คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18577/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ท. จำกัด เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเป็นการให้เอกชนเข้าร่วมใช้ความถี่สื่อสาร โดยในขณะทำสัญญาจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2520 มีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบกิจการสื่อสารมวลชน ใช้กิจการสื่อสารมวลชนเป็นสื่อในการเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร ส่งเสริมคุณภาพและจริยธรรมของคนในชาติและรักษาความมั่นคงของรัฐ ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสในการรับรู้ข่าวที่ถูกต้องและรวดเร็ว ตลอดจนสาระความรู้และสาระบันเทิงที่มีประโยชน์ จึงเป็นการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและปัจเจกชนอันเป็นบริการสาธารณะ การให้บริษัท ท. จำกัด ดำเนินการจึงต้องอยู่ในวัตถุประสงค์ดังกล่าวด้วย และสัญญายังเป็นการมอบหมายให้บริษัท ท. จำกัด ซึ่งเป็นเอกชนดำเนินการรับผิดชอบและเสี่ยงภัยในกิจการนั้นตลอดระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาโดยได้รับค่าตอบแทนจากผู้รับบริการซึ่งเป็นสมาชิกที่รับบริการปลายทางในรูปแบบของการสัมปทานเพื่อจัดการบริการสาธารณะในลักษณะเดียวกันกับการให้สัมปทานตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น และให้อำนาจหน่วยงานของรัฐที่จะต้องเห็นชอบหรืออนุญาตให้กระทำการใดหรือไม่ให้กระทำการใด รวมทั้งมีอำนาจควบคุมการดำเนินงานและบอกเลิกสัญญาได้ฝ่ายเดียวตามสัญญาดังกล่าวในข้อ 7 อันเป็นข้อกำหนดในสัญญาที่มีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิของหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวอันเป็นบริการสาธารณะบรรลุผล อีกทั้งเมื่อหมดเวลาตามที่กำหนดในสัญญาแล้วบริษัท ท. จำกัด ยังต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาในข้อ 8 ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ท. จำกัด ตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก จึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง มิใช่การตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันในลักษณะแห่งความเสมอภาคของคู่สัญญาในการก่อให้เกิดสัญญา การปฏิบัติตามสัญญา การแก้ไขและการเลิกสัญญาในลักษณะของคู่สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน
ข้อสัญญาที่กำหนดให้บริษัท ท. จำกัด ต้องจ่ายค่าตอบแทนในการเข้าร่วมดำเนินกิจการตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงินร้อยละ 6.5 ของรายได้ทั้งหมดแต่ละปีก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ ตลอดอายุสัญญา หากชำระล่าช้าจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทั้งต้องนำหลักประกันจำนวน 5,000,000 บาท มอบให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา เป็นการกำหนดค่าตอบแทนจากการที่ร่วมดำเนินกิจการตามสัญญาเท่านั้น ไม่ว่าการดำเนินกิจการของบริษัท ท. จำกัด จะมีกำไรหรือไม่ก็ยังต้องจ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวจึงมิได้เป็นการตกลงเข้ากันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น ส่วนการที่บริษัท ท. จำกัด จะต้องโอนหุ้นซึ่งชำระมูลค่าหุ้นครบถ้วนแล้วจำนวนร้อยละ 7 ของหุ้นทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้น หรือที่จะต้องให้จำเลยที่ 1 หรือผู้แทนเข้าร่วมเป็นกรรมการของบริษัท ท. จำกัด ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ก็เป็นเพียงการกำหนดค่าตอบแทนเพิ่มเติมนอกจากเงินร้อยละ 6.5 ของรายได้ทั้งหมดแต่ละปี และเพื่อให้มีผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐคอยควบคุมการดำเนินงานในลักษณะของความมีอำนาจเหนือกว่าคู่สัญญาฝ่ายเอกชนนั่นเอง สัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ท. จำกัด ตามสำเนาสัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก จึงมิใช่สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตามความสัมพันธ์ทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท
การที่จำเลยที่ 1 มอบหมายให้บริษัท ท. จำกัด จัดการบริการสาธารณะในรูปแบบของการสัมปทาน ซึ่งบริษัท ท. จำกัด จะต้องจัดทำบริการสาธารณะดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐภายในระยะเวลาที่กำหนดด้วยทุนทรัพย์และความเสี่ยงภัยของบริษัท ท. จำกัด โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้บริษัท ท. จำกัด ใช้ความถี่สื่อสารที่ได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติเพื่อดำเนินการเองในนามของจำเลยที่ 1 อันเป็นลักษณะของสัญญาทางปกครองแล้วเช่นนี้ สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่ตัวแทนหรือตัวแทนเชิดตามความสัมพันธ์ทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 15 ตัวแทน ด้วยเช่นกัน จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัท ท. จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสี่ตามฟ้อง

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายและเงินประกันการทำงานพร้อมดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ในแต่ละสำนวน
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยประการแรกว่าสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทไทยสกายเคเบิลทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือจำเลยที่ 1 เชิดบริษัทไทยสกายเคเบิลทีวี จำกัด (มหาชน) ให้เป็นตัวแทนในการประกอบธุรกิจหรือไม่ และจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันจ่ายเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งสี่หรือไม่นั้น เห็นว่า ตามสำเนาสัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกเป็นการทำสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 ในชื่อเดิมว่า องค์การสื่อสาร มวลชนแห่งประเทศไทย และในสัญญาเรียกว่า “อ.ส.ม.ท.” ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2520 กับบริษัทไทยสกายเคเบิลทีวี จำกัด (มหาชน) ในชื่อเดิมว่า บริษัทสยามบรอดแคสติ้งแอนด์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ซึ่งในสัญญาเรียกว่า “บริษัท” โดยมีเงื่อนไขและรายละเอียดที่สำคัญคือ บริษัทดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ลงทุนทั้งหมดเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการในวงเงินไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องส่ง ห้องส่ง อุปกรณ์ห้องส่ง สายอากาศ และส่งมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เพื่อใช้ในการดำเนินกิจการตามสัญญานี้ โดยจำเลยที่ 1 จะตอบแทนโดยให้บริษัทดังกล่าวเข้าร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกโดยใช้ความถี่สื่อสารจำนวน 3 ความถี่ คือ 2614, 2628 และ 2642 MHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ที่คณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติได้จัดสรรให้จำเลยที่ 1 โดยบริษัทดังกล่าวจะต้องออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเองทั้งสิ้น และบริษัทดังกล่าวจะต้องดำเนินการเองในนามจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี ในระหว่างอายุสัญญาถ้ามติคณะรัฐมนตรี เห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อความมั่นคงของรัฐ จำเลยที่ 1 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาทั้งหมดหรือบางส่วนได้ บริษัทดังกล่าวจะต้องดำเนินกิจการให้บริการตามสัญญานี้ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและปฏิบัติตามกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี กฎข้อบังคับ และระเบียบต่างๆ ของทางราชการภายใต้การควบคุมของจำเลยที่ 1 เพื่อให้เป็นไปตามนั้น และตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ยังกำหนดให้คู่สัญญาได้ตกลงร่วมกันส่งเสริมให้มีการผลิตรายการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพขึ้นในประเทศ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตรายการและบุคลากรในกิจการสื่อสารมวลชนโดยแพร่ภาพรายการที่ผลิตในประเทศในอัตราร้อยละ 10 ของเวลาที่ให้บริการทั้งหมดให้ได้ภายใน 7 ปี นับแต่วันทำสัญญา จึงเห็นได้ว่าสัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทดังกล่าวเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเป็นการให้เอกชนเข้าร่วมใช้ความถี่สื่อสาร โดยในขณะทำสัญญาจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2520 มีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบกิจการสื่อสารมวลชน ใช้กิจการสื่อสารมวลชนเป็นสื่อในการเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร ส่งเสริมคุณภาพและจริยธรรมของคนในชาติและรักษาความมั่นคงของรัฐ ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีโอกาสในการรับรู้ข่าวที่ถูกต้องและรวดเร็วตลอดจนสาระความรู้และสาระบันเทิงที่มีประโยชน์ จึงเป็นการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและปัจเจกชนอันเป็นบริการสาธารณะ การให้บริษัทดังกล่าวดำเนินการจึงต้องอยู่ในวัตถุประสงค์ดังกล่าวด้วย และสัญญายังเป็นการมอบหมายให้บริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นเอกชนดำเนินการรับผิดชอบและเสี่ยงภัยในกิจการนั้นตลอดระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาโดยได้รับค่าตอบแทนจากผู้รับบริการซึ่งเป็นสมาชิกที่รับบริการปลายทางในรูปแบบของการสัมปทานเพื่อจัดการบริการสาธารณะในลักษณะเดียวกันกับการให้สัมปทานตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้นและให้อำนาจหน่วยงานของรัฐที่จะต้องเห็นชอบหรืออนุญาตให้กระทำการใดหรือไม่ให้กระทำการใด รวมทั้งมีอำนาจควบคุมการดำเนินงานและบอกเลิกสัญญาได้ฝ่ายเดียวตามสัญญาดังกล่าวในข้อ 7 อันเป็นข้อกำหนดในสัญญาที่มีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิของหน่วยงานของรัฐเพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวอันเป็นบริการสาธารณะบรรลุผล อีกทั้งเมื่อหมดเวลาตามที่กำหนดในสัญญาแล้ว บริษัทดังกล่าวยังต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาในข้อ 8 ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทดังกล่าวตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก จึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง มิใช่การตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันในลักษณะแห่งความเสมอภาคของคู่สัญญาในการก่อให้เกิดสัญญา การปฏิบัติตามสัญญา การแก้ไขและการเลิกสัญญาในลักษณะของคู่สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน อีกทั้งข้อสัญญาที่กำหนดให้บริษัทดังกล่าวต้องจ่ายค่าตอบแทนในการเข้าร่วมดำเนินกิจการตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงินร้อยละ 6.5 ของรายได้ทั้งหมดแต่ละปีก่อนหักค่าใช้จ่ายใดๆ ตลอดอายุสัญญา หากชำระล่าช้าจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทั้งต้องนำหลักประกันจำนวน 5,000,000 บาทมอบให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาก็เป็นการกำหนดค่าตอบแทนจากการที่ร่วมดำเนินกิจการตามสัญญาเท่านั้น ไม่ว่าการดำเนินกิจการของบริษัทดังกล่าว จะมีกำไรหรือไม่ก็ยังต้องจ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าวจึงมิได้เป็นการตกลงเข้ากันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น ส่วนการที่บริษัทดังกล่าวจะต้องโอนหุ้นซึ่งชำระมูลค่าหุ้นครบถ้วนแล้วจำนวนร้อยละ 7 ของหุ้นทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้น หรือที่จะต้องให้จำเลยที่ 1 หรือผู้แทนเข้าร่วมเป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าวตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ก็เป็นเพียงการกำหนดค่าตอบแทนเพิ่มเติมนอกจากเงินร้อยละ 6.5 ของรายได้ทั้งหมดแต่ละปี และเพื่อให้มีผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐคอยควบคุมการดำเนินงานในลักษณะของความมีอำนาจเหนือกว่าคู่สัญญาฝ่ายเอกชนนั่นเอง สัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัทดังกล่าวตามสำเนาสัญญาร่วมดำเนินกิจการให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก จึงมิใช่สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตามความสัมพันธ์ทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัทดังที่โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์แต่อย่างใด และดังที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้นว่าการที่จำเลยที่ 1 มอบหมายให้บริษัทดังกล่าวจัดการบริการสาธารณะในรูปแบบของการสัมปทาน ซึ่งบริษัทดังกล่าวจะต้องจัดทำบริการสาธารณะดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐภายในระยะเวลาที่กำหนดด้วยทุนทรัพย์และความเสี่ยงภัยของบริษัทดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้บริษัทดังกล่าวใช้ความถี่สื่อสารที่ได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติเพื่อดำเนินการเองในนามของจำเลยที่ 1 อันเป็นลักษณะของสัญญาทางปกครองแล้วเช่นนี้ สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่ตัวแทนหรือตัวแทนเชิดตามความสัมพันธ์ทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 15 ตัวแทน ด้วยเช่นกัน จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมรับผิดตามสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัทไทยสกายเคเบิลทีวีจำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสี่ตามฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
สำหรับอุทธรณ์ประการอื่นของโจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาที่ศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยมานั้น เห็นว่า ไม่ว่าศาลฎีกาจะวินิจฉัยไปทางใดก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยข้างต้นได้ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share