คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 164/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้เสียหายพบกับจำเลยซึ่งนั่งอยู่ในร้านอาหารขณะกำลังถูกกลุ่มผู้ชายในร้านพูดจาลวนลาม จึงให้เจ้าของร้านไปเชิญจำเลยมานั่งร่วมโต๊ะ หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง ผู้เสียหายและจำเลยพากันไปพักที่โรงแรมจำเลยได้เข้าไปพูดคุยกับผู้เสียหายในห้องของผู้เสียหายแล้วจำเลยเอาน้ำให้ผู้เสียหายดื่ม ผู้เสียหายหมดสติไป วันรุ่งขึ้นมีผู้มาพบผู้เสียหายนอนหมดสติอยู่ ปรากฏว่าทรัพย์สินที่ติดตัวผู้เสียหายมาหายไปและเมื่อไปหาจำเลยที่ห้องพักก็ไม่พบ น่าเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้เอาทรัพย์สินดังกล่าวไป
แม้พยานโจทก์จะเบิกความแตกต่างกันไปบ้าง แต่ถ้าเป็นเพียงข้อแตกต่างที่ไม่ใช่สาระสำคัญคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวก็รับฟังได้ และถึงแม้พยานเอกสารต่าง ๆ ฝ่ายโจทก์จะได้ทำขึ้นในภายหลังแต่ก็มีสำเนาบันทึกประจำวันอันเป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากเกิดเหตุอยู่ด้วย เอกสารต่าง ๆ ก็ไม่มีพิรุธอันที่จะทำให้ไม่อาจรับฟังเป็นพยานได้
แม้ผู้เสียหายไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อนมีโอกาสนั่งพูดคุยอยู่กับจำเลยเป็นเวลานานนับชั่วโมง โดยพูดคุยกันทั้งร้านอาหารและภายในห้องพัก โอกาสที่ผู้เสียหายจะจำจำเลยได้อย่างแม่นยำมีมาก เมื่อผู้เสียหายได้พบจำเลยอีกครั้งหลังเกิดเหตุนานประมาณหนึ่งเดือน ผู้เสียหายก็วิทยุเรียกเจ้าพนักงานตำรวจให้มาจับกุมจำเลยทันที ย่อมแสดงว่าผู้เสียหายจำจำเลยได้อย่างแม่นยำ
คนมีฐานะดีไม่จำเป็นเสมอไปที่จะไม่กระทำความผิดเลย และเหตุคดีนี้เกิดขึ้นนานประมาณ 1 เดือนแล้ว จำเลยอาจชะล่าใจคิดว่าผู้เสียหายคงจะไม่ติดตามคดีก็ได้ และเวลาที่จำเลยไปที่ร้านเดิมก็เป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับเวลาในวันเกิดเหตุจึงเชื่อว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของโจทก์จริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก 1 คนที่หลบหนีร่วมกันชิงทรัพย์โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง แหวนทองคำหัวหยกจีนล้อมเพชร 1 วง นาฬิกา 1 เรือน พระเครื่องและเหรียญรวม 6 องค์ และเงินสดรวมราคา 118,480 บาท ของพันเอกไพวงศ์ชัยชนะ ผู้เสียหายไป โดยใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการใช้ยาผสมน้ำให้ผู้เสียหายดื่มจนมึนเมาไม่รู้สึกตัวและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้เพื่อให้ความสะดวกแก่การชิงทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไปหรือให้พ้นจากการจับกุม ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 และมาตรา 83 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงินจำนวน 118,480 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 วรรคสาม ให้จำคุก 3 ปี และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 118,480 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ มีคนร้ายลักทรัพย์ของพันเอกไพวงศ์ ชัยชนะ ผู้เสียหายไปปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกามีว่า จำเลยเป็นผู้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้เสียหายหรือไม่ ส่วนในความผิดฐานชิงทรัพย์ได้ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เนื่องจากโจทก์ไม่อุทธรณ์ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า เมื่อวันที่ 15พฤศจิกายน 2539 ผู้เสียหายกับพันโทขันธเคชน์ เรือนก้อน ไปนั่งดื่มสุราที่ร้านอาหารลานโพธิ์ ได้พบกับจำเลยซึ่งนั่งอยู่ในร้านกำลังถูกกลุ่มผู้ชายในร้านพูดจาลวนลาม จึงให้นายสมนึก ช่อฟ้า ซึ่งเป็นเจ้าของร้านไปเชิญจำเลยมานั่งร่วมโต๊ะหลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง ผู้เสียหายกับพวกและจำเลยพากันไปพักที่โรงแรมทักษิณ เมื่อไปถึงโรงแรมจำเลยได้เข้าไปพูดคุยกับผู้เสียหายในห้องของผู้เสียหายจำเลยเอาน้ำให้ผู้เสียหายดื่ม ผู้เสียหายหมดสติไป วันรุ่งขึ้นพันโทขันธเคชน์นำผู้เสียหายส่งโรงพยาบาลปรากฏว่า จำเลยได้หลบหนีไป และทรัพย์สินต่าง ๆของผู้เสียหายตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายตามเอกสารหมาย จ.2 สูญหายไปผู้เสียหายจึงไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2539 ผู้เสียหายไปพบจำเลยที่ร้านลานโพธิ์อีก ผู้เสียหายได้เรียกเจ้าพนักงานตำรวจให้มาจับกุมจำเลย เห็นว่า ผู้เสียหายไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อนมีโอกาสนั่งพูดคุยอยู่กับจำเลยเป็นเวลานานนับชั่วโมง โดยพูดคุยกันทั้งที่ร้านอาหารลานโพธิ์และภายในห้องพักที่โรงแรมทักษิณ โอกาสที่ผู้เสียหายจะจำจำเลยได้อย่างแม่นยำมีมาก เมื่อผู้เสียหายได้พบจำเลยอีกครั้งหลังเกิดเหตุนานประมาณหนึ่งเดือน ผู้เสียหายก็วิทยุเรียกเจ้าพนักงานตำรวจให้มาจับกุมจำเลยทันที ย่อมแสดงว่าผู้เสียหายจำจำเลยได้อย่างแม่นยำ เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับคำเบิกความของนายสมนึกซึ่งเป็นเจ้าของร้านลานโพธิ์ที่ยืนยันว่า ในคืนเกิดเหตุเห็นจำเลยไปที่ร้านของตนและเป็นผู้ไปเชิญจำเลยให้ไปนั่งร่วมโต๊ะกับผู้เสียหาย นายสมนึกไม่มีส่วนได้เสียในคดีและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน แม้นายสมนึกจะเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เข้าใจว่าจำเลยเป็นหญิงที่พบผู้เสียหายในคืนเกิดเหตุเพราะคลับคล้ายคลับคลา ซึ่งอาจทำให้คำเบิกความของนายสมนึกมีน้ำหนักน้อยลงบ้าง แต่ก็ยังสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น จึงน่าเชื่อว่าในคืนเกิดเหตุจำเลยไปที่ร้านของนายสมนึกและไปนั่งร่วมโต๊ะกับผู้เสียหายจริง พยานจำเลยที่นำสืบอ้างฐานที่อยู่ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ อีกทั้งจำเลยยังให้การชั้นสอบสวนแตกต่างกับคำเบิกความชั้นศาลจึงเชื่อว่าจำเลยได้ไปกับผู้เสียหายในคืนเกิดเหตุจริง เมื่อผู้เสียหายดื่มน้ำแล้วหมดสติไป วันรุ่งขึ้นเมื่อมีผู้มาพบผู้เสียหายนอนหมดสติอยู่ปรากฏว่าทรัพย์สินที่ติดตัวผู้เสียหายมาหายไปและเมื่อไปหาจำเลยที่ห้องพักก็ไม่พบ จึงน่าเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้เอาทรัพย์สินดังกล่าวไป ที่จำเลยฎีกาว่าพยานโจทก์เบิกความแตกต่างกันทำให้ไม่น่าเชื่อเห็นว่า ข้อแตกต่างที่จำเลยอ้างนั้น เป็นเพียงข้อแตกต่างที่ไม่ใช่สาระสำคัญอันเป็นเหตุให้พยานโจทก์ไม่อาจรับฟังได้ ที่จำเลยอ้างว่าพยานเอกสารต่าง ๆฝ่ายโจทก์ทำขึ้นภายหลังจากจับกุมจำเลยแล้วทั้งสิ้น เห็นว่า ถึงแม้พยานเอกสารต่าง ๆ จะได้ทำขึ้นในภายหลังแต่ก็มีสำเนาบันทึกประจำวันลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2539 อันเป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากเกิดเหตุ เอกสารต่าง ๆ ก็ไม่มีพิรุธอันที่จะทำให้ไม่อาจรับฟังเป็นพยานได้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยมีฐานะดีประกอบธุรกิจจึงไม่สามารถกระทำความผิดได้ และหากจำเลยเป็นคนร้ายจริงก็คงจะไม่กลับไปที่ร้านอาหารดังกล่าวอีก เห็นว่าคนมีฐานะดีไม่จำเป็นเสมอไปที่จะไม่กระทำความผิดเลยและเหตุคดีนี้เกิดขึ้นนานประมาณ 1 เดือนแล้วจำเลยอาจจะชะล่าใจคิดว่าผู้เสียหายคงจะไม่ติดตามคดีก็ได้ และเวลาที่จำเลยไปที่ร้านเดิมก็เป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับเวลาในวันเกิดเหตุ จึงเชื่อว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของโจทก์จริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share