คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5051/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ค. เมื่อ ค.ถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก แล้วจำเลยที่ 1 ได้ใส่ชื่อของตนในฐานะผู้จัดการมรดกลงในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินทรัพย์มรดก ถือได้ว่าจำเลยที่ 1ครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นทุกคน เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่พิพาทจากจำเลยที่ 1 ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นเช่นเดียวกัน โจทก์ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ค.จึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่พิพาทได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง โดยไม่มีอายุความ
โจทก์ฟ้องว่า ที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดก ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนระหว่างจำเลยทั้งสาม และให้จำเลยทั้งสามแบ่งที่พิพาทแก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยทั้งสามให้การตอนแรกว่า ที่พิพาทตกเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งได้รับยกให้จากค.ก่อนตาย แต่ให้การตอนหลังว่า หากที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดก แต่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้ว ถือว่าจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้แย่งการครอบครองที่พิพาท เช่นนี้เป็นคำให้การไม่ชัดแจ้งและขัดแย้งกันเองไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 177 วรรคสอง แต่คำให้การดังกล่าวเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยสิ้นเชิง ทั้งการแย่งการครอบครองจะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่น ดังนี้ คดีจึงยังคงมีประเด็นข้อพิพาทว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ แต่ไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องแย่งการครอบครอง
คดีนี้ไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องแย่งการครอบครอง และเมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งชี้ขาดว่า ไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องแย่งการครอบครองจำเลยทั้งสามก็ไม่โต้แย้งคัดค้าน จำเลยทั้งสามจึงไม่มีสิทธิฎีกาว่าโจทก์สิ้นสิทธิฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครอง

Share