่สองคนขึ้นไปในเรื่องสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีมติให้รับนักเรียนซึ่งสำเร็จปีที่ ๓ โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ เข้าศึกษาในคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นั้น ว่า “ผมเอง(จำเลย) ได้คัดค้านไม่เห็นด้วย ไม่เฉพาะแต่อัสสัมชัญพาณิชย์เท่านั้น แม้พวกหนังสือพิมพ์จุฬาลงกรณ์ก็คัดค้านมาแต่ต้น และได้คัดค้านข้อเสนอที่จะให้รับนักเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์หลายครั้ง แต่ในมหาวิทยาลัยพวกของ ขุนประเสริฐฯ(โจทก์) มีมากนัก ผมก็เลยแพ้โหวตเขา” และจำเลยได้กล่าวว่า “ถ้านักศึกษาต้องการให้ออก มันก็ต้องออกได้นะซี” อันเป็นมูลเหตุให้นักศึกษากระด้างกระเดื่องต่อโจทก์ถึง ต่อมาได้เดินขบวนประณามโจทก์ ฯลฯ จึงขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๘๒
ศาลชั้นต้น พิจารณาฟ้องแล้ว สั่งว่าฟ้องไม่มีมูลความผิดตามกฎหมายที่อ้าง จึงสั่งไม่ประทับรับฟ้อง
สำนวนหลังโจทก์ยื่นฟ้องใหม่เมื่อวันที่ ๘ เดือน เดียวกัน โดยตัดทอนและเพิ่มเติมฟ้องสำนวนเสียใหม่
ศาลชั้นต้นสั่งสำนวนหลังว่า เป็นเรื่องฟ้องซ้ำกับสำนวนแรก จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ทั้ง ๒ สำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยดังนี้
การฟ้องว่าจำเลยทำผิดกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๘๒ ฐานใส่ความให้เขาเสียชื่อเสียงนั้น คำบางคำมีความหมายแจ้งชัดอยู่ในตัวว่าเป็นคำใส่ความ แต่คำบางคำอาจมีความหมายไม่แจ้งชัดเป็นการใส่ความ จำต้องมีพฤติการณ์อย่างอื่นประกอบแสดงให้เห็นว่าเป็นคำใส่ความ ถ้อยคำในฟ้องในสำนวนแรกไม่แจ้งชัดว่าเป็นคำใส่ความอยู่ในตัว แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงพฤติการณ์ประกอบเพื่อให้เห็นว่าเป็นคำใส่ความประการใด การที่บรรยายถึงารที่นักศึกษามีปฏิกิริยาในภายหลังเป็นเพียงแสดงผลของการใส่ความ ไม่ทำให้เหตุปรากฎขึ้นได้ แม้โจทก์จะยืนยันว่าคำกล่าวนั้นเป็นเท็จ โจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องว่าความจริงเป็นประการใด ยิ่งโจทก์ขอให้จำเลยพิสุจน์ความจริงตามมาตรา ๒๘๔ โจทก์ก็ต้องกล่าวความจริงให้แจ้ง
เมื่อศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องดังกล่าว เป็นการปฏิบัติตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๖๑ เมื่อฟ้องของโจทก์ขาดองค์สำคัญแห่งความผิดก็ต้องยกฟ้อง ที่ศาลพิพากษาสำนวนแรกนั้นชอบแล้ว
เมื่อศาลยกฟ้องแล้ว โจทก์มีอำนาจอุทธรณ์คำสั่งของศาลตาม มาตรา ๑๖๑ วรรคท้าย การที่โจทก์มาฟ้องใหม่ เป็นการฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าวชัดแจ้ง ไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ศาลอนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีกรรมเดียวกันได้หลายครั้ง
จึงพิพากษายืน.

Share