แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่ ธ. ขับ ซึ่งโจทก์ได้แนบกรมธรรม์ประกันภัยไว้ท้ายฟ้องซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวได้ระบุถึงความรับผิดของโจทก์ว่า หากรถยนต์ที่รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย บริษัทมีสิทธิจัดการซ่อม และโจทก์ยังได้บรรยายฟ้องต่อไปอีกว่า โจทก์ได้จัดการซ่อมและส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวคืนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 บัญญัติว่า ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปเมื่อใดก็เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 ฐ – 4111 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนางสาวธันยาภรณ์ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2539 จำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 ฮ – 5490 กรุงเทพมหานคร ด้วยความประมาทเลินเล่อโดยไม่หยุดรถและไม่ดูรถในทางเดินรถสายเอกเข้าสู่สี่แยกที่เกิดเหตุด้วยความเร็วสูง และแล่นตัดหน้ารถของนางสาวธันยาภรณ์ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้ในระยะกระชั้นชิดทำให้รถของจำเลยเฉี่ยวชนกับรถของนางสาวธันยาภรณ์ เป็นเหตุให้รถคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ซ่อมแซมรถยนต์และส่งมอบรถยนต์ให้แก่นางสาวธันยาภรณ์ไปแล้วเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 750,000 บาท จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องคดีนี้ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์คิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 750,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 750,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เหตุละเมิดในคดีนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของนางสาวธันยาภรณ์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากมิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าโจทก์ได้ชำระค่าเสียหาย อันเป็นฐานแห่งการคิดดอกเบี้ยและอายุความในคดีนี้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปตั้งแต่เมื่อใด และค่าเสียหายที่โจทก์เรียกสูงเกินจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 475,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ 10 เมษายน 2540) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 600,000 บาท ให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นางสาวธันยาภรณ์ เพ็งจั่น ขับรถยนต์หมายเลขทะบียน 5 ฐ – 4111 กรุงเทพมหานคร ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้มาตามถนนสายชะอำ – ปราณบุรี ส่วนจำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 ฮ – 5490 กรุงเทพมหานคร มาตามถนนสายหนองพลับ – หัวหิน เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นบริเวณสี่แยกที่ถนนทั้งสองเส้นดังกล่าวตัดกัน รถทั้งสองคันได้เฉี่ยวชนกัน เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย บริเวณสี่แยกที่เกิดเหตุในทางเดินรถที่จำเลยขับมาเป็นทางโทและก่อนจะถึงสี่แยกมีเครื่องหมายจราจรมีข้อความ “หยุด” ปักอยู่ข้างถนน ส่วนในทางเดินรถที่นางสาวธันยาภรณ์ขับมาเป็นทางเอก คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาอ้างว่าคำฟ้องโจทก์ข้อ 3 และเอกสารหมายเลข 6 ท้ายฟ้องเป็นเอกสารที่โจทก์จัดทำขึ้นฝ่ายเดียว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ (ลูกค้าเอาประกันภัย) ไปวันเวลาใดเอกสารดังกล่าวจึงไม่เป็นหลักฐานอันเก่อให้เกิดการรับช่วงสิทธิของโจทก์ได้คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่อาจทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่า การที่โจทก์อ้างมูลหนี้การรับช่วงสิทธิเกิดขึ้นเมื่อใด จึงเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยต์คันที่นางสาวธันยาภรณ์ขับ ซึ่งโจทก์ได้แนบเอกสารกรมธรรม์ประกันภัยไว้ท้ายฟ้องตามเอกสารหมายเลข 3 ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวข้อ 3.1 และข้อ 3.5.1 ได้ระบุถึงความรับผิดของโจทก์ว่าหากรถยนต์ที่รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายบริษัทมีสิทธิจัดการซ่อมและโจทก์ยังได้บรรยายฟ้องต่อไปอีกว่า โจทก์ได้จัดการซ่อมและส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวคืนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 บัญญัติว่า ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้น เพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปเมื่อใดก็เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนางสาวธันยาภรณ์หรือจำเลย เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าบริเวณสี่แยกที่เกิดเหตุในทางเดินรถที่จำเลยขับมาก่อนจะถึงสี่แยกมีเครื่องหมายจราจรว่า “หยุด” ปักอยู่ข้างถนน เครื่องหมายดังกล่าวตามข้อกำหนดกรมตำรวจเรื่องสัญญาณจราจร เครื่องหมายจราจร และความหมายของสัญญาจราจร และเครื่องหมายจราจร ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ในส่วนที่ว่าด้วยเครื่องหมายจราจรประเภทบังคับข้อ 8 ให้ผู้ขับรถปฏิบัติตามความหมายแห่งเครื่องหมายนั้นๆ ดังต่อไปนี้ (1) เครื่องหมาย “หยุด” หมายความว่า รถทุกชนิดต้องหยุดให้รถและคนเดินเท้าในทางขวางหน้าผ่านไปก่อน เมื่อเห็นว่าปลอดภัยและไม่เป็นการกีดขวางการจราจรที่บริเวณทางแยกนั้นแล้วจึงให้เคลื่อนรถต่อไปด้วยความระมัดระวัง ซึ่งนายชุมพล เกตุจันทร์ พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า พยานขับรถบรรทุก 6 ล้อมาตามถนนสายหนองพลับ – ป่าละอู เพื่อจะไปทางอำเภอปราณบุรี เมื่อมาถึงบริเวณสี่แยกที่เกิดเหตุ พยานโจทก์จอดรถเนื่องจากมีรถคันที่นางสาวธันยาภรณ์ขับมาจากทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มุ่งหน้าไปกรุงเทพมหานครตามถนนสายชะอำ – ปราณบุรี ส่วนจำเลยขับรถจากอำเภอหัวหินมุ่งหน้าไปทางป่าละอูตามถนนสายหนองพลับ – หัวหิน จำเลยขับรถเข้าสี่แยกโดยไม่ได้หยุดรถ ในขณะที่รถคันที่นางสาวธันยาภรณ์ขับอยู่ห่างจากพยานประมาณ 40 เมตร เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกัน โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในทางเดินรถที่นางสาวธันยาภรณ์ขับรถมามีเครื่องหมายจราจรบังคับให้หยุดเหมือนทางเดินรถที่จำเลยขับมา แสดงให้เห็นว่าเจ้าพนักงานจราจรต้องการให้ยานพาหนะในทางเดินรถที่จำเลยขับมาซึ่งเป็นทางร่วมทางแยกต้องหยุดรถให้รถในทางขวางผ่านไปก่อน เมื่อเห็นว่าปลอดภัยและไม่เป็นการกีดขวางการจราจรที่บริเวณสี่แยกนั้นแล้วจึงจะเคลื่อนต่อไปด้วยความระมัดระวัง แต่จำเลยไม่หยุดรถให้นางสาวธันยาภรณ์ขับรถผ่านสี่แยกที่เกิดเหตุไปก่อน จำเลยจึงเป็นฝ่ายฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร โดยขับรถตัดหน้ารถคันที่นางสาวธันยาภรณ์ขับโดยกะทันหัน นางสาวธันยาภรณ์จึงมิได้ประมาทเลินเล่อเหตุที่รถชนกันหาใช่เป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการที่นางสาวธันยาภรณ์มิได้ชะลอความเร็วของรถลงแต่อย่างใดไม่ ทั้งคดีนี้เดิมพนักงานอัยการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นในข้อหาประมาท ความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 คดีถึงที่สุดตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2876/2539 ของศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน