คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2288/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เจ้าหนี้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้และออกหนังสือรับรองตกลงชดใช้ค่าเสียหายแทนลูกหนี้ต่อสถาบันการเงินอื่นตั้งแต่ก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มูลหนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/27 แม้เจ้าหนี้ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันและหนังสือรับรองดังกล่าวไปภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว ก็ไม่ทำให้เจ้าหนี้หมดสิทธิได้รับชำระหนี้แต่อย่างใด
คดีนี้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่ 16 โดยแนบสำเนาสัญญาค้ำประกันฉบับภาษาอังกฤษไว้ท้ายคำขอรับชำระหนี้แล้วแต่มิได้ส่งคำแปลของสัญญาค้ำประกันดังกล่าว ซึ่งต่อมาผู้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวได้ถอนคำโต้แย้งแล้ว หากผู้คัดค้านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับมูลหนี้ของลูกหนี้ชั้นต้นและจำนวนหนี้ดังกล่าว ก็ชอบที่จะกำหนดให้เจ้าหนี้นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 105 ประกอบมาตรา 90/26 วรรคสาม ไม่ใช่มีคำสั่งไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อันดับนี้ไปเลย โดยให้เหตุผลเพียงว่าไม่มีหลักฐานแสดงความเป็นหนี้ที่ลูกหนี้ต้องรับผิด ซึ่งไม่ถูกต้องตามพยานหลักฐานที่เจ้าหนี้แนบไว้ท้ายคำขอรับชำระหนี้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2542 และตั้งนายสุรพงษ์ เตชะวิบูลย์ เป็นผู้ทำแทน ต่อมาศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2543 โดยมีบริษัทสยามมั่น จำกัด เป็นผู้บริหารแผน
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเงินกู้ตั๋วสัญญาใช้เงินเล็ตเตอร์ออฟเครดิต ภาระค้ำประกัน (แอลจี) หนี้ตามสัญญาค้ำประกัน รวม 16 อันดับ เป็นเงิน 1,202,677,735.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงิน 1,024,860,295.98 บาท นับถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะชำระเสร็จ ในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินจำนวน 26 แปลง และเครื่องจักรจำนวน 97 เครื่อง
ผู้คัดค้านได้ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/29 แล้ว ผู้ทำแผนโต้แย้งคัดค้านการขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้ แต่ต่อมาขอถอนคำโต้แย้ง
ผู้คัดค้านสอบสวนแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามพยานหลักฐาน แต่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้เกินมาเป็นเงิน 694,624,622.30 บาท เนื่องจากคำนวณคลาดเคลื่อน และหนี้อันดับที่ 16 ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานแสดงความเป็นหนี้ที่ลูกหนี้ต้องรับผิด จึงมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 508,053,133.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงิน 359,515,252.34 บาทนับถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 4056, 4087, 17151, 17299, 24529 ตำบลห่อหมก (ขุนจ่า) อำเภอบางไทร (เสนาน้อย) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วน โฉนดเลขที่ 4088, 4120 ตำบลขุนจ่า อำเภอเสนาน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และตามหนังสือสัญญาจำนองเครื่องจักรหมายเลขทะเบียนจำนอง 200 ถึง 261/40 เครื่องจักร เครื่องตีเยื่อ เครื่องทำลอน เครื่องทดสอบ ฯลฯ หมายเลขทะเบียน (39-308-208) 001 ถึง 0083, 0085 ถึง 0098 รวม 97 เครื่อง
เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านว่า มูลหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ทั้งสิบหกอันดับ เจ้าหนี้ได้นำเอกสารซึ่งแสดงถึงความมีอยู่แห่งมูลหนี้ส่งต่อผู้คัดค้านในวันยื่นคำขอรับชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ทั้งการที่เจ้าหนี้ออกหนังสือค้ำประกันลูกหนี้ต่อธนาคารต่างประเทศ (แอลจี) เมื่อธนาคารต่างประเทศหรือบริษัทที่เจ้าหนี้ค้ำประกันเรียกเก็บเงินตามวงเงินค้ำประกัน เจ้าหนี้ต้องจ่ายเงินตามภาระค้ำประกันไปจึงชอบที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้คืนจากลูกหนี้นับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้จ่ายเงินแทนไปอีกทั้งในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ก็ไม่มีบุคคลใดโต้แย้งคัดค้าน แต่ผู้คัดค้านกลับมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน โอยอ้างว่าเจ้าหนี้คำนวณจำนวนหนี้คลาดเคลื่อน ขอให้ผู้คัดค้านพิจารณาหลักฐานและเอกสารทั้งหมดของเจ้าหนี้อีกครั้ง รวมทั้งคำนวณบัญชีใหม่ทั้งหมดและมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในส่วนที่ขาดจำนวน 694,624,622.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงิน 1,024,860,295.98 บาท โดยให้ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 4029 (ที่ถูกคือ 4089), 4072, 4073, 4078, 4079, 4081 ถึง 4084, 4087, 4115, 4123, 4217, 4229 ถึง 4231, 14785, 20515, 25049 และ 25055 ตำบลห่อหมก (ขุนจ่า) อำเภอบางไทร (เสนาน้อย) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า)
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งของผู้คัดค้านให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 4115, 4123, 4084, 4079, 4217, 4078, 4072 ถึง 4073, 4083, 4081, 4231, 4082, 4229, 4230, 14785, 25049, 25055, 26515 ตำบลห่อหมก (ขุนจ่า) อำเภอบางไทร (เสนาน้อย) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) พร้อมสิ่งปลูกสร้าง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของผู้คัดค้าน
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลล้มละลายกลางเพื่อทำการไต่สวนโดยการสืบพยานฝ่ายเจ้าหนี้และผู้คัดค้านว่า เจ้าหนี้ได้นำส่งสัญญาค้ำประกัน ฉบับลงวันที่ 13 ตุลาคม 2532 และฉบับลงวันที่ 29 กันยายน 2533 เพื่อเป็นหลักฐานประกอบคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่ 16 ต่อผู้คัดค้านแล้วหรือไม่ เมื่อไต่สวนโดยการสืบพยานเสร็จแล้วให้ศาลล้มละลายกลางส่งสำนวนคืนศาลฎีกา
ศาลล้มละลายกลางได้ทำการไต่สวนตามคำสั่งศาลฎีกาแล้วส่งสำนวนคืนศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “…ประการแรก เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่ามูลหนี้อันดับที่ 10 ถึงที่ 15 เป็นมูลหนี้ภาระค้ำประกันที่เจ้าหนี้ร่วมกับเจ้าหนี้สถานบันการเงินอื่นออกหนังสือค้ำประกันลูกหนี้ต่อธนาคารต่างประเทศเมื่อปี 2533 ซึ่งผู้คัดค้านมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยเพียงวันที่ 23 สิงหาคม 2542 อันเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ส่วนจำนวนเงินที่เจ้าหนี้จ่ายไปภายหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ผู้คัดค้านไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะมูลหนี้ค้ำประกันเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้เจ้าหนี้จ่ายเงินให้แก่ธนาคารต่างประเทศภายหลังจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เจ้าหนี้ก็มีสิทธิได้รับชำระหนี้เต็มตามคำขอรับชำระหนี้ ปัญหาในข้อนี้จึงมีว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้มูลหนี้อันดับที่ 10 ถึงที่ 15 เต็มตามคำขอรับชำระหนี้หรือไม่ พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม…” วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 101 อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการสำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว” และมาตรา 101 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าลูกหนี้ร่วมบางคนถูกพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้ร่วมคนอื่นอาจยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว” วรรคสอง บัญญัติว่า “บทบัญญัติในวรรคก่อน ให้ใช้บังคับแก่ผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันร่วม หรือบุคคลที่อยู่ในลักษณะเดียวกันนี้โดยอนุโลม” แสดงให้เห็นว่าบุคคลผู้เป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ที่ฟื้นฟูกิจการ ผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันร่วม หรือบุคคลที่อยู่ในลักษณะเดียวกันนี้ชอบที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้หากมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ สำหรับมูลหนี้ลำดับที่ 10 ถึงที่ 15 ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้นั้นเป็นมูลหนี้ภาระค้ำประกัน (แอล จี เอ.1 ถึง เอ.8) ศาลฎีกาตรวจสำนวนคำขอรับชำระหนี้รวม 5 ตอน ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้พร้อมเอกสารประกอบต่อผู้คัดค้านแล้วได้ความว่า …เจ้าหนี้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้และออกหนังสือรับรองตกลงชดใช้ค่าเสียหายแทนลูกหนี้ต่อสถาบันการเงินอื่น ตั้งแต่ปี 2533 ถึงปี 2536 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2542 มูลหนี้ภาระค้ำประกันอันดับที่ 10 ถึงที่ 15 ดังกล่าวจึงเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เจ้าหนี้จึงมีสิทธินำมูลหนี้ดังกล่าวมาขอรับชำระในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ตามมาตรา 90/27 การที่เจ้าหนี้ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันและหนังสือรับรองดังกล่าวไปภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว ไม่ทำให้เจ้าหนี้หมดสิทธิได้รับชำระหนี้แต่อย่างใด เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่ 10 ถึงที่ 15 เต็มตามจำนวนที่ขอรับชำระหนี้ ที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านคำนวณหนี้โดยตัดส่วนที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ออกชอบแล้วนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ขอนี้ฟังขึ้น
ประการที่สอง เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า เจ้าหนี้ได้ส่งเอกสารสัญญาค้ำประกันฉบับลงวันที่ 13 ตุลาคม 2532 และฉบับลงวันที่ 29 กันยายน 2533 ในมูลหนี้อันดับที่ 16 ต่อผู้คัดค้านแล้ว ทั้งผู้ทำแผนก็มิได้โต้แย้งคัดค้านมูลหนี้อันดับนี้ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในอันดับนี้เต็มตามจำนวนที่ขอรับชำระหนี้ หากศาลฎีกาเห็นว่ายังมีข้อโต้เถียงเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกัน ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนในมูลหนี้อันดับนี้ก่อนมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับมูลหนี้ต่อไป ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อนี้มีว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่ 16 หรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาตรวจดูสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่ยื่นต่อผู้คัดค้านและสำนวนของศาลล้มละลายกลางที่ไต่สวนพยานเจ้าหนี้ และเจ้าหนี้อ้างส่งเอกสารหมาย ร.1 ถึง ร.47 ดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่ 16 โดยได้แนบสำเนาสัญญาค้ำประกันฉบับภาษาอังกฤษลงวันที่ 13 ตุลาคม 2532 และวันที่ 29 กันยายน 2536 ไว้ท้ายคำขอรับชำระหนี้ แต่มิได้ส่งคำแปลของสัญญาค้ำประกันดังกล่าว รวมทั้งเอกสารที่แสดงว่าบริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ชั้นต้น เป็นหนี้เจ้าหนี้ในมูลหนี้ประเภทใด เป็นจำนวนเท่าใด เป็นเหตุให้นักบัญชีของผู้คัดค้านไม่สามารถคำนวณยอดหนี้ได้ และผู้คัดค้านมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในอันดับนี้ เห็นว่า ตามพระบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 105 ประกอบมาตรา 90/26 วรรคสาม ให้อำนาจผู้คัดค้านออกหมายเรียกเจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือบุคคลใดมาสอบสวนในเรื่องหนี้สินเพื่อหาความจริงว่าหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้หรือไม่ เพียงใด แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้เมื่อผู้ทำแผนถอนคำโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ ผู้คัดค้านก็มิได้ดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐานของเจ้าหนี้ตามที่นัดไว้อีกต่อไป และมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในอันดับนี้โดยให้เหตุผลเพียงว่าไม่มีหลักฐานแสดงความเป็นหนี้ที่ลูกหนี้ต้องรับผิดจากข้อเท็จจริงข้างต้นที่เจ้าหนี้ได้แนบสำเนาสัญญาค้ำประกันฉบับภาษาอังกฤษรวม 2 ฉบับ ที่ลูกหนี้เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ชั้นต้นต่อเจ้าหนี้ไว้ท้ายคำขอรับชำระหนี้แล้ว หากผู้คัดค้านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับมูลหนี้ของลูกหนี้ชั้นต้น และจำนวนหนี้ก็ชอบที่จะกำหนดให้เจ้าหนี้นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมเพื่อพิจารณามีคำสั่งขอรับชำระหนี้ต่อไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ไม่มีคำสั่งไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อันดับนี้ไปเลยซึ่งไม่ถูกต้อง ทั้งในชั้นที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7673/2544 ให้ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้แล้วทำการไต่สวนและมีคำสั่งตามรูปคดีต่อไปนั้น ปรากฏว่าศาลล้มละลายกลางเพียงแต่ให้ผู้คัดค้านและเจ้าหนี้ทำคำแถลงต่อศาลเท่านั้น มิได้ไต่สวนให้ได้ความจริงเกี่ยวกับมูลหนี้อันดับที่ 16 นี้แต่อย่างใด และกลับวินิจฉัยว่าไม่ปรากฏหลักฐานสัญญาค้ำประกันแสดงความเป็นเจ้าหนี้ที่ลูกหนี้ต้องรับผิด คำสั่งของผู้คัดค้านที่ไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ชอบแล้ว ซึ่งไม่ถูกต้องตามพยานหลักฐานที่เจ้าหนี้แนบไว้ท้ายคำขอรับชำระหนี้ อย่างไรก็ดี เมื่อศาลฎีกาได้มีรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 21 มีนาคม 2548 ให้ส่งสำนวนคืนศาลล้มละลายกลางอีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำการไต่สวนโดยการสืบพยานฝ่ายเจ้าหนี้และผู้คัดค้านว่าเจ้าหนี้ได้นำส่งสัญญาค้ำประกัน ฉบับลงวันที่ 13 ตุลาคม 2532 และฉบับลงวันที่ 29 กันยายน 2533 (ที่ถูกคือ ฉบับลงวันที่ 29 กันยายน 2536) เพื่อเป็นหลักฐานประกอบคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่ 16 ต่อผู้คัดค้านหรือไม่ และศาลล้มละลายกลางได้ทำการไต่สวนพยานเจ้าหนี้เกี่ยวกับมูลหนี้อันดับที่ 16 รวม 1 ปาก เจ้าหนี้อ้างส่งเอกสารรวม 47 ฉบับ ตามเอกสารหมาย ร.1 ถึง ร.47 ส่วนผู้คัดค้านและผู้บริหารแผนของลูกหนี้ไม่ติดใจนำพยานเข้าไต่สวนแล้วส่งสำนวนคืนมายังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการพิจารณาดำเนินไปโดยรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยมูลหนี้อันดับนี้ไปเลยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนลงไป ซึ่งจากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนายเจษฎาภรณ์ ตันติธีรวิทย์ พยานเจ้าหนี้ประกอบเอกสารหมาย ร.1 ถึง ร.47 ได้ความว่า บริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) เป็นหนี้เจ้าหนี้ในมูลหนี้เบิกเงินเกินบัญชี กู้ยืม ตั๋วสัญญาใช้เงิน และภาระค้ำประกัน โดยมีลูกหนี้เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ทั้งเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทดังกล่าวและได้รับอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 215,294,880.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงิน 169,857,142.34 บาท นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแล้วโดยไม่ปรากฏว่ามีการอุทธรณ์ ดังนั้น ลูกหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับบริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดีสตรี้ จำกัด (มหาชน) ในหนี้ดังกล่าวจึงต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ในจำนวนหนี้ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้อันดับที่ 16 เป็นเงิน 215,298,880.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงิน 169,857,142.34 นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จเช่นกัน คำสั่งของศาลล้มละลายกลางในส่วนนี้จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาเช่นกัน อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาประการสุดท้าย ที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า มีสิทธิได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกันสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 4089 นั้น ปรากฏว่าคำขอรับชำระหนี้เจ้าหนี้ได้แนบบัญชีรายละเอียดแห่งหนี้สินและทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันซึ่งระบุที่ดินโฉนดเลขที่ 4089 ไว้แล้ว และตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองลงวันที่ 15 สิงหาคม 2539 ที่แนบท้ายคำขอรับชำระหนี้ก็ระบุที่ดินโฉนดเลขที่ 4089 ไว้เช่นกัน ดังนั้น เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 4089 ด้วย การที่เจ้าหนี้ระบุในคำร้องคัดค้านคำสั่งของผู้คัดค้านที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางเป็นโฉนดเลขที่ 4029 จึงเป็นการคลาดเคลื่อนไปเท่านั้น หาทำให้เจ้าหนี้หมดสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 4089 ไม่ คำสั่งศาลล้มละลายกลางในส่วนนี้ยังคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ในข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้มูลหนี้อันดับที่ 10 ถึงที่ 15 เต็มตามจำนวนที่ขอรับชำระหนี้ และในมูลหนี้อันดับที่ 16 ให้ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 215,294,880.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงิน 169,857,142.34 บาท นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จโดยมีเงื่อนไขว่า หากเจ้าหนี้ได้รับชำระในมูลหนี้อันดับที่ 16 ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทปัญจพล พัลพ์ อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) แล้วเพียงใด ก็ให้สิทธิที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดลงเพียงนั้น รวมทั้งให้ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 4089 ตำบลห่อหมก (ขุนจ่า) อำเภอบางไทร (เสนาน้อย) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) พร้อมสิ่งปลูกสร้าง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง

Share