คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1836-1837/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาที่มีต่อบุคคลอื่น ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 122 หมายถึงสิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้จะพึงได้รับหาใช่สิทธิตามสัญญาที่ผู้อื่นจะพึงได้รับไม่ ผู้ร้องทั้งสองชำระค่าที่ดินให้แก่ลูกหนี้ที่ 2 ครบถ้วนตามสัญญา ลูกหนี้ที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะได้รับจากผู้ร้องทั้งสองอีก ลูกหนี้ที่ 2 คงมีแต่เพียงหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายคือการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้องทั้งสอง กรณีจึงเป็นสิทธิตามสัญญาที่ผู้อื่นจะพึงได้รับหาใช่สิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้ที่ 2 จะพึงได้รับไม่ จึงไม่อยู่ในดุลพินิจของผู้คัดค้านที่จะพิจารณาว่า สิทธิตามสัญญาที่ผู้ร้องทั้งสองจะพึงได้รับมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 หรือไม่ เพราะประโยชน์ที่จะพึงได้ในการที่ผู้ร้องทั้งสองใช้สิทธิเรียกร้องให้ปฏิบัติตามสัญญาตกได้แก่ผู้ร้องทั้งสองหาตกได้แก่ลูกหนี้ที่ 2 ไม่ ผู้คัดค้านจึงไม่อาจปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่จะต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้ร้องทั้งสอง และการโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวสามารถแยกส่วนกับภาระหนี้จำนองและการไถ่ถอนจำนองที่ลูกหนี้ที่ 2 มีต่อผู้รับจำนอง ประกอบกับผู้รับจำนองเพียงแต่มีคำร้องขอให้ผู้คัดค้านดำเนินการยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองซึ่งแบ่งเป็นแปลงย่อยและขอรับชำระหนี้ จึงอยู่ในวิสัยที่ผู้คัดค้านจะดำเนินการในส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้องทั้งสองได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลล้มละลายกลางพิจารณาและมีคำสั่งรวมกัน โดยให้เรียกผู้ร้องสำนวนแรกว่า ผู้ร้องที่ 1 เรียกผู้ร้องสำนวนหลังว่า ผู้ร้องที่ 2
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2550 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 2 เด็ดขาด ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2551ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ผู้ร้องทั้งสองทำกับลูกหนี้ที่ 2 ผู้คัดค้านสอบสวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งกลับคำสั่งของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2090 และ 2091 ตำบลทุ่งสีกัน อำเภอดอนเมือง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์แบบ 3 ชั้น เลขทะเบียนที่ 34/403 และ 34/404 ให้แก่ผู้ร้องที่ 1 และที่ดินโฉนดเลขที่ 2094 และ 2095 ตำบลทุ่งสีกัน อำเภอดอนเมือง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์แบบ 3 ชั้น เลขทะเบียนที่ 34/407 และ 34/408 ให้แก่ผู้ร้องที่ 2 ให้ลูกหนี้ที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องทั้งสอง โดยหักจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ส่วนค่าทนายความให้ผู้คัดค้านกำหนดตามที่เห็นสมควร คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2546 ผู้ร้องที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2090 และ 2091 ตำบลทุ่งสีกัน อำเภอดอนเมือง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์แบบ 3 ชั้น เลขทะเบียนที่ 34/403 และ 34/404 แก่ลูกหนี้ที่ 2 ในราคารวม 1,510,000 บาท ผู้ร้องที่ 1 ชำระเงินให้แก่ลูกหนี้ที่ 2 ครบถ้วนแล้วตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2548 ตาม แต่ลูกหนี้ที่ 2 ผิดสัญญาไม่ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแก่ผู้ร้องที่ 1 ผู้ร้องที่ 1 จึงฟ้องลูกหนี้ที่ 2 ที่ศาลแพ่งเพื่อให้ปฏิบัติตามสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้ร้องที่ 1 ซึ่งศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 2369/2551 ให้ลูกหนี้ที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแก่ผู้ร้องที่ 1 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาในการโอนกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ที่ 2 และเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2546 ผู้ร้องที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2094 และ 2095 ตำบลทุ่งสีกัน อำเภอดอนเมือง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์แบบ 3 ชั้น เลขทะเบียนที่ 34/407 และ 34/408 แก่ลูกหนี้ที่ 2 ในราคารวม 1,550,000 บาท ผู้ร้องที่ 2 ชำระเงินให้แก่ลูกหนี้ที่ 2 ครบถ้วนแล้วตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2548 แต่ลูกหนี้ที่ 2 ผิดสัญญาไม่ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแก่ผู้ร้องที่ 2 ทั้งนี้ที่ดินทั้ง 4 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวกับที่ดินแปลงอื่นรวม 761 แปลง ลูกหนี้ที่ 2 นำไปจดทะเบียนจำนองรวมเป็นประกันหนี้แก่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2551 ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ผู้ร้องทั้งสองทำกับลูกหนี้ที่ 2 โดยผู้ร้องทั้งสองได้วางเงินคนละ 480,000 บาท ต่อผู้คัดค้านเพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้จำนอง และวันที่ 23 มกราคม 2552 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านยึดทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่ 2 รวม 177 แปลง ซึ่งรวมถึงที่ดินที่ผู้ร้องทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายกับลูกหนี้ที่ 2 ทั้ง 4 แปลง ออกขายทอดตลาดและมีคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านมีว่า ผู้คัดค้านมีอำนาจปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างผู้ร้องทั้งสองกับลูกหนี้ที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาที่มีต่อบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 122 นั้น หมายถึงสิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้จะพึงได้รับหาใช่สิทธิตามสัญญาที่ผู้อื่นจะพึงได้รับไม่ ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ผู้ร้องทั้งสองได้ชำระค่าที่ดินให้แก่ลูกหนี้ที่ 2 ครบถ้วนตามสัญญา ลูกหนี้ที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะได้รับจากผู้ร้องทั้งสองอีก ลูกหนี้ที่ 2 คงมีแต่เพียงหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายคือการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้องทั้งสอง กรณีจึงเป็นสิทธิตามสัญญาที่ผู้อื่นจะพึงได้รับ หาใช่สิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้ที่ 2 จะพึงได้รับไม่ จึงไม่อยู่ในดุลพินิจของผู้คัดค้านที่จะพิจารณาว่าสิทธิตามสัญญาที่ผู้ร้องทั้งสองจะพึงได้รับมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 หรือไม่ เพราะประโยชน์ที่จะพึงได้ในการที่ผู้ร้องทั้งสองใช้สิทธิเรียกร้องให้ปฏิบัติตามสัญญาตกได้แก่ผู้ร้องทั้งสองหาตกได้แก่ลูกหนี้ที่ 2 ไม่ ผู้คัดค้านจึงไม่อาจปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่จะต้องดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้ร้องทั้งสอง และการโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวสามารถแยกส่วนกับภาระหนี้จำนองและการไถ่ถอนจำนองที่ลูกหนี้ที่ 2 มีต่อผู้รับจำนอง ประกอบกับผู้รับจำนองเพียงแต่มีคำร้องขอให้ผู้คัดค้านดำเนินการยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองซึ่งแบ่งเป็นแปลงย่อยและขอรับชำระหนี้ จึงอยู่ในวิสัยที่ผู้คัดค้านจะดำเนินการในส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้องทั้งสองได้ คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้ผู้คัดค้านโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้องทั้งสองจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เนื่องจากคดีนี้เป็นกรณีพิพาทระหว่างผู้ร้องกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้าน การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีเป็นผู้กำหนดค่าทนายความให้แก่ผู้ร้องตามที่ผู้คัดค้านเห็นสมควรนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนผู้ร้องโดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลแก่ผู้ร้องทั้งสองคนละ 8,000 บาท โดยให้หักจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง

Share