คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1130/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ให้ ส. เป็นผู้ลงชื่อทำสัญญาก่อสร้างตึกแถวในที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.2 มี ศ. ซึ่งเป็นไวยาวัจกรของจำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นคู่สัญญา โจทก์เคยรู้จักกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสของจำเลยที่ 1 มาก่อน เคยเจรจาตกลงกับจำเลยที่ 2 เรื่องโจทก์ปรับปรุงที่ดินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เขียนข้อความว่า “อาตมารับทราบแล้ว” และลงชื่อไว้ท้ายสัญญาเอกสารหมาย จ.2 เป็นการยืนยันได้ว่า จำเลยที่ 2 ให้สัตยาบันหนังสือดังกล่าวให้มีผลสมบูรณ์ผูกพันจำเลยที่ 1 ให้รับผิดตามสัญญา อีกทั้งหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 ระบุให้ ศ. มีอำนาจดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด การที่ ศ. ไปลงชื่อตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2 โดยมีจำเลยที่ 2 ลงชื่อรับทราบไว้ท้ายสัญญาเพื่อให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างตึกแถวในที่ดินของจำเลยที่ 1 นั้น เป็นการจัดการศาสนสมบัติของวัดแล้ว กรณีไม่จำต้องทำหนังสือมอบอำนาจเป็นการเฉพาะเรื่องอีก จึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อของ ส.
กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ข้อ 2 ระบุว่า การกันที่ดินซึ่งเป็นที่วัดให้เป็นที่จัดประโยชน์จะกระทำได้ต่อเมื่อกรมการศาสนาเห็นชอบและได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม และข้อ 4 ระบุว่า การให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนาหรือที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์ที่มีกำหนดระยะเวลาเช่าเกิน 3 ปี จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนา แม้สัญญาก่อสร้างตึกแถวเอกสารหมาย จ. 2 จะไม่ใช่สัญญาเช่าโดยตรง แต่เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขในอนาคต เพราะขณะทำสัญญาโจทก์ยังไม่ได้ปลูกสร้างอาคารและอาคารเหล่านั้นก็ยังไม่มี แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็มีผลให้เห็นได้ในอนาคตว่า หากโจทก์ปลูกสร้างอาคารแล้วเสร็จตามสัญญาย่อมจะมีผลให้จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตามสัญญา คือให้โจทก์มีสิทธิหาผู้เช่ามาจดทะเบียนการเช่ามีกำหนด 30 ปี กับจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเป็นจะต้องขอความเห็นชอบจากกรมการศาสนาก่อน เมื่อสัญญาก่อสร้างตึกแถวดังกล่าวยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนาตามกฎกระทรวงจึงยังไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ยังไม่สามารถนำสัญญาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ แต่การที่จำเลยที่ 1 รับเงินค่าหน้าดินจากโจทก์และโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการฟ้องขับไล่ผู้เช่าเดิมเป็นเงินเจ็ดแสนกว่าบาท แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้โจทก์เข้าทำการก่อสร้างอาคารต่อไป ย่อมทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันปฏิบัติตามสัญญาก่อสร้างตึกแถว โดยให้จำเลยทั้งสองยื่นคำขออนุญาตต่อทางราชการเพื่อให้โจทก์ก่อสร้างอาคารตามแบบแปลนแผนผัง ลงชื่อในเอกสารต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการฟ้องขับไล่ผู้เช่าอาศัยในบริเวณที่ดินที่จะก่อสร้าง กับให้จำเลยทั้งสองส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๙๙๓๖ และ ๓๙๙๓๗ ให้แก่โจทก์เข้าไปปลูกสร้างอาคาร ห้ามจำเลยทั้งสองขัดขวางการก่อสร้าง ให้จำเลยทั้งสองรับค่าหน้าดินที่เหลือจำนวน ๒๗๐,๐๐๐ บาท จากโจทก์และเมื่อก่อสร้างอาคารแล้วให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนการเช่าให้แก่ผู้เช่ามีกำหนด ๓๐ ปี หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ถ้าจำเลยทั้งสองไม่สามารถปฏิบัติได้ ให้ร่วมกันและแทนกันคืนเงินที่โจทก์ดำเนินการตามสัญญาไปแล้วจำนวน ๙๔๑,๕๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๒๖ กับค่าเสียหายจำนวน ๔๐,๖๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราเดียวกันนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยมอบอำนาจให้นายเศรษฐ์ ภาษิตานนท์ ดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของจำเลยที่ ๑ และไม่ได้มอบอำนาจให้ทำสัญญากับโจทก์ตามฟ้อง คำสั่งมอบอำนาจให้นายเศรษฐ์ดำเนินการดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ ๒ แจ้งว่าจำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจในการทำสัญญาเช่าเพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมการศาสนา โจทก์ไม่เคยแสดงตัวว่าได้เชิดนายสุรินทร์เป็นตัวแทน จำเลยทั้งสองไม่เคยรับเงิน ๑๓๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ ไม่เคยมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องขับไล่ผู้เช่าเดิม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงินจำนวน ๗๐๕,๕๐๐ บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๓๖ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความนำสืบและไม่โต้แย้งกันว่านายสุรินทร์ ปัญจพลากรกุล เป็นผู้ลงชื่อทำสัญญาก่อสร้างตึกแถวโดยมีนายเศรษฐ์ ภาษิตานนท์ ซึ่งเป็นไวยาวัจกรของจำเลยที่ ๑ ลงชื่อเป็นคู่สัญญาตามเอกสารหมาย จ.๒ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ มีว่า โจทก์เป็นตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อของนายสุรินทร์หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์ นายสุรินทร์ ปัญจพลากรกุล พระครูสุเทพ ธรรมรัตน์ และพระชินวงศ์พิพัฒน์เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์เคยรู้จักกับจำเลยที่ ๒ มาก่อน เคยเจรจาตกลงกับจำเลยที่ ๒ เรื่องจะปรับปรุงที่ดินของจำเลยที่ ๑ ในฐานะที่จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าอาวาสของจำเลยที่ ๑ และมีอำนาจกระทำการใด ๆ ผูกพันแทนจำเลยที่ ๑ โจทก์ประสงค์จะเล่นการเมืองเกรงว่าจะกระทบต่อชื่อเสียง จึงให้นายสุรินทร์เป็นตัวแทนเชิดของโจทก์ในการลงชื่อเป็นคู่สัญญา ส่วนจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ก็ให้นายเศรษฐ์ซึ่งเป็นไวยาวัจกรของจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ลงชื่อในเอกสารหมาย จ.๒ นอกจากนั้นจำเลยที่ ๒ ยังเป็นผู้เขียนข้อความรับทราบสัญญาและลงชื่อไว้ท้ายสัญญาดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ ๑ นำสืบอ้างว่าขณะที่จำเลยที่ ๒ ลงชื่อในสัญญานั้นไม่ได้อ่านข้อความในสัญญา ขณะที่ลงชื่อเป็นไข้หวัดและทราบจากนายเศรษฐ์ว่าเป็นหนังสือให้ลงชื่อเพื่อปรับปรุงที่ดินของจำเลยที่ ๑ เท่านั้น เห็นว่า พยานโจทก์ต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญแห่งคดี จำเลยที่ ๒ เป็นพระเถระผู้ใหญ่ จำเลยที่ ๑ เป็นวัดทางศาสนา พยานโจทก์คงจะไม่กล้าเบิกความเท็จ อันเป็นการทำให้จำเลยทั้งสองต้องเสียหายโดยที่ไม่เป็นความจริง ที่จำเลยที่ ๒ อ้างว่าลงชื่อในเอกสารหมาย จ.๒ ในขณะที่จำเลยที่ ๒ กำลังเป็นไข้หวัด ไม่ได้อ่านข้อความในหนังสือสัญญาก็เป็นข้อกล่าวอ้างลอย ๆ และการเป็นเพียงไข้หวัดก็มิได้ทำให้ไม่สามารถอ่านข้อความในหนังสือสัญญาได้ และหากไม่สามารถอ่านหนังสือได้จริง จำเลยที่ ๒ ก็ย่อมจะขอเลื่อนไปก่อนจนกว่าจะหายไข้ได้ การที่จำเลยที่ ๒ เขียนข้อความว่า “อาตมารับทราบแล้ว” ยิ่งเป็นการยืนยันได้ว่า จำเลยที่ ๒ ได้เขียนข้อความดังกล่าวในขณะที่จำเลยที่ ๒ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ทุกประการ และเป็นการให้สัตยาบันหนังสือดังกล่าวให้มีผลสมบูรณ์ผูกพันจำเลยที่ ๑ ให้ต้องรับผิดตามสัญญา ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาอ้างว่าข้อความตามเอกสารหมาย จ.๑ มิใช่เป็นการที่จำเลยที่ ๒ มอบอำนาจให้นายเศรษฐ์ ภาษิตานนท์ ลงชื่อทำสัญญาเอกสารหมาย จ.๒ เห็นว่า ตามข้อความในสัญญาเอกสารหมาย จ.๑ ข้อ ๑ ระบุว่า ให้นายเศรษฐ์มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด การที่นายเศรษฐ์ไปลงชื่อตามสัญญาเอกสารหมาย จ.๒ โดยมีจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสลงชื่อรับทราบไว้ท้ายสัญญาเพื่อให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างตึกแถวในที่ดินของวัดและให้ผลประโยชน์แก่วัด จึงเป็นการจัดการศาสนสมบัติของวัดแล้ว กรณีไม่จำต้องทำหนังสือมอบอำนาจเป็นการเฉพาะเรื่องตามที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาอีกทีหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อของนายสุรินทร์ ส่วนที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาอีกประการหนึ่งอ้างว่า การให้เช่าที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์ที่มีการกำหนดระยะเวลาเช่าเกิน ๓ ปี จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนา ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๑๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ นั้น เห็นว่า ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๑๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ข้อ ๒ ระบุว่า การกันที่ดินซึ่งเป็นที่วัดให้เป็นที่จัดประโยชน์จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อกรมการศาสนาเห็นชอบและได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม และข้อ ๔ ระบุว่า การให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนาหรือที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์ที่มีกำหนดระยะเวลาเช่าเกิน ๓ ปี จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนา แม้สัญญาก่อสร้างตึกแถวเอกสารหมาย จ.๒ จะไม่ใช่สัญญาเช่าโดยตรง แต่เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขในอนาคต เพราะขณะทำสัญญาโจทก์ยังไม่ได้ปลูกสร้างอาคารและอาคารเหล่านั้นก็ยังไม่มี แต่การกระทำของจำเลยที่ ๑ ก็มีผลให้เห็นได้ในอนาคตว่าหากโจทก์ปลูกสร้างอาคารแล้วเสร็จตามสัญญาก็ย่อมจะมีผลให้จำเลยที่ ๑ ต้องปฏิบัติตามสัญญา คือให้โจทก์มีสิทธิหาผู้เช่ามาจดทะเบียนการเช่ามีกำหนด ๓๐ ปี กับจำเลยที่ ๑ ซึ่งจำเป็นจะต้องขอความเห็นชอบจากกรมการศาสนาก่อน เมื่อปรากฏว่าสัญญาก่อสร้างตึกแถวเอกสารหมาย จ.๒ ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนาตามกฎกระทรวงดังกล่าว สัญญาก่อสร้างตึกแถวเอกสารหมาย จ.๒ จึงยังไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ยังไม่สามารถจะนำสัญญาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ แต่การที่จำเลยที่ ๑ รับเงินค่าหน้าดินจากโจทก์และโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการฟ้องขับไล่ผู้เช่าเดิมรวมเป็นเงิน ๗๐๕,๕๐๐ บาท ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา แล้วจำเลยที่ ๑ ไม่ยอมให้โจทก์เข้าทำการก่อสร้างอาคารต่อไป ย่อมทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ ๑ จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share