แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องคดีขอให้จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินสาขา จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดเพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกของ ม. มารดาซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วออกจากโฉนดที่ดินและน.ส.3 โดยอ้างว่า ว. บิดาได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ก่อนตายม. จึงไม่มีสิทธิรับมรดกดังกล่าวมาแต่ต้น อันถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิระหว่างโจทก์กับกองมรดกของ ม. โดยตรง และการขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดกดังกล่าวย่อมกระทบกระเทือนถึงสิทธิของทายาทอื่นที่มีสิทธิรับมรดกของ ม. ซึ่งเป็นบุคคลนอกคดี เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องหรือขอให้เรียกทายาทของ ม. เข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วยผลของคำพิพากษาย่อมไม่ผูกพันทายาทอื่นของ ม. ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ศาลก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายวงษ์กับนางมะลิเงินทอง จำเลยทั้งสามมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินและมีอำนาจเพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เมื่อปี 2536 นายวงษ์ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 163 และที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 41200 ตำบลช่องแคอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นมรดกของนายวงษ์ให้แก่นางมะลิ ต่อมาเดือนมิถุนายน 2539 นางมะลิถึงแก่ความตาย โจทก์จึงพบพินัยกรรมของนายวงษ์ยกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์เพียงผู้เดียว โจทก์จึงมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกดังกล่าว จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 3 สั่งเพิกถอนแต่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ปฏิบัติราชการแทนจำเลยที่ 3 มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 แจ้งโจทก์ให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 และ 71 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันเพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 163 และที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 41200 ตำบลช่องแคอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ หากจำเลยทั้งสามไม่เพิกถอน ขอให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายวงษ์เงินทอง เนื่องจากข้อกำหนดในพินัยกรรมที่โจทก์อ้างไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งว่า นายวงษ์จะยกทรัพย์สินอะไรให้แก่บุคคลใด และไม่มีข้อความระบุว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของนายวงษ์ ลายมือชื่อผู้เขียนพินัยกรรมมิใช่ลายมือชื่อของนายวงษ์ พินัยกรรมจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินทั้งสองแปลงเป็นกรรมสิทธิ์รวมของนายวงษ์กับนางมะลิเมื่อนายวงษ์ถึงแก่ความตายนางมะลิย่อมมีสิทธิรับมรดกที่ดินในส่วนของนายวงษ์และเมื่อนางมะลิขอรับโอนที่ดินมรดกดังกล่าวของนายวงษ์ โจทก์และทายาทโดยธรรมทุกคนของนายวงษ์ทำหนังสือแสดงเจตนาสละมรดกให้แก่นางมะลิ จำเลยที่ 1 สอบสวนทำบัญชีเครือญาติและประกาศเรื่องจดทะเบียนมรดกของนายวงษ์ผู้ตายตามระเบียบแล้ว ไม่มีผู้คัดค้านการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม การโอนมรดกที่ดินของนายวงษ์ให้แก่นางมะลิจึงชอบด้วยกฎหมายและระเบียบราชการโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายวงษ์และนางมะลิ เงินทอง บุคคลทั้งสองจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2504 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ สาขาตาคลี มีอำนาจหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในเขตอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์และเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนจำเลยที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 เมื่อนายวงษ์ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 41200 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 163 ตำบลช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ให้แก่นางมะลิผู้ภริยาโดยโจทก์และทายาทอื่น ๆ ของนายวงษ์ ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ว่าไม่ประสงค์จะรับมรดกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวและยินยอมให้นางมะลิเป็นผู้รับมรดกแต่ผู้เดียว หลังจากนางมะลิมารดาโจทก์ถึงแก่ความตาย โจทก์ทำหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินดังกล่าวโดยอ้างว่าโจทก์แต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวตามพินัยกรรมของนายวงษ์ซึ่งเพิ่งจะค้นพบ จำเลยที่ 1 ได้ส่งเรื่องให้จำเลยที่ 2ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์จำเลยที่ 3 พิจารณาสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวแต่ในที่สุดจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้โจทก์ไปดำเนินการยื่นคำร้องขออายัดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 83 จึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามโดยไม่ต้องฟ้องทายาทของนางมะลิหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามเพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกรายนางมะลิซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วออกจากโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยอ้างว่านายวงษ์บิดาได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ก่อนถึงแก่ความตาย นางมะลิผู้เป็นมารดาจึงไม่มีสิทธิที่จะรับมรดกที่ดินดังกล่าวมาแต่ต้นอันเป็นการโต้แย้งสิทธิระหว่างโจทก์กับกองมรดกของนางมะลิโดยตรง และการขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดกดังกล่าวย่อมกระทบกระเทือนถึงสิทธิของทายาทอื่นที่มีสิทธิรับมรดกของนางมะลิผู้ตายซึ่งเป็นบุคคลนอกคดี เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องหรือขอให้เรียกทายาทของนางมะลิเข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย ผลของคำพิพากษาย่อมไม่มีผลผูกพันทายาทอื่นของนางมะลิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ได้ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ศาลก็มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) สำหรับฎีกาข้ออื่นของโจทก์มิใช่ข้อสาระสำคัญที่จะทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่ยกขึ้นวินิจฉัยให้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน