คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 152/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับค่าเสียหายไว้ว่าต้องเสียเงินเพื่อเป็นค่าทำศพ 10,000 บาท ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ส่วนค่าทำศพจะมีอะไรบ้าง จำนวนเงินเท่าใดเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา
เมื่อลูกจ้างของจำเลยขับรถด้วยความประมาทแล้ว แม้ผู้ขับรถคันที่ผู้ตายโดยสารมาจะประมาทด้วยก็ตาม จำเลยก็จะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ความรับผิดในความเสียหายของจำเลยลดลงหาได้ไม่

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลพิพากษาตามยอม และมีคำสั่งบังคับตามยอมแล้ว
(ก) วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๑๒ จำเลยยื่นคำร้องว่าโจทก์ทำการก่อสร้างไม่ถูกต้องเรียบร้อยตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ (๑) ถึง (๑๓) ขอให้ศาลออกหมายเรียกโจทก์กับกรรมการตรวจงานมาไต่สวน และขอให้ศาลไปเผชิญสืบอาคารที่ก่อสร้าง
(ข) วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๑๓ จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยได้วางเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๖ วรรคแรก ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยยังไม่มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๖ วรรคสอง
(ค) วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๑๓ จำเลยยื่นคำร้องว่า โจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๑ (๑๔) ให้ครบถ้วน ขอให้เรียกโจทก์มารสอบถามและบังคับโจทก์
(ง) วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๑๖ โจทก์ยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยฟังตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๑๕ นับถึงวันนี้เกินกว่า ๖ เดือน และศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลฎีกาที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทุเลาการบังคับให้จำเลยฟังตั้งแต่วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๑๖ จำเลยยังไม่ชำระเงินให้โจทก์ ถือว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๖ วรรคสอง ขอให้ศาลสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดิน สำนักงานที่ดินกรุงเทพฯ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๖๗๗๙ , ๖๗๘๐ ให้แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องข้อ (ก) และ (ข) ว่า ให้ยกคำร้องข้อ (ค) ว่าให้รอการสั่งคำร้องของจำเลยไว้จนกว่าจะทราบผลคำพิพากษาศาลฎีกาในปัญหาว่า โจทก์ทำการก่อสร้างถูกต้องเรียบร้อยตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ (๑) ถึง (๑๓) หรือไม่ ข้อ (ง) ว่าให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดที่ ๖๗๗๙, ๖๗๘๐ พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นในปัญหาตามคำร้อง ข้อ (ก) (ข) (ค) (ง) และขอทุเลาการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๖ วรรคสอง
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า ให้รอการปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๖ ไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลอุทธรณ์จะพิพากษาอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย และพิพากษาในปัญหาข้อ (ก) ว่าให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งใหม่ ข้อ (ข) ว่าเมื่อบัดนี้ศาลฎีกาได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกคำร้องข้อ (ก) ของจำเลยแล้วข้ออ้างของจำเลยย่อมตกไป และไม่มีเหตุอื่นใดที่ศาลอุทธรณ์จะสั่งตามคำร้องของจำเลยได้ พิพากษายืน ข้อ (ค) ว่า ศาลฎีกาได้พิพากษาในปัญหาตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๑ (๑) ถึง (๑๓) ตามคำร้องข้อ (ก) ของจำเลยแล้ว จึงพ้นเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดรอการสั่งคำร้อง ไม่ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ ข้อ (ง) ว่า ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้น พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อ (ก) ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกคำร้องของจำเลย ปัญหาในข้อ (ก) จึงยุติไปแล้ว
จำเลยฎีกาในปัญหาข้อ (ข) (ค) (ง)
ปัญหาข้อ (ข) ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้ทำผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ ๑ (๑๔) ดังจะได้กล่าวไว้ในปัญหาข้อ (ค) ที่ถัดไป เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๖ วรรคสอง ตอนแรก มีว่าจำเลยจะผ่อนชำระเงินที่เหลืออีก ๓,๙๔๐,๐๐๐ บาทให้โจทก์เป็นงวด ๆ งวดละ ๓ เดือน เป็นเงินงวดละ ๓๐๐,๐๐๐ บาท โดยให้จำเลยชำระงวดที่สอง นับแต่วันที่ได้ชำระงวดแรก และปรากฏว่าจำเลยได้ชำระเงินงวดแรก ๓๐๐,๐๐๐ บาท ในวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๑๒ จำเลยก็ต้องชำระเงินงวดที่สองให้โจทก์ในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ เมื่อจำเลยไม่ชำระ และไม่ชำระเงินงวดที่สามในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ก็ต้องถือว่าจำเลยผิดสัญญาข้อ ๖ วรรคสอง มาตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ เป็นต้นมา
ปัญหาข้อ (ค) ศาลฎีกาฟังว่า โจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๑ (๑๔) แล้ว
ปัญหาข้อ (ง) ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลฎีกาได้พิพากษายกคำร้องของจำเลยในข้อ (ก) ก็ฟังได้ว่าโจทก์ได้ทำการก่อสร้างถูกต้องเรียบร้อยตามสัยญาประนีประนอมยอมความข้อ ๑ (๑) ถึง (๑๓) ตั้งแต่วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๑๒ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๖ จำเลยวางเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๖ วรรคแรก ในวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๑๒ เมื่อไม่ชำระงวดที่สองและงวดต่อ ๆ ไปตามกำหนดเวลาที่กล่าวในคำวินิจฉัยปัญหาข้อ (ข) ก็ฟังได้ว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๖ วรรคสอง ตอนแรกแล้ว สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๖ วรรคสอง ตอนหลัง มีว่า ถ้าจำเลยผิดนัดชำระเงินตั้งแต่งวดที่สอง สองงวดติดกัน ให้โจทก์ริบเอาที่ดินโฉนดที่ ๖๗๗๙, ๖๗๘๐ พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ได้จำนองไว้กับโจทก์เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ได้ทันที จำเลยต้องไปโอนใน ๓ วัน ถ้าไม่ไปก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย เช่นนี้ เห็นได้ว่ากำหนดเวลาที่จำเลยจะต้องปฏิบัติชำระหนี้ในเรื่องที่จะต้องโอนที่ดินโฉนดดังกล่าวได้ล่วงพ้นมาตั้งแต่วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดนัด ผิดสัญญาตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๖ วรรคสอง
ตอนหลังด้วย เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งของศาลฎีกาที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทุเลาการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๖ ในวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๑๖ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะสั่งในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๑๖ ให้เจ้าพนักงานที่ดินโอนที่ดินตามสัญญาข้อ ๖ วรรคสอง ตอนหลังให้แก่โจทก์ได้ หาใช่จะต้องมาเริ่มนับเวลาชำระหนี้กันใหม่ตั้งแต่วันถัดจากวันที่จำเลยฟังคำสั่งของศาลฎีกาที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทุเลาการบังคับดังฎีกาของจำเลยไม่ เพราะการให้ทุเลาการบังคับเป็นเรื่องรอการบังคับไว้จนกว่าศาลจะพิพากษา เป็นคนละเรื่องกันกับกำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลได้มีคำพิพากษาและมีคำบังคับตามยอมแล้ว
พิพากษายืน

Share