คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1847/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รถยนต์คันที่โจทก์เอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยได้ชนกับรถยนต์ของบริษัท ร. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2517 โจทก์มาฟ้องคดีขอให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2521 พ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัย ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 882 การที่โจทก์ได้ถูกบริษัท ร.ฟ้องและศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ร.เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2520 นั้น ไม่ทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาประกันภัยจะเพิ่งมาตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาดังกล่าวเพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยเกิดขึ้นนับแต่วันวินาศภัยจึงจะนำอายุความตามมาตรา 168 มาใช้บังคับในกรณีนี้หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียนส.ข.02383 ซึ่งได้เอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยมีกำหนด 1 ปี โดยจำเลยสัญญาว่าจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกแทนโจทก์ เมื่อมีวินาศภัยเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นโดยหรือเนื่องจาก หรือเกี่ยวกับการใช้รถยนต์คันที่เอาประกัน เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2517 รถยนต์ของโจทก์คันดังกล่าวชนกับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ส.ข.03428 ของบริษัทร่วมลำเลียงขนส่ง(ประเทศไทย) จำกัด ต่างได้รับความเสียหายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บสองคนซึ่งจำเลยและตัวแทนจำเลยได้ทราบเหตุแล้วว่า คนขับรถยนต์ของโจทก์เป็นฝ่ายประมาท แต่เพิกเฉยไม่ใช่ค่าเสียหายแก่บุคคลภายนอกตามกรมธรรม์ประกันภัย จนเป็นเหตุให้บริษัทร่วมลำเลียงขนส่ง (ประเทศไทย) จำกัด ฟ้องโจทก์ต่อศาลจังหวัดสงขลาในข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหาย คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ใช้เงิน 75,000 บาท ซึ่งศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2520 โจทก์ต้องใช้ค่าเสียหายและดอกเบี้ยรวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลเป็นเงิน 118,765.35 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวนนี้พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียนส.ข.02383 ไว้จากโจทก์โดยรับผิดเฉพาะบุคคลภายนอก เมื่อโจทก์ถูกฟ้องโจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยทราบและยอมใช้ค่าเสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด โจทก์ได้รับค่าเสียหายจากจำเลยเป็นเงิน9,680 บาท และไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยอีก โจทก์เรียกจากจำเลยอีกไม่ได้ หากศาลเห็นว่าจำเลยจะต้องรับผิดคงรับผิดเฉพาะค่าเสียหายไม่เกิน 50,000 บาท โจทก์รับไปแล้ว 9,680 บาท เหลือรับผิดเพียง40,320 บาท นอกนั้นไม่มีกำหนดในกรมธรรม์ โจทก์ฟ้องคดีเกิน 2 ปี ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 822 ขอให้ยกฟ้อง

ในวันชี้สองสถาน คู่ความรับกันว่าเหตุวินาศภัยซึ่งเป็นมูลคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2517 และโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทร่วมลำเลียงขนส่ง (ประเทศไทย) จำกัด ไปแล้ว ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยานทั้งสองฝ่ายแล้ววินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคแรก บัญญัติว่า “ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดี เมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัย” กรณีของโจทก์ได้ความว่า รถยนต์ที่โจทก์เอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลย ได้ชนกับรถยนต์ของบริษัทร่วมลำเลียงขนส่ง (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์2517 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2521 พ้นกำหนดสองปีนับแต่วันวินาศภัย ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว

ที่โจทก์ฎีกาว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์อันมีต่อจำเลยตามสัญญาประกันภัยตั้งหลักขึ้นโดยคำพิพากษาศาล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 168 ศาลฎีกาพิพากษาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2520 คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันเกิดขึ้น นับแต่วันวินาศภัยมิใช่ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์จะเพิ่งมาตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาคดีระหว่างโจทก์กับบุคคลผู้ต้องเสียหายเนื่องจากวินาศภัยรายนี้ ดังนั้น อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 168 จึงนำมาใช้บังคับในกรณีของโจทก์ไม่ได้

พิพากษายืน

Share