คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 184/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินบำรุงท้องที่เป็นเงินที่ทางรัฐให้เรียกเก็บเพื่อใช้จ่ายบำรุงความผาสุกของราษฎรในท้องที่ ผู้ใดไม่เสียเจ้าพนักงานอาจยึดทรัพย์สินมาขายทอดตลาดเอาเงินชำระได้ฉะนั้นเมื่อเจ้าพนักงานเรียกเก็บเงินนี้มาจากราษฎรได้แล้ว เงินนี้ก็เป็นเงินของแผ่นดินหาใช่เงินของราษฎรที่เสียภาษีแต่ละคนไม่ และเมื่อสมุห์บัญชีอำเภอรับเงินนี้ไว้จากราษฎรในฐานที่เป็นสมุห์บัญชีอำเภอสมุห์บัญชีอำเภอก็มีหน้าที่รับผิดชอบปกครองดูแลรักษาเงินนี้ไว้เมื่อสมุห์บัญชีอำเภอยักยอกเงินนี้ไป ก็ย่อมมีผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131 และในการดำเนินคดี ก็ไม่จำต้องให้ราษฎรเจ้าของเงินมาร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 รับราชการเป็นสมุห์บัญชีอำเภอห้างฉัตรจำเลยที่ 2 เป็นเสมียนแผนกสรรพากรอำเภอห้างฉัตร ได้สมคบกันยักยอกเงินช่วยบำรุงท้องที่ ซึ่งราษฎรนำส่งต่อรัฐบาล ฯลฯ ขอให้โทษ

จำเลยปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 131 ให้จำคุก 6 ปี ลดตามมาตรา 59 หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี กับให้ใช้ราคาทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ผิด ให้ยกฟ้องปล่อยตัวไป

จำเลยที่ 1 ผู้เดียวอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาเห็นว่า เงินที่จำเลยรับไว้จากราษฎรนี้ เป็นเงินช่วยบำรุงท้องที่ ซึ่งค้างเก็บในระหว่าง พ.ศ. 2486 ถึง 2492 ทางจังหวัดเขียนใบเสร็จส่งมาให้อำเภอดำเนินการเก็บจากราษฎรแล้วจำเลยที่ 1 ได้สั่งให้กำนันไปแจ้งแก่ราษฎรให้นำเงินมาชำระราษฎรจึงได้นำเงินมาชำระให้จำเลยที่ 1 ๆ รับเงินจากราษฎรแล้วก็มอบใบเสร็จซึ่งทางจังหวัดส่งมาให้นั้นแก่ราษฎรไป ดังนี้ เงินที่จำเลยรับไว้นี้จึงเป็นเงินที่ราษฎรนำมาชำระเป็นเงินช่วยบำรุงท้องที่ แม้จะยังไม่ประกาศแบบบ.ท.6 และ บ.ท.7 อีกครั้งหนึ่งก็ไม่สำคัญ เพราะเป็นเงินค้างเก็บ ซึ่งราษฎรมีหน้าที่จะต้องชำระอยู่ทุกเมื่อแล้ว จำเลยที่ 1 รับไว้ในฐานที่เป็นสมุหบัญชีอำเภอจำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่รับผิดชอบปกครองดูแลรักษาเงินนี้ตามฟ้องโจทก์

และเงินบำรุงท้องที่นี้ แม้ในขณะเกิดเหตุก็เป็นเงินที่ทางรัฐให้เรียกเก็บเพื่อใช้จ่ายบำรุงความผาสุขของราษฎรในท้องที่ผู้ใดไม่เสีย เจ้าพนักงานอาจยึดทรัพย์สินมาขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ได้ ดังนี้ เมื่อเจ้าพนักงานเรียกเก็บเงินนี้มาจากราษฎรได้แล้วเงินนี้ก็เป็นของแผ่นดิน หาใช่เป็นเงินของราษฎรที่เสียภาษีแต่ละคนไม่ เมื่อจำเลยยักยอกเงินนี้ไป ก็ไม่จำต้องให้ราษฎรเจ้าของเงินมาร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดี

ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

จึงพิพากษายืน

Share