แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ฎีกาว่าศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกเหนือจากคำให้การของพยานและเสริมแต่งข้อสันนิษฐานพยานหลักฐานให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยโดยไม่ได้บรรยายว่านอกเหนือจากคำให้การของพยานในข้อไหนอย่างไร และได้เสริมแต่งให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยอย่างไรเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งทั้งเป็นฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 “การครอบครอง” ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 หาได้มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “สิทธิครอบครอง” ตาม ป.พ.พ.ไม่ แต่มีความหมายกว้างกว่าโดยหมายความรวมถึงครอบครองเพื่อตนและครอบครองแทนผู้อื่นด้วย ทั้งนี้เพราะไม่มีบทกฎหมายใดจำกัดว่าต้องเป็นการครอบครองเพื่อตนเองเท่านั้น การตัดไม้หวงห้ามและมีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองในคดีก่อนเป็นการกระทำต่างสถานที่กับคดีนี้ และไม้คนละจำนวนกัน จึงเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484มาตรา 11, 69, 73, 74 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2494มาตรา 6 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 9พระราชบัญญัติ ป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525 มาตรา 3, 4พระราชกฤษฎีกา กำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 ริบของกลาง และนับโทษต่อจากคดีหมายเลขดำที่ 46/2531ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 46/2531 ของศาลชั้นต้นดังกล่าว
ศาลชั้นต้น พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 11 วรรคแรก, 69(2), 73(2) พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494 มาตรา 6 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2522 มาตรา 9 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525มาตรา 3, 4 ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปีฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 2 ปี รวมจำคุก 5 ปี ข้อนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี ของกลางริบ นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีหมายเลขดำที่ 46/2531 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 507/2532ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาในประการแรกว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกเหนือจากคำให้การของพยานในคดีและได้เสริมแต่งสันนิษฐานพยานหลักฐานให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยเป็นการวินิจฉัยนอกคำพยานหลักฐาน เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าฎีกาในข้อนี้ของจำเลยหาได้บรรยายให้เห็นว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกเหนือจากคำให้การของพยานในคดีในข้อไหนอย่างไร และได้เสริมแต่งสันนิษฐานพยานหลักฐานให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และฎีกาในข้อนี้ของจำเลยกล่าวโดยสรุปก็เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยฎีกาในประการต่อมาว่า จำเลยครอบครองไม้ไว้ในฐานะลูกจ้างเพื่อนำส่งโรงเลื่อยจักรบำรุงไทยซึ่งเป็นนายจ้าง จำเลยไม่ได้ยึดถือไว้เพื่อตน ย่อมไม่มีสิทธิครอบครอง จำเลยจึงไม่มีความผิดนั้นเห็นว่า คำว่า “ครอบครอง” ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 นั้นหาได้มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “สิทธิครอบครอง” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ หากแต่มีความหมายกว้างกว่าโดยหมายความรวมถึงครอบครองเพื่อตนเองและครอบครองแทนผู้อื่นด้วย ทั้งนี้เพราะไม่มีบทกฎหมายใดจำกัดว่าต้องเป็นการครอบครองเพื่อตนเองเท่านั้นจึงจะเป็นความผิด อีกทั้งในทางอาญาการร่วมกันครอบครองไม้หวงห้ามก็เป็นความผิดเช่นเดียวกัน ดังนั้นการที่จำเลยครอบครองไม้ไว้ในฐานะลูกจ้างเพื่อนำส่งโรงเลื่อยจักรบำรุงไทยจึงย่อมเป็นความผิดดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาในประการสุดท้ายว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 507/2532 ที่ศาลให้นับโทษต่อ ขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหานี้ให้จำเลยด้วยนั้น ปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยว่าการที่จำเลยนำคนงานไปตัดไม้มีการตัดไม้นอกเขต น.ส.3 อยู่ 2 รายคือรายของนางบุญ วังหอมกับนายชู ผุยคำพิ จึงเป็นที่เห็นได้ชัดว่าการที่จำเลยทำไม้หวงห้าม และมีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองเป็นการกระทำต่างสถานที่กัน และไม้ก็เป็นคนละจำนวนกันการกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้จึงมิใช่เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับคดีหมายเลขแดงที่507/2532 ของศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน.