คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 269/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เดิมโจทก์และครอบครัวได้ใช้ที่ดินของจำเลยมีขนาดกว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ 25 เมตร เป็นทางเดินและทางรถยนต์เข้าออกสู่ถนนสาธารณะตลอดมาไม่น้อยกว่า 25 ปีแล้ว โดยมีแผนที่สังเขปท้ายฟ้องประกอบ ทั้งมีคำขอท้ายฟ้องบังคับให้จำเลยจดทะเบียนเป็นทางภาระจำยอมด้วย ถือว่าเป็นฟ้องที่แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่าได้ภาระจำยอมโดยอายุความ แม้คำฟ้องของโจทก์จะบรรยายด้วยว่าที่ดินที่ตั้งบ้านของโจทก์ล้อมรอบด้วยที่ดินแปลงอื่น ไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ ฟ้องของโจทก์ก็หาเคลือบคลุมไม่
ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1387 อสังหาริมทรัพย์จะตกอยู่ในภาระจำยอมก็ต้องเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น กรณีการใช้ทางในที่ดินของบุคคลหนึ่งจะตกเป็นทางภาระจำยอมโดยอายุความก็ต้องเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของบุคคลอื่นเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ตัวบ้านซึ่งเจ้าของบ้านอาศัยสิทธิปลูกอยู่บนที่ดินของบุคคลอื่นดังกล่าว ดังนั้นโจทก์ที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของบ้าน แต่มิได้เป็นเจ้าของที่ดินที่บ้านดังกล่าวตั้งอยู่ จึงไม่อาจอ้างการได้สิทธิทางภาระจำยอมโดยอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 1401 เพราะเป็นการใช้ทางภาระจำยอมโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ที่ 1 ผู้เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่โจทก์ที่ 2 ปลูกบ้านอยู่ โจทก์ที่ 2 ไม่อาจอ้างว่าที่ดินของจำเลยตกเป็นทางภาระจำยอมแก่บ้านของโจทก์ที่ 2 ได้ทางพิพาทจึงตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ที่ 1 เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์อันเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ในฟ้องของโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นข้อเท็จจริงที่เข้าสู่สำนวนโดยถูกต้องตามวิธีพิจารณา แม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าว ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
ทางพิพาทมีความกว้างเพื่อให้รถยนต์ใช้เข้าออกได้และโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินและทางรถยนต์เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์มาเกิน10 ปีแล้ว แม้ในการกะประเด็นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นใช้คำว่าทางเดินเท่านั้นก็ตาม ย่อมมีความหมายรวมกันทั้งทางเดินเท้าและทางเดินรถด้วยเพราะฟ้องโจทก์บรรยายว่าโจทก์ได้ใช้ที่ดินของจำเลยเป็นทางเดินและทางรถยนต์ จึงชอบที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยเปิดทางภาระจำยอมกว้างประมาณ 3 เมตรได้
เมื่อฟังว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมซึ่งโจทก์มีสิทธิใช้ได้แล้ว โจทก์และบริวารย่อมมีสิทธิใช้ทางพิพาทตลอดเวลา หากจำเลยปิดประตูเหล็กตาข่ายไว้สองบานหรือบานใดบานหนึ่ง ย่อมเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก จำเลยจึงไม่มีสิทธิทำเช่นนั้นได้ ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาบังคับให้จำเลยเปิดประตูเหล็กตาข่ายให้โจทก์ใช้รถยนต์เข้าออกได้ตามปกติ และให้ปิดไว้เมื่อไม่ใช้ จึงไม่จำเป็นและเป็นการพิพากษาเกินคำฟ้อง

Share