คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1011/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ ขอให้ลงโทษจำเลยกับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย เฉพาะคดีส่วนแพ่งในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานี้ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้องโจทก์ ก็เป็นการรับสารภาพในคดีส่วนอาญาเท่านั้น หาได้มีผลเป็นการยอมรับว่าจำเลยได้เอาเงินจำนวน 9,100 บาท ของผู้ตายอันเป็นข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งด้วยไม่จำเลยจะต้องรับผิดในคดีส่วนแพ่งมากน้อยเพียงใดนั้นก็ต้องพิจารณาตามกฎหมายในทางแพ่งและความเสียหายที่จำเลยก่อขึ้นจริง เมื่อปรากฏตามบันทึกคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนและบันทึกการชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพว่าจำเลยกับพวกค้นเอาเงิน 200 บาท ของผู้ตายจากกระจาด เก็บเงินไปเช่นนี้ จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหาย โทษจำคุก 6 เดือน เมื่อลดโทษหนึ่งในสามแล้ว คงเหลือโทษจำคุก4 เดือน มิใช่ 3 เดือน และเมื่อจำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 7,72 วรรคสอง และวรรคสาม เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท โทษตามมาตรา 72 วรรคสอง มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ถือว่าเป็นบทที่มีมาตรา 72 วรรคสาม ที่มีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท การลงโทษปรับตามมาตรา72 วรรคสาม ที่มีโทษเบากว่าจึงเป็นการไม่ชอบ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนี้กับพวกได้ร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในถนนตามหมู่บ้านอันเป็นทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรและไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนดังกล่าวติดตัว ทั้งไม่มีกรณีจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ แล้วร่วมกันมีอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปทำการชิงทรัพย์ เอาเงินสด 9,100 บาท ของนายแดง แสงสว่าง กับนายเอ้ยแสงสว่าง ไปโดยทุจริต ต่อมาเจ้าพนักงานจับจำเลยได้ ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83,91, 289, 339, 340 ตรี พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 9,100 บาท แก่นางเอ้ย ด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83และมาตรา 289(6) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา 289(6) ประกอบมาตรา 90 ให้ประหารชีวิตนอกจากนี้จำเลยยังมีความผิดตามมาตรา 371 อีกกระทงหนึ่ง ปรับ 90 บาทรวมโทษประหารชีวิตและปรับ 90 บาท จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(1) คงลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ปรับ 60 บาทให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 9,100 บาท แก่นางเอ้ย แสงสว่างคำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ว่า ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 นั้น โจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้ลงโทษ ฟ้องโจทก์ในความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ไม่เคลือบคลุม ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยไม่รับอนุญาตด้วย ส่วนคดีของจำเลยที่ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง,72 วรรคสอง และวรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา72 วรรคสาม อันเป็นบทหนักจำคุก 6 เดือน และลงโทษฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนและชั้นศาลเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หนึ่งในสาม คงลงโทษฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 3 เดือน และฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 เดือนเมื่อรวมโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตกับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 200 บาท แก่นางเอ้ย แสงสว่าง ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า แม้โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยได้เอาเงินของผู้ตายไปเท่าใด แต่โจทก์ก็มีผู้เสียหายเบิกความซึ่งแม้จะเป็นเพียงข้อสันนิษฐานก็ถูกต้องสอดคล้องกับคำรับสารภาพของจำเลย ทำให้ฟังได้ว่าจำเลยกับพวกเอาเงินสดของผู้ตายไปจำนวน 9,100 บาทนั้น พยานโจทก์คงมีนางเอ้ย แสงสว่าง ผู้เสียหายซึ่งเป็นภริยาผู้ตายเบิกความว่าในวันเกิดเหตุตอนเช้า พยานทราบจากผู้ตายว่านายคำปิ้น จะมาซื้อวัว 2 ตัว ในราคา 9,000 บาท โดยวางมัดจำไว้แล้ว 100 บาท ขณะที่พยานปลูกฝ้ายอยู่ที่ไร่ก็เห็นนายคำปิ้นจูงวัว 2 ตัว ของพยานไปพยานเข้าใจว่าผู้ตายขายวัวให้นายคำปิ้นเรียบร้อยแล้ว เมื่อมีผู้ไปแจ้งเหตุให้ทราบพยานจึงกลับมาบ้านตรวจค้นดูศพผู้ตายไม่พบเงินจำนวนดังกล่าว จึงเข้าใจว่าคนร้ายคงมาลอบยิงผู้ตายเพื่อขโมยเอาเงินจำนวนนี้ไป เห็นว่า โจทก์มิได้นำนายคำปิ้นมาเบิกความยืนยันว่าได้มอบเงินจำนวน 9,000 บาท ให้ผู้ตายในวันเกิดเหตุเป็นค่าซื้อวัว ทั้งคำเบิกความของผู้เสียหายก็เป็นเพียงการคาดคะเนเหตุการณ์เอาเองตามความเข้าใจของพยาน จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพว่า ได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ ก็เป็นการรับสารภาพในคดีส่วนอาญาเท่านั้น หาใช่มีผลเป็นการยอมรับว่าจำเลยได้เอาเงินจำนวน 9,100 บาท ของผู้ตายไปอันเป็นข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งด้วยไม่ ทั้งนี้เพราะคดีส่วนแพ่งในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 47 บัญญัติว่า “คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดหรือไม่” และวรรคสองบัญญัติว่า “ราคาทรัพย์สินที่สั่งให้จำเลยใช้แก่ผู้เสียหาย ให้ศาลกำหนดตามราคาอันแท้จริง” ซึ่งหมายความว่า จำเลยจะต้องรับผิดในคดีส่วนแพ่งมากน้อยเพียงใดนั้น ก็ต้องพิจารณาตามกฎหมายในทางแพ่งและตามความเสียหายที่จำเลยเป็นผู้ก่อขึ้นจริง เมื่อปรากฏตามบันทึกคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.4 และบันทึกการชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเอกสารหมาย จ.5 ได้ความว่าจำเลยกับพวกค้นเอาเงินจำนวน 200 บาท ของผู้ตายจากกระจาด เก็บเงินไปเช่นนี้ จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาข้อต่อมาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกกระทงละ 6 เดือนลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกกระทงละ 3 เดือน เป็นการผิดพลาดนั้นเห็นว่า โทษจำคุก 6 เดือน เมื่อลดโทษหนึ่งในสามแล้ว คงเหลือโทษจำคุก 4 เดือน มิใช่ 3 เดือน ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามาฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคสอง และวรรคสามเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 72 วรรคสามอันเป็นบทหนักนั้น เห็นว่า มาตรา 72 วรรคสอง มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งถือว่าเป็นบทที่มีโทษหนักกว่ามาตรา 72 วรรคสาม ที่มีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีและปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาโดยปรับวรรคที่มีโทษเบากว่าลงโทษจำเลยมานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเสียด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสอง และวรรคสาม,72 ทวิ วรรคสอง ความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา 72 วรรคสอง ลงโทษฐานมีเครื่องกระสุนปืนและฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกกระทงละ 6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้วคงจำคุกกระทงละ 4 เดือน รวมจำคุก 8 เดือน เมื่อรวมโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 แล้ว คงให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียวนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.

Share