แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้นเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง และเมื่อศาลสั่งรับคำร้องแล้วให้ศาลสั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นสองวันติดต่อกันเพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง…” เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากบริษัทสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขณะจำเลยใช้รถยนต์คันนี้กระทำความผิดผู้ร้องยังผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ ผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 ณ – 2576 กรุงเทพมหานคร จึงไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิขอคืนรถยนต์ของกลางตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 วรรคสอง เมื่อผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องในประเด็นอื่นอีกเพราะไม่มีผลที่เปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาว่ามีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยผิดกฎหมายและโจทก์ยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ขอให้ริบทรัพย์สิน คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง หมายเลข 0 6709 3940 ซึ่งเป็นเครื่องมือในการติดต่อซื้อขายยาเสพติด และรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 ณ – 2576 กรุงเทพมหานคร ที่ใช้เป็นยานพาหนะในการนำส่งยาเสพติด ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 และ 31 ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายแล้ว
จำเลยแถลงไม่คัดค้าน
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้คืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 0 6709 3940 ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 และ 31 ส่วนคำขอให้ริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 ณ – 2576 กรุงเทพมหานคร ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 ณ – 2576 กรุงเทพมหานคร ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 และ 31 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาสมควรที่จะต้องวินิจฉัยก่อนว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิขอคืนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 ณ – 2576 กรุงเทพมหานคร หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้นเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง และเมื่อศาลสั่งรับคำร้องแล้วให้ศาลสั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นสองวันติดต่อกันเพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง…” เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากบริษัทสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขณะจำเลยใช้รถยนต์คันนี้กระทำความผิดผู้ร้องยังผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ ผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 ณ – 2576 กรุงเทพมหานคร จึงไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิขอคืนรถยนต์ของกลางตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30 วรรคสอง เมื่อผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องในประเด็นอื่นอีกเพราะไม่มีผลที่เปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน