คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1774/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองต้องใช้แก่โจทก์เดือนละ 6,000 บาท ซึ่งเป็นการกำหนดค่าเสียหายจากจำนวนค่าเช่าที่จะได้จากการให้เช่าตึกแถวและที่ดินพิพาท โจทก์ไม่อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายสูงเกินไป ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน แม้จำเลยที่ 2 จะฎีกาปัญหานี้ต่อไป แต่ก็เป็นที่เห็นได้แน่นอนแล้วว่าตึกแถวและที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 6,000 บาท ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องขับไล่บุคคลออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง ซึ่งห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มิได้มีเจตนาประวิงคดีในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นก็ดี โดยสภาพและทำเลที่ตั้งของตึกแถวและที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้เพียงไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท ก็ดี ล้วนเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 7 อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทมาจากการขายทอดตลาด จำเลยทั้งสองอาศัยอยู่ในที่ดินและตึกแถวดังกล่าวก่อนที่โจทก์จะซื้อมาจากการขายทอดตลาดของศาล ต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองอยู่ในที่ดินและตึกแถวต่อไปจึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ที่ดินและตึกแถวอาจให้เช่าได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 12,000 บาท ค่าเสียหายดังกล่าวคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 40,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองพร้อมทั้งบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากตึกแถวและที่ดินของโจทก์แล้วส่งมอบตึกแถวและที่ดินในสภาพเรียบร้อยแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าเสียหายเดือนละ 12,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบตึกแถวและที่ดินในสภาพเรียบร้อยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินและตึกแถวพิพาท โจทก์มีคำเสนอขายที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ต้องเพิ่มเงินให้แก่โจทก์ 50,000 บาท จากราคาที่โจทก์ซื้อมา จำเลยที่ 2 มีคำเสนอตอบตกลง สัญญาซื้อขายที่ดินและตึกแถวพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 จึงสมบูรณ์แล้ว ต่อเมื่อถึงวันโอนทางทะเบียน โจทก์ไม่ยอมรับเงินและไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์ไม่ได้เสียหายตามฟ้องเนื่องจากตึกแถวพิพาทหากให้เช่าจะได้เช่าไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ 2 ประวิงคดี ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เลื่อนคดีและมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและตึกแถวพิพาท ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหาย 10,600 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 6,000 บาท นับแต่วันที่ 18 กันยายน 2543 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะส่งมอบที่ดินและตึกแถวพิพาทในสภาพเรียบร้อยแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากตึกแถวและที่ดินพิพาท จำเลยที่ 2 มิได้โต้แย้งกรรมสิทธิ์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าตึกแถวและที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 12,000 บาท จึงขอเรียกค่าเสียหายเดือนละ 12,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าอาจให้เช่าได้เพียงไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟังไม่ได้ว่าตึกแถวและที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้เดือนละ 12,000 บาท ดังฟ้อง แต่ตึกแถวและที่ดินพิพาทอยู่ในแหล่งธุรกิจ จึงกำหนดเป็นค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองต้องใช้แก่โจทก์เดือนละ 6,000 บาท ซึ่งเป็นการกำหนดค่าเสียหายจากจำนวนค่าเช่าที่จะได้จากการให้เช่าตึกแถวและที่ดินพิพาท โจทก์ไม่อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายสูงเกินไป ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน แม้จำเลยที่ 2 จะยังคงฎีกาปัญหานี้ต่อไปอีก แต่ก็เป็นที่เห็นได้แน่นอนแล้วว่าตึกแถวและที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 6,000 บาท ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องขับไล่บุคคลออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง ซึ่งห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มิได้มีเจตนาประวิงคดีในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นก็ดี โดยสภาพและทำเลที่ตั้งของตึกแถวและที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้เพียงไม่เกินเดือนละ 1,000 บาทก็ดี ล้วนเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 7 อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เพราะโจทก์ได้เสนอขายตึกแถวและที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้สนองตอบ สัญญาซื้อขายตึกแถวและที่ดินพิพาทจึงสมบูรณ์แล้วนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับฟัองข้อเท็จจริงว่า ข้อต่อสู้ดังกล่าวเป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอยๆ จำเลยที่ 2 ไม่มีพยานหลักฐานให้รับฟังดังที่ให้การ ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ขึ้น ดังนี้ ฎีกาดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 2 มีคำสนองถึงโจทก์แล้ว จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง เช่นเดียวกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 2

Share