คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8443/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามหนังสือขอยืมวงเงินตั๋วอาวัล เอกสารหมาย จ.4 บริษัท ส. ขอยืมวงเงินตั๋วอาวัลจากบริษัท สช. เป็นเงิน 9,518,738 บาท ซึ่งขณะนั้นกรรมการของบริษัท ส. มี 4 คน รวมโจทก์กับจำเลย ซึ่งหากต้องเฉลี่ยรับผิดในความเสียหายแล้วจะตกคนละ 2,379,684.50 บาท แต่ในเอกสารหมาย จ.4 ลงชื่อผู้ให้สัญญาเพียง 3 คน โดยไม่รวมจำเลยอยู่ด้วย ดังนั้น ความรับผิดของผู้ให้สัญญาแต่ละคนจะตกคนละ 3,172,912.67 บาท ซึ่งจำนวนเงินทั้งสองยอดดังกล่าวไม่ตรงกับจำนวนความรับผิดของโจทก์ จำนวน 2,139,184 บาท ตามที่โจทก์สั่งจ่ายเช็คตามฟ้อง ซึ่งโจทก์อ้างว่าต้องรับผิดจำนวนดังกล่าวลอย ๆ โดยไม่ได้ให้เหตุผลว่าเหตุใดจึงแตกต่างกันเช่นนั้น ทั้งไม่ปรากฏว่าการมอบเช็คให้จำเลยได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเป็นการสั่งจ่ายเพื่อค้ำประกันดังที่โจทก์อ้าง ทั้ง ๆ ที่เช็คมีจำนวนเงินสูงถึง 2,139,184 บาท และเป็นเช็คที่ออกในนามโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าโจทก์สั่งจ่ายเช็คเพื่อค้ำประกันการขอยืมวงเงินตั๋วอาวัลที่มีการชำระเงินแล้วตามฟ้อง จำเลยย่อมเป็นผู้ทรงเช็คดังกล่าว และนำไปสลักหลังมอบให้บุคคลอื่นได้ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 9,168,005.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์สั่งจ่ายเช็คตามฟ้อง จำนวนเงิน 2,139,184 บาท มอบให้จำเลย ต่อมาจำเลยสลักหลังเช็คดังกล่าวมอบให้นายวิรัตน์ นายวิรัตน์เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้จึงฟ้องโจทก์ในฐานะผู้สั่งจ่ายและจำเลยในฐานะผู้สลักหลัง คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คดังกล่าว และโจทก์ถูกบังคับคดียึดทรัพย์สินออกขายทอดตลาด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2539 บริษัทสามชัยบ้านและที่ดิน จำกัด ซึ่งโจทก์และจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนอยู่ด้วย ได้ขอยืมวงเงินตั๋วอาวัลของบริษัทสามชัยอุตสาหกรรมก่อสร้าง จำกัด ซึ่งมีจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนเพื่อใช้ซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง โดยบริษัทสามชัยบ้านและที่ดิน จำกัด ทำหนังสือเอกสารหมาย จ.4 มอบให้จำเลยไว้ สำหรับส่วนที่โจทก์ต้องรับผิดนั้นเป็นเงิน 2,139,184 บาท จำเลยให้โจทก์สั่งจ่ายเช็คตามฟ้องจำนวน 2,139,184 บาท มอบให้จำเลยเป็นการค้ำประกันกรณีเกิดความเสียหายขึ้น ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาประมาณปลายปี 2539 ถึงต้นปี 2540 บริษัทสามชัยบ้านและที่ดิน จำกัด ชำระหนี้ตามตั๋วอาวัล รวมเป็นเงิน 9,518,738 บาท ให้บริษัทสามชัยอุตสาหกรรมก่อสร้าง จำกัด แล้ว โดยไม่เกิดความเสียหายใด ๆ จำเลยจึงต้องคืนเช็คตามฟ้องแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่คืนให้ และเมื่อเดือนเมษายน 2542 จำเลยนำเช็คตามฟ้องไปสลักหลังมอบให้แก่นายวิรัตน์ไปดังกล่าวข้างต้น ส่วนจำเลยไม่สืบพยาน เห็นว่า ตามหนังสือขอยืมวงเงินตั๋วอาวัล เอกสารหมาย จ.4 บริษัทสามชัยบ้านและที่ดิน จำกัด ขอยืมวงเงินตั๋วอาวัลจากบริษัทสามชัยอุตสาหกรรมก่อสร้าง จำกัด เป็นเงิน 9,518,738 บาท ซึ่งขณะนั้นกรรมการของบริษัทสามชัยบ้านและที่ดิน จำกัด มี 4 คน รวมโจทก์กับจำเลย ซึ่งหากต้องเฉลี่ยรับผิดในความเสียหายแล้วจะตกคนละ 2,379,684.50 บาท แต่ในเอกสารหมาย จ.4 ลงชื่อผู้ให้สัญญาเพียง 3 คน โดยไม่รวมจำเลยอยู่ด้วย ดังนั้น ความรับผิดของผู้ให้สัญญาแต่ละคนจะตกคนละ 3,172,912.67 บาท ซึ่งจำนวนเงินทั้งสองยอดดังกล่าวล้วนแต่ไม่ตรงกับจำนวนความรับผิดของโจทก์ จำนวน 2,139,184 บาท ตามที่โจทก์สั่งจ่ายเช็คตามฟ้อง ซึ่งโจทก์อ้างว่าต้องรับผิดจำนวนดังกล่าวลอย ๆ โดยมิได้ให้เหตุผลว่าเหตุใดจึงแตกต่างกันเช่นนั้น นอกจากนี้ โจทก์ยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2540 จำเลยเรียกประชุมกรรมการบริษัทสามชัยบ้านและที่ดิน จำกัด เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ขณะนั้นบริษัทมีหนี้เท่าใด โจทก์เห็นว่าไม่มีรายละเอียดว่าเพราะเหตุใดจึงมีหนี้ตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.3 ที่นำมาให้ลงชื่อและเห็นว่าไม่ได้มีหนี้สูงถึงขนาดนั้น จึงไม่ลงชื่อในเอกสารดังกล่าว และเบิกความต่อไปว่า เอกสารหมาย ล.3 มีข้อความว่าโจทก์สั่งจ่ายเช็คตามฟ้องให้แก่จำเลย ทั้งนี้ หากเช็คตามฟ้องเป็นเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายเพื่อค้ำประกันในการขอยืมวงเงินตั๋วอาวัลตามเอกสารหมาย จ.4 และมีการจ่ายเงินตามวงเงินตั๋วอาวัลครบถ้วน ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2539 ถึงต้นปี 2540 ซึ่งน่าจะเป็นเวลาก่อนการประชุม ดังที่โจทก์อ้างแล้ว โจทก์ก็ควรโต้แย้งเรื่องดังกล่าวในที่ประชุม แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้โต้แย้งถึงเรื่องดังกล่าวซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดวิสัย ทั้งไม่ปรากฏว่าการมอบเช็คให้จำเลยได้มีการบันทึกกันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเป็นการสั่งจ่ายเพื่อค้ำประกันดังที่โจทก์อ้าง ทั้ง ๆ ที่เช็คดังกล่าวมีจำนวนเงินสูงถึง 2,139,184 บาท และเป็นเช็คที่ออกในนามของโจทก์ ซึ่งโจทก์ย่อมจะต้องทราบดีว่าอาจมีผลผูกพันโจทก์ได้ จึงนับว่าเป็นเรื่องที่ผิดวิสัยอีกประการหนึ่งเช่นกัน พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าโจทก์สั่งจ่ายเช็คเพื่อค้ำประกันการขอยืมวงเงินตั๋วอาวัลที่มีการชำระเงินแล้วตามฟ้อง จำเลยย่อมเป็นผู้ทรงเช็คดังกล่าว และนำไปสลักหลังมอบให้บุคคลอื่นได้ โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาอื่นของโจทก์อีก เพราะไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share