คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10449/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายทั้งสามเป็นคนต่างด้าวเบิกความโดยไม่ปรากฏว่าล่ามได้สาบานหรือปฏิญาณตนแล้ว และไม่ปรากฏว่าผู้ที่ลงลายมือชื่อในคำให้การพยานในฐานะล่ามนั้นเป็นใคร การสืบพยานปากผู้เสียหายทั้งสามจึงเป็นการฝ่าฝืน ป.วิ.อ. มาตรา 13 ชอบที่จะต้องเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว และย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ปากผู้เสียหายทั้งสามและพิพากษาใหม่ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 4, 9, 12
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสี่, 12 วรรคหนึ่ง เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทที่หนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเพื่อข่มขืนใจให้กระทำการค้าประเวณี จำคุกคนละ 10 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า นางสาวซัน ดารี ผู้เสียหายที่ 1 นางสาวซัน มม ผู้เสียหายที่ 2 และนางสาวซัน นา ผู้เสียหายที่ 3 เป็นคนต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาในวันเวลาที่เกิดเหตุตามฟ้องทหารเรือตรวจสอบบริเวณท่าเทียบเรือประมงสถานที่เกิดเหตุพบว่ามีคนต่างด้าวถูกบังคับให้ค้าประเวณี และนำตัวผู้เสียหายทั้งสามส่งมอบให้เจ้าพนักงานตำรวจ แล้วพนักงานสอบสวนกล่าวหาจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ปากผู้เสียหายทั้งสามของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า การเบิกความของผู้เสียหายทั้งสามเป็นการเบิกความผ่านล่าม แต่ล่ามมิได้สาบานตน จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13 วรรคสอง (ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น) เห็นว่า ในคำให้การพยานของผู้เสียหายทั้งสามที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้เสียหายแต่ละคนลงไว้ตอนท้ายนั้น มีลายมือชื่อของบุคคลอื่นลงไว้พร้อมระบุฐานะว่าเป็นล่ามต่อท้ายลายมือชื่อดังกล่าวด้วย อันเป็นการแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าผู้เสียหายทั้งสามซึ่งเป็นคนต่างด้าวไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษาไทย เพราะหากผู้เสียหายทั้งสามพูดหรือเข้าใจภาษาไทยได้ย่อมไม่มีเหตุผลที่จะต้องมีการจัดหาล่ามแปล ดังนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ปากผู้เสียหายทั้งสามจึงต้องตกอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น แต่ไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้บันทึกไว้ ณ ที่ใดว่า บุคคลผู้ลงลายมือชื่อเป็นล่ามผู้แปลนี้เป็นใคร และได้สาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะแปลถ้อยคำของผู้เสียหายทั้งสามให้ถูกต้องและทำหน้าที่โดยสุจริตใจ ไม่เพิ่มเติมหรือตัดทอนสิ่งที่แปล ดังนั้นการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในการสืบพยานปากผู้เสียหายทั้งสามนี้จึงเป็นการฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าว ย่อมไม่ชอบ เมื่อการดำเนินกระบวนพิจารณาในการสืบพยานโจทก์ปากผู้เสียหายทั้งสามไม่ชอบเช่นนี้ ชอบที่ศาลจะต้องเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสีย แม้ผู้เสียหายทั้งสามจะเป็นคนต่างด้าวและเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไปแล้ว ก็มิได้หมายความว่าล่วงเลยระยะเวลาที่จะแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนี้ได้ เมื่อพยานปากผู้เสียหายทั้งสามเป็นพยานสำคัญในคดี ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานโจทก์ปากผู้เสียหายทั้งสามและพิพากษาใหม่ให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้สั่งให้แก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนี้โดยเห็นว่าผู้เสียหายทั้งสามเป็นคนต่างด้าวและเดินทางออกนอกราชอาณาจักรแล้วและวินิจฉัยว่าไม่อาจใช้คำเบิกความของผู้เสียหายทั้งสามมารับฟังเป็นพยานหลักฐานยันจำเลยทั้งสองได้แล้วพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานปากผู้เสียหายทั้งสามใหม่ โดยให้ล่ามปฏิบัติให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13 แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share