แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ฉ. อยู่กินฉันสามีภริยากับ ช. โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและได้ร่วมกันทำมาหากินโดยการปล่อยเงินกู้ ซื้อขายที่ดินและเป็นนายหน้าขายที่ดิน เงินในบัญชีเงินฝากประจำเป็นทรัพย์สินที่ ช. และ ฉ. ทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา ช. และ ฉ. จึงต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในเงินดังกล่าวและต้องแบ่งให้คนละเท่า ๆ กัน โดยเป็นทรัพย์มรดกของ ช. กึ่งหนึ่ง และเป็นทรัพย์มรดกของฉ. กึ่งหนึ่ง
การที่ ฉ. ฝากเงินประจำไว้แก่ธนาคารจำเลยที่ 2 เงินที่ฝากประจำย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 คงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ฝากประจำให้ครบจำนวนเมื่อถึงกำหนดแก่ ฉ.
ฉ. มีเจตนาเงินในบัญชีเงินฝากประจำให้แก่จำเลยที่ 1 และทำหนังสือถึงผู้จัดการจำเลยที่ 2 ให้เพิ่มชื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้แทนการถอนเงินออกมาฝากในนามจำเลยที่ 1 เนื่องจากเงินที่ฝากประจำยังไม่ครบกำหนด หากถอนเงินในขณะนั้นจะไม่ได้ดอกเบี้ย ถือได้ว่า ฉ. มีเจตนาโอนสิทธิเรียกร้องของฉ. ที่ฝากเงินไว้แก่จำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 ในลักษณะการโอนหนี้อันจะพึงชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจง เมื่อได้มีการปฏิบัติถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่ง โดย ฉ. ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อและบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องการโอนสิทธิเรียกร้องในเงินฝากประจำของ ฉ. ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นอันสมบูรณ์สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้เงินฝากประจำจึงตกเป็นของจำเลยที่ 1 กรณีไม่ใช่เป็นเพียงมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากแทน ฉ. เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวฉันทนา บ๊อกสกุล โดยคำสั่งศาลชั้นต้น นางสาวฉันทนาเปิดบัญชีเงินฝากประจำชนิดกำหนด 3 เดือน ไว้แก่จำเลยที่ 2สาขาหาดใหญ่ โดยได้รับดอกเบี้ยทบต้น หลังจากนั้นนางสาวฉันทนามีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมผู้มีอำนาจลงนามและเงื่อนไขการสั่งจ่ายเงินในบัญชีจากเดิมที่ให้นางสาวฉันทนามีสิทธิถอนเงินได้เพียงผู้เดียวเป็นให้นางสาวฉันทนาหรือจำเลยที่ 1 คนใดคนหนึ่งมีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีได้ต่อมานางสาวฉันทนาถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ได้ถอนเงินในบัญชีไปทั้งหมดและปิดบัญชีโดยจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิ และจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,258,572.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นทุกระยะ3 เดือน อัตราร้อยละ 12 ต่อปี
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เงินในบัญชีเงินฝากประจำนางสาวฉันทนากับนายโชติพัฒนกุล บิดาจำเลยที่ 1 ได้เงินดังกล่าวมาจากการทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา และก่อนถึงแก่ความตาย นางสาวฉันทนาได้ยกเงินในบัญชีเงินฝากประจำทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 563,398.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เงินในบัญชีฝากประจำตามฟ้องเป็นทรัพย์มรดกของนางสาวฉันทนาแต่เพียงผู้เดียวหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า เงินในบัญชีเงินฝากประจำตามฟ้องเป็นของนายโชติ พัฒนกุล บิดาจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง เห็นว่า พยานโจทก์คงมีโจทก์เพียงปากเดียวที่เบิกความว่านางสาวฉันทนาเป็นผู้เปิดบัญชีเงินฝากประจำชนิดกำหนด 3 เดือนรวม 3 รายการ ตามฟ้องไว้แก่จำเลยที่ 2 สาขาหาดใหญ่ นางสาวฉันทนาเป็นโสดไม่ได้เป็นภริยานายโชติ ส่วนจำเลยที่ 1นอกจากมีจำเลยที่ 1 เบิกความยืนยันว่านางสาวฉันทนาได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนายโชติบิดาจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2512 ภายหลังจากนางคิ้น พัฒนกุล มารดาจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายประมาณ 2 ปี และได้ร่วมกันประกอบอาชีพปล่อยเงินกู้ซื้อที่ดินมาจัดแบ่งขายและเป็นนายหน้าขายที่ดินเงินที่ได้มาจะฝากธนาคารในนามนางสาวฉันทนา จำเลยที่ 1 ยังมีนางถนอม พาหุกุล นายวีระพันธ์ ใจแก้ว นายโชคดี พัฒนกุล พี่ชายจำเลยที่ 1 นางเพ็ญศรี พัฒนกุล ภริยาจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า หลังจากนางคิ้นภริยานายโชติถึงแก่ความตาย นายโชติได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวฉันทนาตั้งแต่ปี 2512 โดยเฉพาะนางถนอมเป็นบุตรบุญธรรมของนางฮั้ว พาหุกุล พี่สาวนางสาวฉันทนาถือเป็นญาติโจทก์ ไม่มีเหตุที่พยานปากนี้จะเบิกความเข้าข้างจำเลยที่ 1 ทั้งจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ได้ความอีกว่า ระหว่างที่นางสาวฉันทนาอยู่กินกับนายโชติ ในการปล่อยเงินกู้ นายโชติจะลงชื่อเป็นผู้ให้กู้ในสัญญากู้ยืมเงินโดยมีนางสาวฉันทนาลงชื่อเป็นพยานทุกครั้ง ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.5 และเมื่อนางสาวฉันทนาป่วย นายโชติเป็นผู้พานางสาวฉันทนาไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยระบุผู้ติดต่อได้คือนายโชติเกี่ยวข้องเป็นสามีตามสำเนาประวัติผู้ป่วยโรงพยาบาลสงขลานครินทร์เอกสารหมาย ล.7 เอกสารดังกล่าวมีผู้ช่วยศาสตราจารย์สุธรรม ปิ่นเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลดังกล่าวรับรองสำเนาถูกต้อง เชื่อว่าข้อความในเอกสารตรงตามความเป็นจริง ส่วนที่โจทก์เบิกความว่านางสาวฉันทนาเคยจดทะเบียนยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หาเมื่อเดือนกันยายน 2538 และให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าตนเป็นโสดไม่เคยทำการสมรสไม่ว่าจะโดยชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมายมาก่อนแต่อย่างใด ตามสำเนาหนังสือสัญญาให้ที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ก็เป็นเพียงข้อความตามตรายางที่เจ้าพนักงานที่ดินประทับและให้นางสาวฉันทนาลงชื่อเท่านั้น หาใช่ข้อความที่นางสาวฉันทนาได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินด้วยตนเองไม่ การที่นางสาวฉันทนายอมลงชื่อเป็นผู้ให้ถ้อยคำในเอกสารดังกล่าวอาจเป็นเพราะต้องการให้การจดทะเบียนยกที่ดินแก่จำเลยที่ 1 เป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วเท่านั้น เมื่อชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักดียิ่งกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางสาวฉันทนาอยู่กินฉันสามีภริยากับนายโชติโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและได้ร่วมกันทำมาหากินโดยการปล่อยเงินกู้ซื้อขายที่ดินและเป็นนายหน้าขายที่ดินเงินในบัญชีเงินฝากประจำตามฟ้องทั้งสามรายการรวม 1,126,797.64 บาท เป็นทรัพย์สินที่นายโชติและนางสาวฉันทนาทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา นายโชติและนางสาวฉันทนาจึงต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในเงินจำนวนดังกล่าวและต้องแบ่งให้คนละเท่า ๆ กัน โดยเป็นทรัพย์มรดกของนายโชติกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 563,398.82 บาทและเป็นทรัพย์มรดกของนางสาวฉันทนากึ่งหนึ่งเป็นเงิน 563,398.82 บาท
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า นางสาวฉันทนาได้ยกเงินในบัญชีเงินฝากประจำให้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 1 และนางเพ็ญศรีพัฒนกุล ภริยาจำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานยืนยันว่านางสาวฉันทนาได้ยกเงินในบัญชีเงินฝากประจำทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะเห็นว่าเป็นเงินที่ทำมาหาได้ร่วมกับนายโชติบิดาจำเลยที่ 1 โดยนางสาวฉันทนาจะถอนเงินออกมาฝากในนามจำเลยที่ 1 แต่พนักงานจำเลยที่ 2 แนะนำนางสาวฉันทนาให้เพิ่มชื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้เนื่องจากเงินที่ฝากประจำไว้ยังไม่ครบกำหนด3 เดือน หากถอนเงินออกมาในขณะนั้นและฝากในนามจำเลยที่ 1 จะไม่ได้ดอกเบี้ยนางสาวฉันทนาจึงขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมผู้มีอำนาจและเงื่อนไขการสั่งจ่ายตามเอกสารหมาย จ.3 โดยให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้เช่นเดียวกับนางสาวฉันทนา และมีนางกิ่งกมล ชีวพงศ์พันธ์ พนักงานจำเลยที่ 2 เป็นพยานเบิกความสอดคล้องตรงกันว่านางสาวฉันทนามาติดต่อพยานโดยประสงค์จะยกเงินในบัญชีเงินฝากประจำให้แก่จำเลยที่ 1 แต่พยานเห็นว่าเงินฝากประจำดังกล่าวยังไม่ครบกำหนด 3 เดือน หากถอนเงินดังกล่าวไป จะไม่ได้ดอกเบี้ย จึงแนะนำให้นางสาวฉันทนาขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมผู้มีอำนาจลงนามและเงื่อนไขการสั่งจ่ายตามเอกสารหมาย จ.3 เห็นว่า นางกิ่งกมลเป็นพนักงานจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนได้เสียกับโจทก์หรือจำเลยที่ 1 เบิกความไปตามที่ตนรู้เห็นจากการปฏิบัติหน้าที่ คำเบิกความของนางกิ่งกมลจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ การที่นางสาวฉันทนาฝากเงินประจำไว้แก่จำเลยที่ 2 สาขาหาดใหญ่ เงินที่ฝากประจำย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 คงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ฝากประจำให้ครบจำนวนพร้อมดอกเบี้ยเมื่อถึงกำหนดแก่นางสาวฉันทนาเท่านั้น หากนางสาวฉันทนาประสงค์จะยกเงินที่ฝากประจำดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 อาจทำได้โดยวิธีถอนเงินออกมามอบให้แก่จำเลยที่ 1 หรือฝากในนามจำเลยที่ 1 หรืออาจยกให้โดยวิธีโอนสิทธิเรียกร้องของนางสาวฉันทนาผู้ฝากเงินไว้แก่จำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 ในลักษณะการโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจงซึ่งต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 306 กล่าวคือจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งการเรียกร้อง มิฉะนั้นไม่สมบูรณ์ คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางสาวฉันทนามีเจตนายกเงินในบัญชีเงินฝากประจำให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจะถอนเงินออกมาฝากในนามจำเลยที่ 1 แต่นางกิ่งกมลพนักงานจำเลยที่ 2 แนะนำนางสาวฉันทนาให้เพิ่มชื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้เนื่องจากเงินที่ฝากประจำไว้ยังไม่ครบกำหนด 3 เดือน หากมีการถอนเงินในขณะนั้นและฝากในนามจำเลยที่ 1 จะไม่ได้ดอกเบี้ย นางสาวฉันทนาจึงได้ทำหนังสือถึงผู้จัดการจำเลยที่ 2 สาขาหาดใหญ่ ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมผู้มีอำนาจลงนามและเงื่อนไขการสั่งจ่ายตามเอกสารหมาย จ.3 โดยให้เพิ่มชื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้ แม้ตามหนังสือดังกล่าว นางสาวฉันทนาจะยังคงมีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากก็ตามก็เป็นเพียงเพื่อประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 จะได้รับดอกเบี้ยเงินฝากจากจำเลยที่ 2 เมื่อครบกำหนดเท่านั้น อันเป็นระเบียบและวิธีการตามธรรมดาของธนาคารทั่วไป การที่นางสาวฉันทนามีเจตนายกเงินฝากประจำให้แก่จำเลยที่ 1 และได้ทำหนังสือถึงผู้จัดการจำเลยที่ 2 สาขาหาดใหญ่ ให้เพิ่มชื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้แทนการถอนเงินออกมาฝากในนามจำเลยที่ 1 เนื่องจากเงินที่ฝากประจำยังไม่ครบกำหนด หากถอนเงินในขณะนั้นจะไม่ได้ดอกเบี้ยตามพฤติการณ์เช่นนี้ พอถือได้โดยปริยายว่านางสาวฉันทนามีเจตนาโอนสิทธิเรียกร้องของนางสาวฉันทนาที่ฝากเงินไว้แก่จำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 ในลัษณะการโอนหนี้อันจะพึงชำระแก่เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจาะจง เมื่อได้มีการปฏิบัติถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ นางสาวฉันทนาได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อและบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้อง การโอนสิทธิเรียกร้องในเงินฝากประจำของนางสาวฉันทนาให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมสมบูรณ์ สิทธิจะได้รับชำระหนี้เงินฝากประจำจึงตกเป็นของจำเลยที่ 1 กรณีไม่ใช่เพียงมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากแทนนางสาวฉันทนาเท่านั้น เมื่อนางสาวฉันทนาถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิถอนเงินและปิดบัญชีเงินฝากได้ โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวฉันทนาโดยคำสั่งศาลชั้นต้น ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินฝากประจำดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 1 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหาข้อนี้ หาใช่เป็นฎีกานอกประเด็นดังที่โจทก์แก้ฎีกาไม่ เพราะจำเลยที่ 1 ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3