คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1848/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521มาตรา89, 102 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้ง และสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเริ่มแต่วันเลือกตั้ง และตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 100 บัญญัติไว้มีข้อความสำคัญว่า ผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องได้คะแนนมากที่สุด ในกรณีที่เขตเลือกตั้งใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มากกว่าหนึ่งคน ให้ผู้สมัครซึ่งมีคะแนนมากตามลำดับลงมาเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง แสดงว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมมีได้แต่โดยการเลือกตั้ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แม้จำเลยจะได้ประกาศต่อสาธารณชนและรายงานไปยังกระทรวงมหาดไทยว่าผลของการรวมคะแนน โจทก์เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ตราบใดที่จำเลยยังมิได้ประกาศผลการเลือกตั้งตามแบบ ส.ส.25 จำเลยย่อมมีอำนาจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดในการรวมคะแนนให้ถูกต้องได้
หาก พ. ผู้ซึ่งจำเลยได้ประกาศผลการเลือกตั้งตามแบบ ส.ส.25 และออกหนังสือรับรองการได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามแบบ ส.ส.27 ให้นั้นเป็นผู้ซึ่งมีคะแนนน้อยกว่าโจทก์แล้ว โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ตาม มาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า การที่จำเลยได้รวมยอดคะแนนการเลือกตั้งแล้วประกาศรายชื่อผู้ได้รับการเลือกตั้งซึ่งมีโจทก์อยู่ด้วย และรายงานไปยังกระทรวงมหาดไทยกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ต่อมาแม้จำเลยจะอ้างว่าการรวมคะแนนผิดพลาด จำเลยก็ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะมาลบล้างประกาศผลการเลืกตั้งดังกล่าวได้ ดังนั้น การที่จำเลยออกหนังสือรับรองการได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้แก่นายพิภพ อะสีติรัตน์แทนโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า โจทก์เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้จำเลยออกหนังสือรับรองให้โจทก์ และให้เพิกถอนประกาศผลการเลือกตั้งตามแบบ ส.ส.๒๕ และใบรับรองการได้รับเลือกตั้งตามแบบ ส.ส.๒๗ ที่จำเลยออกให้แก่นายพิภพ อะสีรัตน์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้แจ้งผลการรวมคะแนนของผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีโจทก์อยู่ด้วยให้ผู้แทนสื่อมวลชนทราบอย่างไม่เป็นทางการก่อน เพราะยังมิได้ประกาศผลการเลือกตั้งเป็นทางการในแบบ ส.ส.๒๕ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งนี้เป็นการอำนวยความสะดวก เพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารรวดเร็วเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาก่อนที่จะประกาศเป็นทางการตามแบบ ส.ส.๒๕ ได้ตรวจพบว่ามีการผิดพลาดที่มิได้เกิดโดยความจงใจหรือทุจริตในการรวมคะแนน จึงได้แก้ไขใหม่ให้ถูกต้องตามจริงซึ่งจำเลยมีอำนาจที่จะกระทำได้ ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งคือนายพิภพ อะสีติรัตน์จำเลยจึงได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องผลการเลือกตั้ง (ส.ส.๒๕)ระบุชื่อผู้ได้รับเลือกตั้งซึ่งมิใช่โจทก์แล้วส่งประกาศผลการเลือกตั้งดังกล่าวและรายงานแสดงผลของการนับคะแนนให้กระทรวงมหาดไทยทราบตามกฎหมายเมื่อโจทก์ไม่ได้รับเลือกตั้งจำเลยจึงออกหนังสือรับรองการได้รับเลือกตั้งตามแบบ ส.ส.๒๗ ให้โจทก์ไม่ได้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเป็นคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดการชี้สองสถาน พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาเป็นข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ เห็นว่าตามคำฟ้องมิได้กล่าวอ้างว่าการเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครเขตเลือกตั้งที่ ๘ หรือการที่นายพิภพ อะสีติรัตน์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ ๘ เป็นไปโดยมิชอบด้วยเหตุผลอย่างหนึ่งอย่างใดได้แต่อ้างว่าการที่จำเลยประกาศต่อสาธารณชนว่าโจทก์ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วต้องถือว่าถูกต้อง แม้การรวมคะแนนจะผิดพลาด จำเลยก็ไม่มีอำนาจที่จะลบล้างประกาศนั้นได้ อันเป็นการฟ้องโดยอาศัยประกาศของจำเลยมาเป็นมูล ตามรัฐธรรมนูญประกาศนั้นได้ อันเป็นการฟ้องโดยอาศัยประกาศของจำเลยมาเป็นมูลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ มาตรา ๘๙และมาตรา ๑๐๒ กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้ง และสมาชิกสภาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเริ่มแต่วันเลือกตั้งและตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒มาตรา ๑๐๐ บัญญัติไว้มีข้อความสำคัญว่า ผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องได้คะแนนมากที่สุด ในกรณีที่เขตเลือกตั้งใดมีการเลืกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มากกว่าหนึ่งคน ให้ผู้สมัครซึ่งมีคะแนนมากตามลำดับลงมาเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ซึ่งแสดงว่าสมาชิกสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมมีได้แต่โดยการเลือกตั้งแม้พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙๖ จะบัญญัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งหมายความรวมถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วยประกาศผลการเลือกตั้ง แต่ผลการเลือกตั้งนั้นก็จะต้องได้มาจากการรวมยอดคะแนนการเลือกตั้งโดยถูกต้อง นอกจากนี้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๘๖ ยังกำหนดไว้ว่าเมื่อมีผลที่สุดแห่งการเลือกตั้งปรากฏว่าผู้ใดได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศการเลือกตั้งตามแบบ ส.ส.๒๕และให้ปิดประกาศดังกล่าวไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอที่ว่าการกิ่งอำเภอ และสำนักงานเทศบาลทุกแห่งในจังหวัดนั้นแห่งละหนึ่งฉบับแต่ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ประกาศผลการเลือกตั้งตามแบบ ส.ส.๒๕ และปิดประกาศนั้นไว้ ณ สถานที่ต่าง ๆ ตามที่กำหนดในระเบียบกระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใด ดังนั้นถึงหากจำเลยจะได้รับประะกาศต่อสาธารณชนและรายงานไปยังกระทรวงมหาดไทยว่าผลของการรวมยอดคะแนนโจทก์เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ตราบใดที่จำเลยยังมิได้ประกาศผลการเลือกตั้งตามแบบ ส.ส.๒๕ จำเลยย่อมมีอำนาจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดให้ถูกต้องได้ โจทก์อ้างเอาประกาศที่ผิดพลาดนั้นมาเป็นประโยชน์หาได้ไม่หากนายพิภพ อะสีติรัตน์ ผู้ซึ่งจำเลยประกาศผลการเลือกตั้งตามแบบ ส.ส.๒๕ และออกหนังสือรับรองการได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้นั้นเป็นผู้ซึ่งมีคะแนนน้อยกว่าโจทก์ โจทก์ก็จะต้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา ๗๘ แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวินิจฉัยดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ย่อมตกไปทั้งหมด คดีไม่จำเป็นที่จะต้องมีการชี้สองสถานและสืบพยาน
พิพากษายืน

Share