คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1399/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลกเป็นเวลาหลายปีแล้ว เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยผู้ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย เป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 41(1) ในปัญหานี้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าหาได้วินิจฉัยถึงสิทธิในความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นโดยตรงไม่ แต่ย้อนไปวินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิดีกว่าเพราะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเข้ามาก่อนอันเป็นการอ้างเหตุตามมาตรา 17 กรณีดังกล่าวไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 19 เบญจโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีได้ โจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องนุ่งห่มและเครื่องหอม ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า NEWMAN(นิวแมน) จำหน่ายในประเทศต่าง ๆเกือบทั่วโลกมานานประมาณ 15 ปี และยังจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ที่ประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ พ.ศ. 2512 กับที่ประเทศอื่น ๆอีกหลายประเทศ สินค้าของโจทก์ได้ส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2513 เรื่อยมา จำเลยเพิ่งมาขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ใช้คำว่า NNEWMEN(เอ็นนิวแมน) เมื่อวันที่12 พฤษภาคม 2521 ถือว่าจำเลยกระทำการโดยไม่สุจริต และการที่จำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยกับเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกายที่จำเลยผลิตและจำหน่ายซึ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกันกับสินค้าของโจทก์ ย่อมทำให้สาธารณชนหลงผิดอันเป็นการลวงขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นสินค้าของโจทก์ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายเป็นการละเมิดต่อโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขอถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 77579 หากจำเลยไม่ยอมให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 20,000 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้พิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยดีกว่าโจทก์ ให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ออกจากทะเบียน ห้ามโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าของโจทก์ในประเทศไทย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย หากจำเลยไม่ยอมให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 10,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อแรกเมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยหรือมีคำสั่งตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 19 เบญจ แล้วโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีนอกประเด็นหรือไม่ ซึ่งจำเลยฎีกาว่าคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าถึงที่สุดแล้วและศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) ศาลฎีกาได้พิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่าNEW MAN (นิวแมน) ไว้ในประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลกเป็นเวลาหลายปีแล้ว เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยผู้ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พงศ. 2474 มาตรา 41(1) ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้ทำการชี้สองสถานกำหนดเป็นประเด็นไว้ด้วยแล้วว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยเหมือนคล้ายกันหรือไม่และใครมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่ากัน ในปัญหานี้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าหาได้วินิจฉัยถึงสิทธิในความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นโดยตรงไม่ แต่ย้อนไปวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิดีกว่าเพราะได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเข้ามาก่อนอันเป็นการอ้างเหตุตามมาตรา 17 กรณีดังกล่าวย่อมไม่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา19 เบญจ ตามที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ และเมื่อเป็นกรณีเช่นนี้ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวได้ไม่เป็นการนอกเหนือประเด็นแห่งคดี…
ปัญหาข้อที่สองที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยไม่สุจริตและการกระทำของจำเลยไม่เป็นการลวงขายโจทก์จึงไม่เสียหายนั้น ข้อนี้โจทก์นำสืบทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องนุ่งห่มและเครื่องหอมใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า NEW MAN (นิวแมน) กับสินค้าของโจทก์จำหน่ายในประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลกมานานประมาณ 15 ปีแล้วรวมทั้งในประเทศไทยด้วย โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ที่ประเทศฝรั่งเศษตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2512 และยังได้จดทะเบียนไว้ที่ประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ สินค้าของโจทก์ได้ส่งเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2513 เรื่อยมาและจำเลยเพิ่งมาขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ใช้คำว่าN newmen (เอ็น นิวแมน) เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2521 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.5 ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ การใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ข้อเท็จจริงดังที่โจทก์นำสืบมานี้จึงรับฟังได้แล้วว่า จำเลยกระทำการโดยไม่สุจริต และการที่จำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยกับเครื่องนุ่งห่มและเครื่องแต่งกายที่จำเลยผลิตและจำหน่าย ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกันกับสินค้าของโจทก์ ย่อมทำให้สาธารณชนหลงผิดอันเป็นการลวงขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นสินค้าของโจทก์แล้วโจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย เป็นการละเมิด แต่ที่ ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยเสียด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย นอกจากที่แก้ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share