แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในกรณีที่ศาลฎีกาเห็นว่า ดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลล่างหนักไป สมควรกำหนดโทษจำเลยที่ฎีกาขึ้นมาให้เบาบางลงไปอีก และเนื่องจากจำเลยที่ฎีกากับจำเลยที่มิได้ฎีกากระทำความผิดร่วมกัน เหตุสมควรกำหนดโทษดังกล่าวจึงเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาได้ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้บังอาจร่วมกันกระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทงต่างกรรมกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสามร่วมกันมีเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ ซึ่งเป็นเกลือของเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ชนิดร้ายแรงจำนวน 10หลอดพลาสติกรวมน้ำหนัก 11.56 กรัม ราคา 346.80 บาทไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยทั้งสามร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดดังกล่าวให้แก่เจ้าหน้าที่หน่วยปราบปรามยาเสพติดให้โทษสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จำนวน10 หลอด น้ำหนัก 11.56 กรัม ราคา 33,000 บาท ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 67, 97, 102, 103ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 และขอให้สั่งริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 7, 15, 66,102 เป็นความผิดกรรมเดียว ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฐานจำหน่ายเฮโรอีนจำคุกคนละ 20 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 13 ปี 4 เดือน ริบเฮโรอีนและรถยนต์ของกลาง ยกฟ้องจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1มีเฮโรอีนของกลางไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเฮโรอีนจริงดังฟ้อง
ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า สมควรกำหนดโทษจำเลยที่ 2 ให้เบาลงอีกหรือไม่นั้น ศาลฎีกาฟังว่าตามพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิใช่ผู้ค้าเฮโรอีนมาแล้วอย่างช่ำชองดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา แต่น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดเพราะการชักจูงของสายลับ โดยเห็นว่ามีโอกาสจะได้เงินมาง่าย ๆที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากำหนดโทษจำคุกจำเลยทั้งสองก่อนลดโทษเพราะมีเหตุบรรเทาโทษถึง 20 ปี ศาลฎีกาเห็นว่าหนักไป สมควรกำหนดโทษจำเลยที่ 2 ให้เบาลง ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้นและเนื่องจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นสามีภริยากัน กระทำผิดร่วมกันเหตุสมควรกำหนดโทษจำเลยที่ 2 ให้เบาลงดังกล่าวมาแล้วเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 คนละ12 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 8 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์