คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1860/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ50วรรคแรก(3)ที่ให้บุตรของลูกจ้างซึ่งประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายมีสิทธิรับเงินทดแทนจากนายจ้างนั้นบุตรนั้นต้องมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีเว้นแต่ถ้าอายุครบสิบแปดปีแล้วแต่ยังศึกษาอยู่ก็ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่มิใช่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตลอดไปจนกว่าจะครบตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนแต่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนเฉพาะในระหว่างที่ตนมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น เมื่อบุตรของลูกจ้างผู้ตายมีอายุครบสิบแปดปีและมิได้ศึกษาอยู่จึงขาดคุณสมบัติที่จะได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างแล้วประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานมิได้กำหนดให้สิทธิเรียกร้องส่วนของบุตรลูกจ้างที่จะได้เงินทดแทนนั้นโอนหรือตกทอดไปยังทายาทอื่นของลูกจ้างทั้งมิได้กำหนดให้นายจ้างต้องนำเงินทดแทนอันเป็นส่วนของบุตรของลูกจ้างนั้นมาเฉลี่ยแบ่งจ่ายให้แก่ทายาทอื่นของลูกจ้างได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนของนายสำเริง เกตุเทศซึ่งจำเลยงดจ่ายเพราะนายสำเริง เกตุเทศ มีอายุครบสิบแปดปีและมิได้ศึกษาอยู่ มาเฉลี่ยแบ่งจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาและโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้จำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้จ่ายเงินทดแทนให้แก่นายสำเริง เกตุเทศเพียงวันที่ 13 สิงหาคม 2526 และหลังจากนั้นจำเลยงดจ่ายเงินเพราะนายสำเริงมีอายุครบสิบแปดปีและมิได้ศึกษาอยู่ ซึ่งทำให้หมดสิทธิที่จะได้รับเงินทดแทน กรณีที่ทายาทคนหนึ่งคนใดหมดสิทธิที่จะได้รับเงินทดแทนต่อไปนั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้จำเลยต้องนำเงินทดแทนอันเป็นส่วนของทายาทคนนั้นมาเฉลี่ยแบ่งจ่ายให้แก่ทายาทอื่น จำเลยจึงไม่ต้องนำเงินทดแทนอันเป็นส่วนของนายสำเริงเกตุเทศ ที่จำเลยงดจ่ายมาเฉลี่ยแบ่งจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสอง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนใก้แก่โจทก์ทั้งสองจนกว่าจะครบกำหนด 60 เดือนตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทน
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าการที่นายสำเริง เกตุเทศ บุตรของผู้ตายมีอายุครบสิบแปดปีและมิได้ศึกษาอยู่ ซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยมีสิทธิงดจ่ายเงินทดแทนนั้น จำเลยจะต้องนำเงินทดแทนอันเป็นส่วนของนายสำเริง เกตุเทศ ซึ่งงดจ่ายมาเฉลี่ยแบ่งจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 50 วรรคแรก ซึ่งระบุว่า “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายให้บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง คือ (1) บิดามารดา (2) สามีหรือภรรยา (3) บูตรซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบสิบแปดปีแล้วกำลังศึกษาอยู่ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ (4)….” นั้น เป็นบทกำหนดประเภทของทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างโดยเฉพาะบุตรของผู้ตายตามข้อ 50(3) มิใช่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตลอดไปจนกว่าจะครบกำหนดตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทน แต่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนเฉพาะในระหว่างที่ตนมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้นกรณีที่บุตรขิงผู้ตายขาดคุณสมบัติซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ทำให้หมดสิทธิที่จะได้รับเงินทดแทนต่อไป แม้ประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวจะมิได้กำหนดให้ส่วนแบ่งของบุตรของผู้ตายเป็นอันยุติหรือเหตุดังกล่าวไม่ใช่เหตุหนึ่งเหตุใดตามที่ระบุไว้ในข้อ 50 วรรคสามซึ่งกำหนดให้ส่วนแบ่งของผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนเป็นอันยุติก็ตามก็ต้องถือว่าเป็นอันยุติไปโดยผลของข้อ 50(3) นายจ้างไม่ต้องรับผิดต่อบุตรของผู้ตาย เมื่อนายสำเริง เกตุเทศ บุตรของผู้เสียหายมีอายุครบสิบแปดปีและมิได้ศึกษาอยู่ ซึ่งขาดคุณสมบัติที่จะได้รับเงินทดแทนจากจำเลย สิทธิเรียกร้องของนายสำเริง เกตุเทศจึงเป็นอันยุติ จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่นายสำเริง เกตุเทศ และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มิได้กำหนดให้สิทธิของนายสำเริง เกตุเทศ โอนหรือตกทอดไปยังโจทก์ทั้งสองหรือมิได้กำหนดให้จำเลยต้องนำเงินทดแทนอันเป็นส่วนของนายสำเริง เกตุเทศ มาเฉลี่ยแบ่งจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองโจทก์ทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้อง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนอันเป็นส่วนของนายสำเริงเกตุเทศ แก่โจทก์ทั้งสองนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง”.

Share