คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1770/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งซึ่งแสดงว่าขณะแจ้งการครอบครองที่ดินนั้น ผู้แจ้งอ้างว่าที่ดินเป็นของผู้แจ้งเท่านั้น ส่วนความจริงผู้ใดจะมีสิทธิครอบครองนั้น จะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานว่าผู้ใดเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนจึงจะได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 การที่โจทก์ที่ 1 เพียงแต่มีชื่อในแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) จึงไม่เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
พฤติการณ์ที่จำเลยครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว ขณะที่จำเลยเข้าครอบครองนั้น โจทก์ที่ 1 มีอายุประมาณ 12 ปี อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของ ท. ผู้เป็นมารดากับจำเลยและพักอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาท ทั้งต่อมาโจทก์ที่ 1 ไปรับราชการทหารที่กรุงเทพมหานครและมีบ้านพักอาศัยอยู่กับครอบครัวตลอดมา นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว ลักษณะเช่นนี้จึงหาใช่จำเลยครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทแทนโจทก์ที่ 1 ไม่ หากแต่จำเลยยึดถือครอบครองในฐานะเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทนั้น

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เลขที่ 1 หมู่ที่ 2 ตำบลบางเลน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม โดยส่งมอบที่ดินคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองในสภาพเรียบร้อยห้ามจำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องอีก และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่าขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องอีก ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 3,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินในแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ซึ่งมีชื่อโจทก์ที่ 1 นายโพ พูลบางยุง บิดาของโจทก์ที่ 2 และบุคคลอื่นอีก 4 คน เป็นผู้แจ้งการครอบครองเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2498 ตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรของนายยงและนางทองอยู่ มณีโชติ เมื่อปี 2488 นายยงถึงแก่ความตาย ต่อมาปี 2491 นางทองอยู่มารดาของโจทก์ที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยในบ้านและที่ดินพิพาทมีบุตรด้วยกัน 6 คน จนกระทั่งปี 2540 นางทองอยู่ถึงแก่ความตาย ปัจจุบันจำเลยและบุตรยังอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองมีว่า จำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าที่มีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยเข้าไปอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทเมื่อจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากับนางทองอยู่มารดาของโจทก์ที่ 1 ตั้งแต่ปี 2491 และจำเลยยังคงอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยจึงเป็นผู้ครอบครองบ้านและที่ดินพิพาท ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 เมื่อบิดาของโจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตายและต่อมาเมื่อปี 2491 นางทองอยู่ มารดาของโจทก์ที่ 1 ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยในบ้านและที่ดินพิพาท ขณะนั้นโจทก์ที่ 1 อายุประมาณ 12 ปี และยังคงอาศัยอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของนางทองอยู่กับจำเลยมาโดยตลอด จนกระทั่งปี 2501 โจทก์ที่ 1 ไปเป็นทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) อยู่ที่กรุงเทพมหานครเป็นเวลา 2 ปี เมื่อปลดประจำการ โจทก์ที่ 1 สมัครรับราชการเป็นทหารประจำการ มีบ้านและมีชื่อในทะเบียนบ้านที่โจทก์ที่ 1 พักอาศัยอยู่กับครอบครัวในกรุงเทพมหานครตลอดมา แสดงให้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 มิได้เกี่ยวข้องหรืออาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทอีกเลยนับตั้งแต่ไปรับราชการเป็นทหารที่กรุงเทพมหานครเมื่อปี 2501 เป็นต้นไป แม้โจทก์ที่ 1 จะเบิกความว่าระหว่างรับราชการทหารนั้นได้กลับมาเยี่ยมมารดาซึ่งอยู่ที่บ้านและที่ดินพิพาทเป็นปกติเกือบทุกสัปดาห์ พฤติการณ์เช่นนี้ก็รับฟังได้แต่เพียงว่า โจทก์ที่ 1 กลับมาบ้านและที่ดินพิพาทเป็นครั้งคราวเพื่อเยื่ยมเยียนดูแลสารทุกข์สุกดิบของมารดาตามวิสัยของบุตรที่กระทำต่อมารดาเท่านั้น ไม่อาจรับฟังว่าลักษณะดังกล่าวนั้นโจทก์ที่ 1 ยึดถือครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทอยู่ ที่โจทก์ที่ 1 เบิกความว่า เมื่อปี 2498 โจทก์ที่ 1 ซ่อมแซมและปรับปรุงบ้านพิพาทโดยเปลี่ยนหลังคาบ้านจากหลังคาจากเป็นหลังคาสังกะสีและต่อเติมปลูกบ้านขึ้นใหม่อีกหลังหนึ่งเชื่อมต่อกับบ้านหลังเดิมตามภาพถ่ายหมาย จ.2 และเป็นผู้ปลูกต้นมะม่วงและต้นมะพร้าวในที่ดินพิพาทนั้น เห็นว่า เมื่อปี 2498 โจทก์ที่ 1 มีอายุประมาณ 18 ปี เท่านั้น ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ที่ 1 ว่าประกอบอาชีพอะไรและมีรายได้เป็นของตนเองหรือไม่ ทั้งในระยะเวลาดังกล่าวนั้นโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เบิกความว่าโจทก์ที่ 1 กำลังจะบวชพระการซ่อมแซมปรับปรุงบ้าน เนื่องจากจะมีการจัดงานบวชโจทก์ที่ 1 และน้องๆ เมื่อลาสิกขาแล้วโจทก์ที่ 1 จึงไปเป็นทหารกองประจำการอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เช่นนี้ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ที่ 1 จะอยู่ในวิสัยที่จะซ่อมแซมปรับปรุงและต่อเดิมปลูกบ้านขึ้นใหม่อีกหลังหนึ่งได้ เพราะขณะนั้นโจทก์ที่ 1 ยังคงอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของนางทองอยู่และจำเลยซึ่งพักอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาท น่าเชื่อว่าการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านตลอดจนการต่อเติมปลูกบ้านปั้นหยาหลังค่ามุงกระเบี้องขึ้นใหม่อีกหลังหนึ่งกระทำโดยจำเลยในฐานะหัวหน้าครอบครัว ซึ่งต้องอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาททั้งครอบครัวดังที่จำเลยนำสืบ นอกจากนี้ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ก็ไม่ได้พักอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทแต่อย่างใด หากแต่ไปมีบ้านอยู่กับครอบครัวที่กรุงเทพมหานครจึงขาดเหตุผลที่จะให้รับฟังว่าโจทก์ที่ 1 ยังคงมาดูแลซ่อมแซมปรับปรุงต่อเติมบ้านพิพาทอีก และได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ประกอบภาพถ่ายหมาย จ.6 และแผนที่สังเขปตามเอกสารหมาย ล.1 ว่า บ้านและที่ดินพิพาทที่จำเลยครอบครองอยู่นั้นเป็นส่วนสัดมีแนวเขตเป็นต้นไม้ ซึ่งต่อมาเมื่อมีการสร้างแนวรั้วแสดงอาณาเขตที่ดินของจำเลย ทั้งโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ก็มิได้คัดค้าน แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสองตลอดจนเจ้าของที่ดินที่ติดต่อกันยอมรับว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยสร้างแนวรั้วนั้นเป็นที่ดินของจำเลยที่ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา จึงน่าเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ปลูกต้นมะม่วงและต้นมะพร้าวเพื่อเป็นแนวเขตที่ดินไว้ก่อนแล้ว ต่อมาจึงสร้างแนวรั้วขึ้นภายหลัง ซึ่งต่อมาเมื่อปี 2538 แม้โจทก์ที่ 1 จะไปยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินพิพาท แต่นายแจะ เมืองรามัญ พยานโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยว่า เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาท จำเลยและนางสุคนธนิตย์ อินจีน บุตรของจำเลยได้โต้แย้งคัดค้าน จึงยังไม่มีการออกโฉนดที่ดินพิพาท ส่วนโจทก์ที่ 2 เบิกความว่า เคยพักอาศัยอยู่กับบิดาที่บ้านซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินพิพาท ต่อมาได้ไปซื้อที่ดินแปลงใหม่และปลูกบ้านพักอาศัยอยู่ในที่ดินแปลงใหม่ซึ่งอยู่ห่างที่ดินพิพาทประมาณ 400 ถึง 500 เมตร เมื่อปี 2533 บิดาของโจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตาย และเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าได้ย้ายออกจากที่ดินพิพาทไปปลูกบ้านหลังใหม่บนที่ดินของโจทก์ที่ 2 ตั้งแต่ปี 2520 ดังนั้น หากโจทก์ที่ 2 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องรื้อถอนบ้านเรือนของตนออกจากที่ดินพิพาทแล้วไปซื้อที่ดินแปลงอื่นทำการปลูกสร้างบ้านพักอยู่อาศัยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน พฤติการณ์เช่นนี้แสดงว่าโจทก์ที่ 2 ละทิ้งไม่ได้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 กับพวกไปแจ้งการครอบครองที่ดินเมื่อปี 2498 ซึ่งอยู่ระหว่างที่จำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากับนางทองอยู่ แต่จำเลยก็มิได้คัดค้านการแจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวนั้น เห็นว่า แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งซึ่งแสดงว่าขณะแจ้งการครอบครองที่ดินนั้น ผู้แจ้งอ้างว่าที่ดินเป็นของผู้แจ้งเท่านั้น ส่วนความจริงผู้ใดจะมีสิทธิครอบครองนั้นจะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานว่าผู้ใดเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน จึงจะได้สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 ดังนั้น การที่โจทก์ที่ 1 เพียงแต่มีชื่อในแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) จึงไม่เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทสำหรับที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้อนุญาตให้นางทองอยู่มารดาอยู่อาศัยและครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทแทนโจทก์ที่ 1 จำเลยเข้าอยู่อาศัยในบ้านและที่ดินพิพาทในฐานะผู้อาศัยนางทองอยู่ เมื่อนางทองอยู่ถึงแก่ความตาย การครอบครองของจำเลยจึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ที่ 1 นั้น เห็นว่า พฤติการณ์ที่จำเลยครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้วซึ่งขณะที่จำเลยเข้าครอบครองนั้นโจทก์ที่ 1 มีอายุประมาณ 12 ปี อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของนางทองอยู่มารดากับจำเลยและพักอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาททั้งต่อมาโจทก์ที่ 1 ไปรับราชการทหารที่กรุงเทพมหานครและมีบ้านพักอาศัยอยู่กับครอบครัวตลอดมา นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว ลักษณะเช่นนี้จึงหาใช่จำเลยครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทแทนโจทก์ที่ 1 ดังที่อ้างในฎีกาไม่ หากแต่จำเลยยึดถือครอบครองในฐานะเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามพยานหลักฐานของจำเลยซึ่งมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิครอบครองบ้านและที่ดินพิพาท จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองบ้านและที่ดินพิพาท ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share