คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2141/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดในความสูญหายและเสียหายของสินค้าตามฟ้องเพราะความสูญหายและเสียหายเกิดจากภยันตรายหรืออุบัติเหตุ แห่งท้องทะเลหรือน่านน้ำที่ใช้เดินเรือ ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าความเสียหายและสูญหายของสินค้าเกิดจากภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลหรือน่านน้ำที่ใช้เดินเรือจึงเป็นข้อเท็จจริงนอกประเด็นข้อพิพาท คู่ความย่อมไม่มีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 185 วรรคสองประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 แม้ศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งโจทก์และจำเลยได้นำสืบต่อสู้กันอย่างเต็มที่แล้ว ไม่มีฝ่ายใดเสียเปรียบได้เปรียบแก่กัน ก็ไม่มีบทบัญญัติใดหรือข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศข้อใดให้อำนาจศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงนอกประเด็นข้อพิพาทและนำมาวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้
สินค้าที่เสียหายเป็นแผ่นเหล็กรีดเย็นมีลักษณะม้วนเป็นวงกลมทบกันหลายชั้น แต่ละม้วนมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 2,000 กิโลกรัม และมีสิ่งห่อหุ้มมิดชิดป้องกันไม่ให้ถูกน้ำเพื่อให้เหมาะสมแก่การขนส่ง และในใบตราส่งก็มีการระบุจำนวนสินค้าเป็นม้วนที่บรรจุในตู้สินค้าแต่ละตู้ไว้ชัดเจน ดังนั้น แผ่นเหล็กรีดเย็น 1 ม้วนย่อมถือเป็น 1 หน่วยการขนส่ง เมื่อสินค้าแผ่นเหล็กรีดเย็นที่เสียหายและสูญหายดังกล่าวแต่ละม้วนมีน้ำหนักมากไม่ต่ำกว่า 2,000 กิโลกรัม การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งจึงต้องคำนวณเป็นจำนวนเงินตามน้ำหนักสุทธิของม้วนแผ่นเหล็กรีดเย็นที่เสียหายและสูญหายในอัตรากิโลกรัมละ 30 บาท เพราะจะมีจำนวนเงินมากกว่า การคำนวณจากหน่วยการขนส่งในอัตราม้วนละ 10,000 บาท ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 58 และมาตรา 61
จำนวนเงินค่าเสียหายของสินค้าต้องคิดราคาในเวลาส่งมอบสินค้า ณ ท่าปลายทางคือวันที่ 24 สิงหาคม จึงใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทในวันดังกล่าวเป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคิดค่าเสียหายของสินค้าเป็นเงินบาทแต่เมื่อคู่ความไม่ได้นำสืบถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในวันดังกล่าวจึงเห็นสมควรกำหนดให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทในอัตราขายถัวเฉลี่ยของเงินสกุลต่าง ๆ ณ สิ้นวันทำการประจำวันที่ 24 สิงหาคม ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ หากไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าว ให้ถือเอาอัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศดังกล่าวที่มีในวันสุดท้ายก่อนวันที่ 24 สิงหาคม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินจำนวน 5,807,330.73 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 5,612,087.51 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งอื่นที่ได้รับมอบหมายจากผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งสินค้าตามฟ้อง สินค้าตามฟ้องเสียหายและสูญหายโดยเหตุแห่งการเสียหายและสูญหายเกิดขึ้นระหว่างสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้เกิดเพราะสภาพแห่งสินค้าหรือเพราะความผิดของผู้ส่งของหรือผู้รับตราส่ง อย่างไรก็ตามเหตุที่ทำให้สินค้าเสียหายและสูญหายเกิดขึ้นจากภยันตรายแห่งท้องทะเล ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 52(2) จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดและไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่เหลืออีกต่อไป พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2540 บริษัทไทยน็อกซ์ สตีล จำกัด ได้ตกลงขายสินค้าเหล็กรีดเย็นให้แก่ผู้ซื้อ 2 ราย ซึ่งอยู่ที่ประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยขายให้แก่บริษัท ดี.ดับบลิว.แอล. อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้ง (เทียนจิน) อินคอร์ปอเรชั่น 2 รายการ รวม 25 ม้วนและขายให้แก่บริษัทเทียนจิน อิเล็คโทรนิกส์ แอนด์ อินสทรูเมนต์ อิมพอร์ต แอนด์ เอ็กซ์พอร์ต คอร์ปอเรชั่น 1 รายการ จำนวน 14 ม้วน ตามลำดับบริษัทไทยน็อกซ์ สตีล จำกัด ได้ว่าจ้างจำเลยทั้งสองขนส่งสินค้าเหล็กรีดเย็นดังกล่าวทั้งหมดเป็นจำนวนรวม 39 ม้วน ทางทะเลจากท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ไปยังท่าเรือเมืองเทียนจินประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และบริษัทไทน็อกซ์ สตีล จำกัด ได้เอาประกันภัยสินค้าทั้งหมดไว้แก่โจทก์ โดยตกลงให้ผู้ซื้อเป็นผู้รับประโยชน์ในวงเงินรวม 334,708.53 ดอลลาร์สหรัฐ ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.6 สินค้าดังกล่าวบรรจุในตู้สินค้าจำนวน 8 ตู้ ถูกขนลงเรือของจำเลยที่ 2 และเดินทางไปถึงท่าเรือเมืองเทียนจิน ปรากฏว่าสินค้าเกิดความเสียหายและสูญหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง โดยความเสียหายและสูญหายของสินค้ามิได้เกิดขึ้นหรือเป็นผลมาจากสภาพของสินค้า และมิได้เกิดจากความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง โจทก์ได้ว่าจ้างบริษัทเทียนจิน เทด้า ฮั่วไท้ อินชัวรันซ์ เอเจนซี่ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้เป็นผู้สำรวจความเสียหาย บริษัทผู้สำรวจรายงานสาเหตุของความเสียหายว่าเกิดขึ้นเนื่องจากระหว่างการขนส่งทางทะเลเกิดสภาพภูมิอากาศไม่ดีตามเอกสารหมาย จ.7และ จ.8 และนายเรือโคตา มาจู ได้ทำหนังสือโต้แย้งไว้ว่าความเสียหายของสินค้าบนเรือเกิดจากเรือประสบกับสภาพอากาศไม่ค่อยดีขณะที่อยู่ทางตอนเหนือของดินแดนไต้หวัน และวันต่อมาขณะเรือแล่นอยู่ทางตะวันออกของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเรือปะทะกับคลื่นขนาดใหญ่ตลอดจนลมพายุที่แรงตั้งแต่ระดับ 7 ถึง 10 เรือจึงเริ่มหมุน และมีการเอียงเป็นบางครั้ง มีน้ำทะเลกระเซ็นเข้ามาในเรือ ทำให้สินค้าและเรือได้รับความเสียหายตามเอกสารหมาย จ.14 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เป็นอันดับแรกว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ความเสียหายและสูญหายของสินค้าตามฟ้องเกิดจากภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลหรือน่านน้ำที่ใช้เดินเรือเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท ซึ่งเป็นการไม่ชอบหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเหตุยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 52(2) ซึ่งจำเลยทั้งสองในฐานะผู้ขนส่งจะต้องยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ เพื่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท ทั้งจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบพิสูจน์ว่ามีข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดขึ้นจริง จึงจะได้รับยกเว้นความรับผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว แต่สำหรับคดีนี้จำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้คดีว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในความสูญหายและเสียหายของสินค้าตามฟ้อง เพราะความสูญหายและเสียหายเกิดจากภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลหรือน่านน้ำที่ใช้เดินเรือ ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าความเสียหายและสูญหายของสินค้าเกิดจากภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลหรือน่านน้ำที่ใช้เดินเรือจึงเป็นข้อเท็จจริงนอกประเด็นข้อพิพาท คู่ความย่อมไม่มีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองได้นำสืบต่อสู้กันอย่างเต็มที่แล้ว ไม่มีฝ่ายใดเสียเปรียบได้เปรียบแก่กัน ก็ไม่มีบทบัญญัติใดแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. 2539 หรือข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศข้อใดให้อำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังข้อเท็จจริงนอกประเด็นข้อพิพาทและนำมาวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ความเสียหายและสูญหายของสินค้าตามฟ้องเกิดจากภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลหรือน่านน้ำที่ใช้เดินเรือจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดและพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่มีการนำสืบนอกเหนือประเด็นข้อพิพาทไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าความเสียหายหรือสูญหายของสินค้าเกิดจากภยันตรายหรืออุบัติเหตุแห่งท้องทะเลหรือน่านน้ำที่ใช้เดินเรือ และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่เหลือต่อไปให้ครบทุกข้อ เมื่อศาลดังกล่าวมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่เหลือ จึงเป็นกรณีที่ศาลดังกล่าวมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง แต่เมื่อปรากฏว่าคู่ความได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบตามประเด็นข้อพิพาททุกข้อจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรวินิจฉัยชี้ขาดคดีตามประเด็นข้อพิพาทที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังมิได้วินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลดังกล่าวพิพากษาใหม่ซึ่งมีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นข้อแรกว่า ความเสียหายของสินค้าตามฟ้องมีเพียงใด และโจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยไปแล้วหรือไม่ จำนวนเท่าใด ปัญหานี้โจทก์อ้างส่งรายงานสำรวจความเสียหายของสินค้าของบริษัทเทียนจิน เทต้า ฮั่วไท้ อินชัวรันซ์ เอเจนซี่ แอนด์ คอนซัลแต้นท์ จำกัด ผู้สำรวจความเสียหายตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 รวมทั้งรายการพิจารณาใช้ค่าเสียหายตามเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 โดยมีนายสาคร สุดสะอาด ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสินไหมทั่วไปของโจทก์ส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและมาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวว่า สินค้า 2 รายการแรกสูญหายไป 4 ม้วน และได้รับความเสียหาย บุบงอกับเกิดสนิมจนเสียหายสิ้นเชิง จำนวน 1 ม้วน เสียหายบางส่วนจากการเกิดสนิมและบุบ จำนวน 16 ม้วน คิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 118,844.96 ดอลลาร์สหรัฐ สินค้ารายการที่ 3 ได้รับความเสียหายโดยบุบและเกิดสนิม จำนวน 5 ม้วน คิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 12,698.78ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายของสินค้า 2 รายการแรก จำนวน 118,844.96 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่บริษัท ดี.ดับบลิว.แอล อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้ง (เทียนจิน) อินคอร์ปอเรชั่น เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2541 ตามใบรับช่วงสิทธิเอกสารหมาย จ.9 โดยในวันดังกล่าวมีอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐกับเงินบาทในอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 42.60 บาท จึงคำนวณเป็นเงินบาทได้ 5,062,795.20 บาท และโจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายของสินค้ารายการที่ 3 จำนวน 12,698.78 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่บริษัทเทียนจิน อิเล็คโทรนิกส์ แอนด์ อินสทรูเมนต์ อิมพอร์ตแอนด์ เอ็กซ์พอร์ต คอร์ปอเรชั่น เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2541 ตามใบรับช่วงสิทธิเอกสารหมาย จ.10 ในวันดังกล่าวมีอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐกับเงินบาทในอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 43.25 บาท คำนวณเป็นเงินบาทได้ 549,292.31 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองมิได้นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า สินค้าตามฟ้องได้รับความเสียหายและสูญหายในระหว่างการขนส่งทางทะเล รวม 26 ม้วน และโจทก์ผู้รับประกันภัยสินค้านี้ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ซื้อทั้งสองรายไปแล้วเป็นเงินรวมทั้งสิ้นจำนวน131,543.74 ดอลลาร์สหรัฐ คำนวณเป็นเงินไทยได้จำนวน 5,612,087.51บาท โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้ซื้อทั้งสองรายมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขนส่งสินค้าได้

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 46 ได้บัญญัติให้ผู้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการสูญหายหรือเสียหายของสินค้าจากผู้ขนส่ง ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้า จำเลยที่ 2 นำสืบโดยส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายสรรเสริญเตชะบูรพา ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ยืนยันว่า จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าแล้วตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2540 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2541 จึงเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขนส่งส่งมอบสินค้า แม้นายสรรเสริญจะมาเบิกความรับรองความถูกต้องของบันทึกถ้อยคำของตนดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้แสดงหลักฐานสนับสนุนข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม2540 แต่อย่างใด ทั้งกลับปรากฏจากหนังสือโต้แย้งของนายเรือโคตา มาจู ตามเอกสารหมาย จ.14 ซึ่งมีโนตารีปับลิกแห่งเมืองดาเหลียน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน รับรอง ระบุว่าเรือที่ขนส่งสินค้าเดินทางถึงเมืองดาเหลียนในวันที่ 22 สิงหาคม 2540 และตามรายงานการตรวจสอบสินค้าเอกสารหมาย จ.15 ระบุว่าเริ่มตรวจสอบสินค้ากันเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2540 สอดคล้องกับรายงานสำรวจความเสียหายของผู้สำรวจภัยเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 และทางนำสืบของโจทก์ที่ยืนยันว่า เรือโคตา มาจู เดินทางไปถึงท่าเรือเมืองเทียนจินเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2540 และได้ขนสินค้าขึ้นจากเรือแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม2540 ทั้งนายสรรเสริญ ได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า จากเอกสารหมาย จ.14 และ จ.15 เชื่อว่า เรือได้เดินทางไปถึงท่าซิงดัง เมืองเทียนจินในวันที่ 23 สิงหาคม 2540 ดังนี้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้ยิ่งกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าตามฟ้องเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม2540 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2541 ยังไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดในความเสียหายและสูญหายของสินค้าทั้ง 26 ม้วน เป็นจำนวนเงินเท่าใด ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ความเสียหายและสูญหายของสินค้าดังกล่าวไม่เข้ากรณีดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 60 ดังนั้น ความรับผิดของจำเลยทั้งสองในฐานะผู้ขนส่งต่อความเสียหายและสูญหายของสินค้าจึงมีจำนวนเงินจำกัดตามมาตรา 58 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งบัญญัติให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียง 10,000 บาท ต่อ1 หน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละ 30 บาท ต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้น แล้วแต่เงินจำนวนใดจะมากกว่า แต่ในกรณีที่คำนวณราคาของหรือสินค้าที่สูญหายหรือเสียหายได้ตามมาตรา 61 แล้ว ปรากฏว่าราคาของนั้นต่ำกว่าที่จำกัดความรับผิดไว้ดังกล่าวข้างต้น ให้ถือเอาตามราคาที่คำนวณได้นั้น โดยในการคำนวณราคาของที่สูญหายหรือเสียหายมีหลักเกณฑ์ตามมาตรา 61 กล่าวคือ ในกรณีของสูญหายหรือเสียหายทั้งหมด ให้คำนวณเท่ากับราคาที่ของนั้นจะพึงมีในเวลาที่พึงส่งมอบ ณ ท่าปลายทาง ถ้าของสูญหายหรือเสียหายบางส่วนให้คำนวณตามส่วนโดยเทียบกับราคาของอย่างเดียวกันและคุณภาพเท่าเทียมกันที่ยังเหลืออยู่ในเวลาส่งมอบ ณ ท่าปลายทาง ข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่า สินค้าที่เสียหายเป็นแผ่นเหล็กรีดเย็นมีลักษณะม้วนเป็นวงกลมทบกันหลายชั้นแต่ละม้วนมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 2,000 กิโลกรัมและมีสิ่งห่อหุ้มมิดชิดป้องกันไม่ให้ถูกน้ำเพื่อให้เหมาะสมแก่การขนส่ง และในใบตราส่งเอกสารหมาย จ.3 จ.4 และ จ.5 ก็มีการระบุจำนวนสินค้าเป็นม้วนที่บรรจุในตู้สินค้าแต่ละตู้ไว้ชัดเจน ดังนั้น แผ่นเหล็กรีดเย็น 1 ม้วน ย่อมถือเป็น1 หน่วยการขนส่ง เมื่อสินค้าแผ่นเหล็กรีดเย็นที่เสียหายและสูญหายดังกล่าวแต่ละม้วนมีน้ำหนักมากไม่ต่ำกว่า 2,000 กิโลกรัม ดังกล่าวดังนี้ การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งจึงต้องคำนวณเป็นจำนวนเงินตามน้ำหนักสุทธิของม้วนแผ่นเหล็กรีดเย็นที่เสียหายและสูญหายในอัตรากิโลกรัมละ 30 บาท เพราะจะมีจำนวนเงินมากกว่าการคำนวณจากหน่วยการขนส่งในอัตราม้วนละ 10,000 บาท และเมื่อพิจารณาตามรายงานการสำรวจความเสียหาย เอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 กับรายงานการพิจารณาใช้ค่าเสียหายเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 ปรากฏว่า สินค้าเหล็กรีดเย็นที่จำเลยทั้งสองขนส่งโดยมีการออกใบตราส่ง3 ฉบับ และโจทก์รับประกันภัยไว้ตามกรมธรรม์ประกัน 3 ฉบับ แยกเป็น3 รายการ รายการที่ 1 จำนวน 8 ม้วน รายการที่ 2 จำนวน 17 ม้วน และรายการที่ 3 จำนวน 14 ม้วน รวม 39 ม้วน สินค้าดังกล่าวสูญหายและเสียหาย โดยสินค้ารายการที่ 1 และที่ 2 สูญหาย 4 ม้วน เสียหาย 17 ม้วน และสินค้ารายการที่ 3 เสียหาย 5 ม้วน รวมเป็นสินค้าทั้งสามรายการที่สูญหายและเสียหาย 26 ม้วน ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้ ฯลฯ

จำนวนเงินค่าเสียหายที่แท้จริงของสินค้าแต่ละม้วนกับจำนวนเงินจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งของสินค้าแต่ละม้วนดังกล่าวมาข้างต้นนี้ในส่วนจำนวนเงินค่าเสียหายของสินค้าต้องคิดราคาในเวลาส่งมอบสินค้าณ ท่าปลายทาง คือวันที่ 24 สิงหาคม 2540 ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว จึงใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทในวันดังกล่าวเป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคิดค่าความเสียหายของสินค้าเป็นเงินบาท หากคิดเป็นเงินบาทแล้วมีจำนวนเงินเกินจำนวนเงินที่จำกัดความรับผิด จำเลยทั้งสองก็ต้องรับผิดเพียงจำนวนเงินที่จำกัดความรับผิดกิโลกรัมละ 30 บาท ดังที่ได้คิดคำนวณไว้ข้างต้นแล้ว แต่ถ้าคิดค่าเสียหายเป็นเงินบาทได้ต่ำกว่าจำนวนเงินที่จำกัดความรับผิด จำเลยทั้งสองก็ต้องรับผิดตามจำนวนความเสียหายที่คิดเป็นเงินบาทซึ่งต่ำกว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 58 และ 61 ดังกล่าวข้างต้น แต่ตามสำนวนคู่ความไม่ได้นำสืบถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในวันที่ 24 สิงหาคม 2540 ดังกล่าว จึงเห็นสมควรกำหนดให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทในอัตราขายถัวเฉลี่ยของเงินสกุลต่าง ๆ ณ สิ้นวันทำการประจำวันที่ 24 สิงหาคม2540 ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ หากไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ 24 สิงหาคม2540 ให้ถือเอาอัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศดังกล่าวที่มีในวันสุดท้ายก่อนวันที่ 24 สิงหาคม 2540 และจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดสำหรับสินค้าแต่ละม้วนตามเกณฑ์ที่วินิจฉัยมาข้างต้นนับแต่วันที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย โดยต้นเงินที่ต้องชำระสำหรับสินค้าม้วนที่ 1 ถึงที่ 21 ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2541 และต้นเงินที่ต้องชำระสำหรับสินค้าม้วนที่ 22 ถึงที่ 26 ให้คิดนับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์เป็นเงินบาทโดยให้คิดคำนวณจากจำนวนเงินค่าเสียหายของสินค้าเหล็กรีดเย็นแต่ละม้วนคือ ม้วนที่ 1 จำนวน 10,944.95 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ 2 จำนวน 10,979.80ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ 3 จำนวน 10,719.45 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ 4 จำนวน 9,306.42 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ 5 จำนวน 9,402.75 ดอลลาร์สหรัฐม้วนที่ 6 จำนวน 2,810.91 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ 7 จำนวน 5,076.50 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ 8 จำนวน 3,619.78 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ 9 จำนวน 3,370.66 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ 10 จำนวน 3,438.26 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ 11 จำนวน 3,540.03 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ 12 จำนวน 4,596.02 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ 13 จำนวน 3,756.35 ดอลลาร์สหรัฐม้วนที่ 14 จำนวน 3,797.47 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ 15 จำนวน 3,790.08 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ 16 จำนวน 3,485.66 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ 17 จำนวน 2,880.86 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ 18 จำนวน 2,890.94 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ 19 จำนวน 2,892.96 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ 20 จำนวน 3,266.59 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ 21 จำนวน 3,269.28 ดอลลาร์สหรัฐม้วนที่ 22 จำนวน 2,344.60 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ 23 จำนวน 2,079.36 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ 24 จำนวน 2,280.76 ดอลลาร์สหรัฐ ม้วนที่ 25 จำนวน 2,276.20 ดอลลาร์สหรัฐ และม้วนที่ 26 จำนวน 1,924.32 ดอลลาร์สหรัฐ นำมาคิดเป็นเงินบาทโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทในอัตราขายถัวเฉลี่ยของเงินสกุลต่าง ๆ ณ สิ้นวันทำการประจำวันที่ 24 สิงหาคม 2540 ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ หากกรณีเป็นวันหยุดทำการหรือมีเหตุอื่นที่ทำให้ไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวในวันที่ 24 สิงหาคม 2540 ให้ถือเอาอัตราแลกเปลี่ยนตามประกาศดังกล่าวที่มีในวันสุดท้ายก่อนวันที่ 24 สิงหาคม2540 และเมื่อคำนวณจำนวนเงินความเสียหายของสินค้าแต่ละม้วนเป็นเงินบาทดังกล่าวแล้ว ให้นำไปเปรียบเทียบกับจำนวนเงินจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งม้วนต่อม้วนดังต่อไปนี้ ม้วนที่ 1 จำนวน 160,170 บาท ม้วนที่ 2 จำนวน 160,680 บาท ม้วนที่ 3 จำนวน 156,870 บาท ม้วนที่ 4 จำนวน 128,070 บาท ม้วนที่ 5 จำนวน 161,190 บาท ม้วนที่ 6 จำนวน111,030 บาท ม้วนที่ 7 จำนวน 200,520 บาท ม้วนที่ 8 จำนวน 142,980 บาท ม้วนที่ 9 จำนวน 133,140 บาท ม้วนที่ 10 จำนวน 135,810 บาท ม้วนที่ 11 จำนวน 139,830 บาท ม้วนที่ 12 จำนวน 193,110 บาท ม้วนที่ 13 จำนวน 157,830 บาท ม้วนที่ 14 จำนวน 169,530 บาท ม้วนที่ 15 จำนวน 169,200 บาท ม้วนที่ 16 จำนวน 155,610 บาทม้วนที่ 17 จำนวน 128,610 บาท ม้วนที่ 18 จำนวน 129,060 บาทม้วนที่ 19 จำนวน 129,150 บาท ม้วนที่ 20 จำนวน 145,830 บาทม้วนที่ 21 จำนวน 145,950 บาท ม้วนที่ 22 จำนวน 92,550 บาท ม้วนที่ 23 จำนวน 82,080 บาท ม้วนที่ 24 จำนวน 90,030 บาท ม้วนที่ 25 จำนวน 89,850 บาท ม้วนที่ 26 จำนวน 75,960 บาท หากจำนวนเงินความเสียหายของสินค้าม้วนใดที่คิดเป็นเงินบาทแล้วต่ำกว่าจำนวนเงินจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งในม้วนนั้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามจำนวนความเสียหายที่ต่ำกว่านั้นแก่โจทก์ แต่ถ้าจำนวนเงินความเสียหายที่คิดเป็นเงินบาทม้วนใดสูงกว่าจำนวนเงินจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งในม้วนนั้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามจำนวนเงินจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่ต้องชำระดังกล่าวข้างต้นโดยจำนวนเงินสำหรับสินค้าม้วนที่ 1 ถึงที่ 21 ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 26กุมภาพันธ์2541 และจำนวนเงินสำหรับสินค้าม้วนที่ 22 ถึงที่ 26 ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share