คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1009/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “ทรัพย์สินอย่างใด ๆ ดังว่ามานี้ก็ดี” และคำว่า “ทรัพย์สินเช่นว่านั้นก็ดี” ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรค 2 นั้นหมายถึงทรัพย์ต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในวรรคต้น ซึ่งรวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินกับโจทก์ โดยโจทก์ยอมเพิ่มเงินสดให้จำเลยอีก ๒,๕๐๐ บาท และต่างมอบที่ดินให้กันและกันตั้งแต่วันทำสัญญาต่างฝ่ายได้เข้าครอบครองทำกินในที่ดินดังกล่าวโดยสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาแต่ยังมิได้มอบโฉนดและโอนกรรมสิทธิ์แก่กัน โจทก์ได้ติดต่อให้จำเลยโอนกรรมสิทธิให้โจทก์จำเลยก็ผัดผ่อนเรื่อยมา ในที่สุดจำเลยกับบริวารได้บุกรุกเข้าปลูกโรงทำนาชั่วคราวในที่ดินซึ่งได้แลกเปลี่ยนกับโจทก์ จึงขอให้บังคับให้เจ้าพนักงานที่ดินถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดแล้วใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อไป ถ้าไม่สามารถจะโอนได้ก็ให้จำเลยคืนที่ดินแก่โจทก์และใช้ค่าเสียหายพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยสู้ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์จำเลยทำสัญญาจะแลกเปลี่ยนกันไว้เท่านั้น สัญญาเป็นโมฆะเพราะทำกันเอง จำเลยไม่ได้รับเงินจากโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยน ไม่ต้องจดทะเบียน มีผลผูกพันคู่กรณี ให้เจ้าพนักงานที่ดินถอนชื่อจำเลย และใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งจำเลยตกลงแลกเปลี่ยนกับโจทก์ หากบังคับไม่ได้ก็ให้จำเลยคืนที่ดินแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่า “ทรัพย์สินอย่างใด ๆ ดังว่ามานี้ก็ดี” และคำว่า “ทรัพย์สินเช่นว่านั้นก็ดี” ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๖ วรรค ๒ นั้น หมายถึงทรัพย์ต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในวรรคต้นซึ่งรวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ด้วย ฉะนั้น เมื่อสัญญาจะแลกเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์ระหว่างโจทก์จำเลย ได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์จำเลยผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ จึงเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย ใช้ฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ ส่วนฎีกาของจำเลยข้ออื่นเป็นเรื่องนอกประเด็น แต่ที่ศาลชึ้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้เจ้าพนักงานที่ดินถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดแล้วใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้นไม่ถูกต้อง ศาลจะพิพากษาบังคับเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสองจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์และใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ถ้าจำเลยไม่จัดการก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนา นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามศาลอุทธรณ์.

Share