คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2477/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านแม้จะกล่าวถึงมูลหนี้ว่าลูกหนี้ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับผู้ร้องในวงเงิน300,000บาทโดยยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันในวงเงินดังกล่าวหลังจากนั้นมีการเดินสะพัดทางบัญชีและต่อมาผู้ร้องได้บอกกล่าวให้ลูกหนี้ชำระหนี้ซึ่งณวันที่14มกราคม2534ลูกหนี้เป็นหนี้ผู้ร้องจำนวน546,895.54บาทผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองหลักประกันตามสัญญาจำนองพร้อมดอกเบี้ยก่อนเจ้าหนี้อื่นและวินิจฉัยว่าผู้ร้องมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราต่างๆนับตั้งแต่วันที่2กันยายน2531เป็นต้นไปก็ตามแต่เมื่อที่สุดผู้คัดค้านมีคำสั่งให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองภายในต้นเงิน300,000บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยนับแต่วันที่2กันยายน2531จนถึงวันขายทอดตลาดทรัพย์จำนองซึ่งไม่ได้ระบุให้ผู้ร้องมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นก็จะแปลว่าคำสั่งของผู้คัดค้านมีความหมายให้ผู้ร้องมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นหาได้ไม่หากคำสั่งของผู้คัดค้านดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างใดชอบที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิคัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา146เมื่อผู้ร้องไม่ได้ใช้สิทธิคัดค้านภายในกำหนดเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าวคำสั่งของผู้คัดค้านย่อมถึงที่สุดผู้ร้องจะคัดค้านอีกหาได้ไม่และเมื่อตามบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงินผู้คัดค้านได้คำนวณให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์ตามคำสั่งของผู้คัดค้านบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงินของผู้คัดค้านจึงถูกต้องแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้(จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2534 ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านขายทอดตลาดทรัพย์จำนองเพื่อชำระหนี้แก่ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 ผู้คัดค้านมีคำสั่งให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองซึ่งติดจำนองแก่ผู้ร้อง ต่อมาผู้คัดค้านขายทอดตลาดทรัพย์จำนองดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2535 และมีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องทราบว่าได้จัดทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงินดังกล่าวต่อผู้คัดค้านผู้คัดค้านมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลว่า ที่ผู้คัดค้านมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องโดยอ้างว่า คำร้องของผู้ร้องเป็นการคัดค้านคำสั่งผู้คัดค้านที่อนุญาตให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดซึ่งถึงที่สุดแล้วนั้นผู้ร้องไม่เห็นพ้องด้วยเพราะคำร้องของผู้ร้องเป็นการคัดค้านบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงินซึ่งผู้คัดค้านคำนวณไม่ถูกต้อง โดยผู้ร้องมีบุริมสิทธิจำนองอันเป็นหลักประกันที่ขายทอดตลาดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในต้นเงิน 268,489.14 บาท อันเป็นยอดหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดณ วัน จดทะเบียนจำนองวันที่ 2 กันยายน 2531 พร้อมดอกเบี้ยแบบทบต้นในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยจนถึงวันครบกำหนดบอกกล่าวให้ชำระหนี้วันที่ 14 มกราคม 2534 อันเป็นวันสิ้นสุดบัญชีเดินสะพัดเป็นเงิน 546,895.54 บาท และผู้ร้องยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองโดยคิดแบบไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของวงเงินจำนอง 300,000 บาทนับถัดจากวันสิ้นสุดบัญชีเดินสะพัด คือนับแต่วันที่ 15 มกราคม 2534จนถึงวันที่ 30 มกราคม 2535 ซึ่งเป็นวันขายทอดตลาดทรัพย์จำนองเป็นเงินดอกเบี้ย 59,498.58 บาท รวมแล้วเป็นหนี้บุริมสิทธิจำนองที่ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองเป็นเงิน 606,394.12 บาทขอให้กลับคำสั่งของผู้คัดค้านที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และมีคำสั่งให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของลูกหนี้เป็นเงินทั้งสิ้น 606,394.12 บาท
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองว่า ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองภายในต้นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยนับแต่วันที่ 2 กันยายน 2531 จนถึงวันขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง ซึ่งคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ต่อมาผู้คัดค้านได้ขายทอดตลาดและทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงินโดยคำนวณหนี้ของผู้ร้องในต้นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้น ในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยนับแต่วันที่ 2 กันยายน 2531 จนถึงวันที่ 30 มกราคม 2535 อันเป็นวันขายทอดตลาดตามคำสั่งของผู้คัดค้านเกี่ยวกับคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง ซึ่งคำนวณแล้วรวมเป็นเงินที่ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระ 469,521.62 บาท แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านอ้างบุริมสิทธิจำนองในหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดและคิดดอกเบี้ยแบบทบต้น อันเป็นการโต้แย้งคำสั่งของผู้คัดค้านเกี่ยวกับคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองดังกล่าวซึ่งถึงที่สุดแล้ว มิได้เป็นการโต้แย้งคัดค้านบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงินแต่อย่างใดที่ผู้คัดค้านมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องจึงชอบแล้วขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 165386 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจากต้นเงิน 268,489.14 บาท โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2531 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2533ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2533ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2533 ในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันที่ 23 ธันวาคม 2533ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2533 ถึงวันที่14 มกราคม 2534 ในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ตามคำสั่งของผู้คัดค้านฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2534 เอกสารหมาย ร.ค.1 และตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2534 จนถึงวันที่ 30 มกราคม 2535 ให้คิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ตามที่ผู้ร้องระบุไว้ในรายละเอียดการคิดดอกเบี้ยเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1จากต้นเงิน 300,000 บาท ทั้งนี้ยอดเงินที่ได้รับชำระทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 606,394.12 บาท
ผู้คัดค้าน ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านซึ่งผู้คัดค้านฎีกาว่า คำร้องของผู้ร้องที่ยื่นต่อผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่าเป็นการคัดค้านบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงินนั้น แท้ที่จริงเป็นการกล่าวอ้างเพื่อนำไปสู่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งของผู้คัดค้านเอกสารหมาย ร.ค.1 ซึ่งถึงที่สุดแล้วอันเป็นการไม่ชอบ และบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงินเอกสารหมาย ร.ค.3ของผู้คัดค้านเป็นการคำนวณดอกเบี้ยอย่างไม่ทบต้นในต้นเงินตามสัญญาจำนองจำนวน 300,000 บาท อันถูกต้องตามคำสั่งของผู้คัดค้านซึ่งถึงที่สุดดังกล่าวแล้ว เห็นว่า ตามคำสั่งของผู้คัดค้านเอกสารหมาย ร.ค.1 แม้จะกล่าวถึงมูลหนี้ว่า ลูกหนี้ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับผู้ร้องในวงเงิน 300,000 บาทโดยยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันในวงเงินดังกล่าว หลังจากนั้นมีการเดินสะพัดทางบัญชีและต่อมาผู้ร้องได้บอกกล่าวให้ลูกหนี้ชำระหนี้ซึ่งณ วันที่ 14 มกราคม 2534 ลูกหนี้เป็นหนี้ผู้ร้องจำนวน546,895.54 บาท ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์จำนองหลักประกันตามสัญญาจำนองพร้อมดอกเบี้ยก่อนเจ้าหนี้อื่น และวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2531 อัตราร้อยละ16.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2533 อัตราร้อยละ 19 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 และอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2533 ก็ตาม แต่เมื่อที่สุดผู้คัดค้านมีคำสั่งให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองภายในต้นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยนับแต่วันที่ 2 กันยายน 2531 จนถึงวันขายทอดตลาดทรัพย์จำนองซึ่งตามคำสั่งดังกล่าวไม่ได้ระบุให้ผู้ร้องมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นก็จะแปลความว่าคำสั่งของผู้คัดค้านมีความหมายให้ผู้ร้องมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์หาได้ไม่ หากคำสั่งของผู้คัดค้านดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างใด ชอบที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิคัดค้านตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146เมื่อผู้ร้องไม่ได้ใช้สิทธิคัดค้านภายในกำหนดเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าว คำสั่งของผู้คัดค้านย่อมถึงที่สุด ผู้ร้องจะคัดค้านอีกหาได้ไม่ เมื่อเป็นดังนี้และตามบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงินเอกสารหมาย ร.ค.3 ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้คำนวณให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในต้นเงิน300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่2 กันยายน 2531 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2533 อัตราร้อยละ 16.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2533 ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2533อัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันที่ 22 มกราคม 2534 และอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 23 มกราคม 2534 ถึงวันที่ 30 มกราคม 2535วันขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของผู้คัดค้านเอกสารหมาย ร.ค.1 บัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงินของผู้คัดค้านจึงถูกต้องแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าบัญชีดังกล่าวไม่ถูกต้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้ยก คำร้องขอ งผู้ร้อง

Share