คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3050/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำของจำเลยเป็น 31 ข้อ แต่ละข้อวันเวลาเกิดเหตุต่างกันกล่าวหาจำเลยทั้งหกร่วมกันใส่ความโจทก์ด้วยการโฆษณาต่อประชาชนในหนังสือพิมพ์รายวันเป็นจำนวน 31 ฉบับ รวม 31 วันข้อความแต่ละวันไม่เหมือนกัน เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกันจำนวน 31 กรรม
ความผิดฐานหมิ่นประมาทต้องเป็นการใส่ความยืนยันข้อเท็จจริงให้คนอ่าน คนฟัง คนเห็นเชื่อจึงจะเกิดความรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชัง เมื่อฟ้องโจทก์แต่ละกรรมขาดสาระสำคัญดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 158 (5)
โจทก์บรรยายฟ้องสรุปตอนท้ายว่า จำเลยทั้งหกใส่ความโจทก์ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงเฉพาะเรื่องโจทก์มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ข้อที่โจทก์อุทธรณ์และฎีกาต่อมาว่า จำเลยทั้งหกใส่ความโจทก์ในเรื่องการนอกใจภริยา มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว เรื่องการปล่อยเงินกู้คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือเรื่องผลประโยชน์ในสนามม้า จึงเป็นเรื่องนอกคำฟ้องทั้งสิ้น แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
โจทก์บรรยายฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งหกในมูลละเมิดอันเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญามาด้วย เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีอาญาพิพากษายกฟ้องคดีในส่วนอาญาเสียแล้วย่อมไม่มีอำนาจรับคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณา จึงต้องมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีส่วนแพ่งและคืนค่าธรรมเนียมแก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งในคดีส่วนแพ่ง ส่วนศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งเฉพาะเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับแก่โจทก์ โดยยังมิได้มีคำสั่งคำฟ้องส่วนแพ่งเช่นกัน กระบวนพิจารณาในคดีส่วนแพ่งที่ศาลล่างทั้งสองปฏิบัติจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกามีคำสั่งในคดีส่วนแพ่งไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของโจทก์โดยแท้ ทำให้ประชาชนคนอ่านที่ไม่ทราบความจริงเข้าใจว่าโจทก์มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ มีความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งหกทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งหกเป็นเงิน 150,000,000 บาท และขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 136, 326, 328, 332, 91, 90, 83, 84 พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 48 ให้จำเลยทั้งหกโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์แนวหน้า มติชน ไทยรัฐ ไทยโพสต์ ข่าวสด เดลินิวส์ สื่อธุรกิจการเมือง สยามรัฐ พิมพ์ไทย บางกอกโพสต์ เดอะเนชั่น และบ้านเมือง ในหน้าหนึ่งขนาดกว้าง 4 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว มีกำหนด 30 วัน ติดต่อกันโดยจำเลยทั้งหกเป็นผู้ออกค่าโฆษณา ให้ยึดและทำลายหนังสือพิมพ์ข่าวสดตามฟ้องทั้งหมด ห้ามจำเลยที่ 2 ประกอบอาชีพนักหนังสือพิมพ์ ให้จำเลยทั้งหกชำระเงิน 150,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาว่าฟ้องโจทก์มีสาระสำคัญสมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำของจำเลยเป็น 31 ข้อ แต่ละข้อวันเวลาเกิดเหตุต่างกันกล่าวหาจำเลยทั้งหกร่วมกันใส่ความโจทก์ด้วยการโฆษณาต่อประชาชนในหนังสือพิมพ์ ข. เป็นจำนวน 31 ฉบับ รวม 31 วัน ข้อความแต่ละวันไม่เหมือนกัน เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกันจำนวน 31 กรรม ศาลฎีกาพิจารณาข้อความตามฟ้องและสำเนาหนังสือพิมพ์ ข. ในแต่ละกรรมที่โจทก์หาว่าจำเลยทั้งหกหมิ่นประมาทโจทก์ ไม่ปรากฏมีข้อความอันแสดงความหมายชัดแจ้งจะพึงเห็นได้อยู่ในตัวว่าเป็นการใส่ความ ทั้งโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าในแต่ละกรรมข้อความตอนใดจะมีความหมายเป็นการใส่ความโจทก์โดยประกาศที่น่าจะทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังอย่างไร ซึ่งศาลจะได้หยิบยกขึ้นพิจารณาได้โดยเฉพาะ โจทก์เพียงแต่บรรยายสรุปตอนท้ายคำฟ้องว่า ข้อความทั้งหมดเป็นความเท็จทั้งสิ้น ทำให้ประชาชนคนอ่านไม่ทราบความจริงเข้าใจว่าโจทก์มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศโดยไม่มีข้อความตอนใดยืนยันข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีความสัมพันธ์ทางเพศกับนาย ส. ซึ่งเป็นกระเทยโดยการเสพสังวาสหรือร่วมเพศ หรือร่วมกระทำชำเรากันทางทวารหนักหรือเวจมรรค หรือให้นาย ส. ใช้ปากหรือลิ้นประกอบกามกิจต่ออวัยวะเพศของโจทก์ ฯลฯ ดังที่โจทก์บรรยายมาอย่างมากมายยืดยาวในฎีกา ความผิดฐานหมิ่นประมาทต้องเป็นการใส่ความยืนยันข้อเท็จจริงให้คนอ่าน คนฟัง คนเห็นเชื่อ จึงจะเกิดความรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชัง เมื่อฟ้องโจทก์ขาดสาระสำคัญดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องสรุปตอนท้ายว่า จำเลยทั้งหกใส่ความโจทก์ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงเฉพาะเรื่องโจทก์มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศข้อที่โจทก์อุทธรณ์และฎีกาต่อมาว่า จำเลยทั้งหกใส่ความโจทก์ในเรื่องการนอกใจภริยา มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนางสาว น. เรื่องการปล่อยเงินกู้คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือเรื่องผลประโยชน์ในสนามม้านั้น จึงเป็นเรื่องนอกคำฟ้องทั้งสิ้น แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่เนื่องจากโจทก์บรรยายฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งหกในมูลละเมิดอันเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญามาด้วย กรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีอาญา เมื่อพิพากษายกฟ้องคดีในส่วนอาญาเสียแล้วย่อมไม่มีอำนาจรับคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณา จึงต้องมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีส่วนแพ่งและคืนค่าธรรมเนียมแก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 เมื่อศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งในคดีส่วนแพ่ง ส่วนศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งเฉพาะเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับแก่โจทก์ โดยยังมิได้มีคำสั่งคำฟ้องส่วนแพ่งเช่นกัน กระบวนพิจารณาในคดีส่วนแพ่งที่ศาลล่างทั้งสองปฏิบัติจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรมีคำสั่งในคดีส่วนแพ่งไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งใหม่
พิพากษายืน ให้ยกฟ้องคดีส่วนอาญา และไม่รับฟ้องคดีส่วนแพ่ง คืนค่าขึ้นศาลทั้งสามศาลแก่โจทก์ จำเลยทั้งหกไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความในชั้นฎีกาให้.

Share