คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6962/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฎีกาของจำเลยทั้งสองมีประเด็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่ เพียงใด ประเด็นหลังเป็นข้อกฎหมายสำคัญในการชี้ขาดตัดสินคดี แต่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อนี้ไว้ชัดแจ้งทั้งศาลอุทธรณ์ก็มิได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นพิจารณาอย่างชัดเจน ศาลฎีกาจึงกำหนดประเด็นดังกล่าวไว้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
เกี่ยวกับเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์นั้น หากทางพิพาทเป็นทางสาธารณะและโจทก์ใช้ร่วมกับประชาชนอื่น ๆ แม้โจทก์จะใช้ทางสาธารณะอื่นด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองปิดกั้นทางพิพาท โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาฟังได้ว่าทางสาธารณะอันเป็นทางพิพาทกว้าง 4 เมตรยาวตลอดแนว และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้โจทก์ชนะคดี แต่มิได้ระบุความกว้างของทางพิพาทจึงอาจเกิดปัญหาในชั้นบังคับคดีได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรระบุให้ชัดแจ้งโดยให้ทางพิพาทกว้าง 4 เมตร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์ด้านทิศใต้จรดทางสาธารณะมีความกว้าง 4 เมตร ยาวประมาณ 140 เมตร เชื่อมระหว่างถนนสายยุทธศาสตร์เก่ากับถนนสายบ้านส้อง – นาสาร ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง ซึ่งประชาชนใช้สัญจรเป็นเวลานานกว่า 100 ปีแล้ว โจทก์ก็เป็นผู้หนึ่งที่ใช้ทางสาธารณะดังกล่าวสัญจรใช้ประโยชน์ แต่เมื่อปี 2530 จำเลยทั้งสองผู้ครอบครองที่ดินด้านทิศใต้ของทางสาธารณะดังกล่าวโดยร่วมกันบุกรุกเข้าไปปลูกต้นไม้ยืนต้นปิดกั้นทางสาธารณะดังกล่าว เพื่อยึดถือครอบครองทางสาธารณะเป็นของจำเลยทั้งสอง ทำให้โจทก์และประชาชนผู้ร่วมใช้ทางสาธารณะดังกล่าวเดือดร้อน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเปิดทางสาธารณะดังกล่าวให้รื้อถอนต้นไม้ยืนต้นพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไปและทำทางสาธารณะดังกล่าวให้อยู่ในสภาพเดิม โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น และห้ามจำเลยทั้งสองปิดกั้นทางสาธารณะดังกล่าวด้วยประการใด ๆ ด้วย

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองปลูกบ้านเลขที่ 301/6 ปักเสาไม้แก่นตามแนวเขตที่ดินและปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองไม่เคยปิดกั้นหรือบุกรุกทางสาธารณะ ทางสาธารณะตามที่โจทก์อ้างหากจะมีความกว้างไม่เกิน 1 เมตร ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองเปิดทางพิพาทให้รื้อถอนต้นไม้ยืนต้นพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในทางพิพาทและทำทางพิพาทให้อยู่ในสภาพเดิม ห้ามจำเลยทั้งสองปิดกั้นทางพิพาทด้วยประการใด ๆ ให้ยกคำขอที่บังคับให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่าย

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่า มีทางสาธารณะกั้นอยู่ระหว่างที่ดินของโจทก์และจำเลยทั้งสอง มีความกว้าง 4 เมตร นับจากแนวเขตที่ดินของโจทก์ยาวตลอดแนวเขตทางด้านทิศใต้ของที่ดินโจทก์อันเป็นทางพิพาท โจทก์ใช้สัญจรไปมานับแต่ปี 2500 เป็นเวลา 37 ปีแล้ว และประชาชนอื่น ๆ ใช้ประโยชน์เป็นเวลานับ 100 ปี แต่ในปี 2530 จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปปลูกต้นไม้ยืนต้นและอื่น ๆ เพื่อยึดถือเป็นของจำเลยทั้งสอง ส่วนจำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมจำเลยทั้งสองไม่เคยบุกรุกทางสาธารณะแต่จำเลยทั้งสองปลูกต้นไม้ยืนต้นในที่ดินของจำเลยทั้งสอง โจทก์มีทางอื่นใช้สัญจรจึงไม่ได้รับความเสียหาย หากทางสาธารณะมีอยู่ก็มีความกว้างเพียง 1 เมตร โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้องตามคำฟ้องและคำให้การเมื่อจำเลยทั้งสองรับว่าปลูกต้นไม้และอื่น ๆ ลงในที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นการรับโดยปริยายว่าปิดกั้นทางพิพาทแล้วจึงไม่มีประเด็นที่ว่า จำเลยทั้งสองปิดกั้นทางพิพาทหรือไม่ ส่วนประเด็นฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกา ปัญหาข้อนี้จึงยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว

ปัญหาตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาคงมีประเด็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่ เพียงใด ประเด็นหลังเป็นข้อกฎหมายสำคัญในการชี้ขาดตัดสินคดี ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อนี้ไว้ชัดแจ้งและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็มิได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นพิจารณาอย่างชัดเจน ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดประเด็นดังกล่าวไว้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับประเด็นข้อแรกที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ตามคำโจทก์ว่าโจทก์เป็นผู้หนึ่งซึ่งร่วมกับประชาชนอื่น ๆ ประมาณ 100 ครอบครัว ใช้ประโยชน์ทางพิพาทซึ่งเป็นทางสาธารณะ ประชาชนอื่น ๆ ใช้ทางพิพาทนั้นมาก่อนที่โจทก์จะซื้อที่ดินซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือของทางพิพาทในปี 2500 นับถึงปัจจุบัน 37 ปี แล้ว ดังนั้น หากทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ แม้โจทก์จะใช้ประโยชน์ทางสาธารณะอื่นด้วยเมื่อจำเลยทั้งสองปิดกั้นทางพิพาทดังกล่าว โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ประเด็นที่ว่า ทางพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะมีความยาวตลอดแนวที่ดินของโจทก์ด้านทิศใต้ ปัญหาต่อไปว่า ทางสาธารณะนั้นกว้างเพียงใด นายซบ นายวิจิตร และนายบัญชาพยานโจทก์ซึ่งล้วนแต่เคยเป็นกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในตำบลบ้านส้อง เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในท้องถิ่น ต่างเบิกความสอดคล้องคำโจทก์ว่า ทางสาธารณะนั้นมีความกว้าง 4 เมตร ตลอดแนว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ทางสาธารณะดังกล่าวกว้าง 4 เมตร ยาวตลอดแนวที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้โจทก์ชนะคดี แต่มิได้ระบุความกว้างของทางพิพาทอาจเกิดปัญหาในชั้นบังคับคดีได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรระบุให้ชัดแจ้งโดยให้ทางพิพาทกว้าง 4 เมตร

พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะ มีความกว้าง 4 เมตร นับจากแนวเขตที่ดินของโจทก์ด้านทิศใต้ยาวตลอดแนว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share