คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1845/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ. เป็นพนักงานของคุรุสภาผู้เสียหาย มีหน้าที่เก็บเงินค่าเดินทางไปทัศนศึกษา ของสมาชิกคุรุสภา ปรากฏว่าเงินขาดบัญชีไป เพื่อให้ปรากฏหลักฐานทางบัญชีเต็มยอดเงิน พ. ได้ยืมเช็คพิพาทจากจำเลยเพื่อนำมาเข้าบัญชีแทนเงินที่ขาดหายไป โดยจะไม่นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินเพียงนำมาเป็นประกันเท่านั้น ซึ่ง ด.ผู้บังคับบัญชาของ พ. ก็ทราบแล้วดังนี้เห็นได้ว่าจำเลยกับ พ.ไม่มีมูลหนี้ตามเช็คพิพาทต่อกัน จำเลยไม่ได้ออกเช็คพิพาทเพื่อเจตนาชำระหนี้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือโดยขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็ค ตามฟ้องโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็ค 4 ฉบับ โดยเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค หรือโดยขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 จำคุกกระทงละ6 เดือน เรียงกระทงลงโทษ 4 กระทง รวมจำคุก 24 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับ ตามเช็คเอกสารหมาย จ.4, จ.6, จ.8 และ จ.10 มอบให้นางพวงเพชร เจริญสุขภาพประจำฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพครู ของคุรุสภาผู้เสียหายแล้วนางพวงเพชรนำเช็คพิพาทไปจ่ายให้คุรุสภาเพื่อเป็นค่าเดินทางของข้าราชการครูที่จะไปทัศนศึกษาต่างประเทศ ในโครงการเดินทางเพื่อการศึกษาของคุรุสภา ต่อมาคุรุสภาเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า บัญชีปิดแล้ว คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษมาหรือไม่ นายดุสิต บุณยากร พยานโจทก์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมพัฒนาวิชาชีพครู คุรุสภา ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโครงการเดินทางเพื่อการศึกษาของคุรุสภาดังกล่าว เบิกความว่า เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับนี้ นางพวงเพชรจะนำมาจากที่ไหนไม่ทราบ แต่พยานเห็นจำเลยลงลายมือชื่อสั่งในเช็คและส่งมอบให้แก่นางพวงเพชร และทราบต่อมาในภายหลังว่านางพวงเพชรนำเช็คดังกล่าวมาชำระหนี้ค่าเดินทางนางพวงเพชร พยานโจทก์เบิกความฟังได้ว่า ในปีงบประมาณ 2529 ซึ่งจะมีการปิดงบบัญชีในเดือนกันยายน 2529 เงินค่าเดินทางในโครงการเดินทางเพื่อการศึกษาของคุรุสภา รุ่น 9 ขาดหายไปประมาณ 700,000บาทเศษ พยานจึงได้แจ้งให้นายดุสิตทราบเรื่อง นายดุสิต นางภาณีจั่นวัฒนพงศ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายการเงินและพยานจึงนำเงินในโครงการรุ่นที่ 10 มาใส่ให้เต็มเพื่อจะปิดงบบัญชีลงก่อนวันที่ 30 กันยายน2529 เมื่อนำเงินมาใส่ดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าเงินค่าเดินทางยังขาดอยู่อีกประมาณ 200,000 บาท นางภาณีให้พยานไปยืมเช็คใครก็ได้มาใส่ให้เต็มยอดเงิน มิฉะนั้นทางงบประมาณจะไม่ยอมให้ผ่าน และจะเป็นการเสียหายมาก วันที่ 30 กันยายน 2529 ตอนเย็น นางถนิมประสงค์ศิลป์ ซึ่งทำงานอยู่ในสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาด้วยกันและเป็นเพื่อนกับพยานได้มาที่ห้องทำงานพยาน พยานเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง นางถนิมแนะนำว่ามีเพื่อนรุ่นน้องคือจำเลยมีเช็คอยู่ไม่ทราบว่าจำเลยจะยอมให้เช็คยืมมาหรือไม่ ในคืนวันที่ 30 กันยายนดังกล่าว พยานจึงไปที่บ้านนางถนิมซึ่งอยู่ติดกับบ้านของจำเลยได้มีการพูดจากับจำเลยเพื่อขอยืมเช็คประมาณ 200,000 บาท จำเลยยอมให้ยืมโดยออกเช็คให้แต่ไม่ใช่เช็คพิพาทคดีนี้ วันรุ่งขึ้นนางพวงเพชรนำเช็ค 200,000 บาทดังกล่าวมาให้ทางสำนักงานปรากฏว่าเช็คฉบับนี้เรียกเก็บเงินได้ เพราะนายดุสิตให้พยานนำเงินโครงการรุ่นที่ 10 มา ให้พยานนำไปเข้าบัญชีของจำเลย เป็นเหตุให้เงินสดในโครงการรุ่นที่ 10 หายไปอีก 200,000 บาท รวมทั้งหมดในโครงการรุ่นที่ 10 เงินคงหายไปประมาณ 700,000 บาท นายดุสิตจึงให้พยานไปยืมเช็คจากจำเลยมาอีกครั้งหนึ่ง จำเลยออกเช็คให้สี่ฉบับรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 607,000 บาท โดยส่วนตัวพยานกับจำเลยไม่รู้จักกันต่อมาปรากฏว่าเช็คทั้งสี่ฉบับเรียกเก็บเงินไม่ได้ ทางคุรุสภาได้ดำเนินคดีกับพยานในข้อหายักยอกตลอดจนนายดุสิตและนางสมศรีทิพย์บันเทิง ผู้ช่วยพยานก็ถูกดำเนินคดีด้วยเช่นกัน พยานและคนอื่นทราบจากจำเลยล่วงหน้าแล้วว่าเงินในบัญชีของจำเลยไม่มีในวันที่เช็คถึงกำหนด นายดุสิตพูดกับจำเลยด้วยว่า เช็คทั้งสี่ฉบับนำมาเพียงเป็นประกันเท่านั้น จะไม่มีการนำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่า จำเลยกับนางพวงเพชรไม่มีมูลหนี้ตามเช็คต่อกัน นางพวงเพชรขอยืมเช็คจากจำเลยมาเพื่อนำเข้าบัญชีแทนเงินที่ขาดบัญชีโดยจะไม่นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจำเลยไม่ได้ออกเช็คเพื่อเจตนาชำระหนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือโดยขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่า จำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็ค ตามฟ้องของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share