แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบเป็นการที่จำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งแสดงว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา ให้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ไปฝ่ายเดียว ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 202 จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณา ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกมากล่าวอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๔๗๔,๖๐๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์เรียกค่าติดตามรถยนต์คืนไม่ได้ เพราะรถยนต์ที่จำเลยที่ ๑ คืนแก่โจทก์มีสภาพดี ไม่ชำรุดเสียหาย ราคารถยนต์เมื่อรวมเงินดาวน์ เงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ ๑ ชำระแล้ว กับราคารถยนต์ที่ขายได้ โจทก์ได้เงินเกินกว่าราคารถยนต์ที่แท้จริง โจทก์จึงไม่เสียหายในค่าขาดราคา ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องเกินกำหนด ๖ เดือน นับแต่วันที่ส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๒๙,๘๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ ๑,๐๐๐ บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์หรือทำสัญญาประนีประนอมยอมความวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๔๒ เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งว่า ถ้าคู่ความไม่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ก็ให้ทำการสืบพยานโจทก์ในวันดังกล่าว เมื่อถึงวันนัด โจทก์และจำเลยที่ ๒ มาศาล ส่วนจำเลยที่ ๑ ไม่มาศาล จึงไม่อาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันได้ ศาลชั้นต้นเริ่มต้นทำการสืบพยานโจทก์ในวันนัดดังกล่าว การที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบ เป็นการที่จำเลยที่ ๑ ขาดนัดพิจารณา แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งแสดงว่าจำเลยที่ ๑ ขาดนัดพิจารณา ให้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีสำหรับจำเลยที่ ๑ ไปฝ่ายเดียว ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๒ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกมากล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบด้วยมาตรา ๒๔๖ และมาตรา ๒๔๗ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีสำหรับจำเลยที่ ๑ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ จำต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสำหรับจำเลยที่ ๑ เสียใหม่ให้ถูกต้อง และโดยที่จำเลยที่ ๒ ถูกฟ้องในฐานะผู้ค้ำประกันให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ผู้เช่าซื้อ ความรับผิดของจำเลยที่ ๒ เป็นเช่นเดียวกับความรับผิดของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้น จึงต้องยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองรวมตลอดไปถึงจำเลยที่ ๒ ด้วย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดสืบพยานโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๑ ดำเนินกระบวนพิจารณาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ แล้วมีคำพิพากษาสำหรับจำเลยทั้งสองใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.