แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 32 จะบัญญัติให้ผู้ได้รับความเสียหายเพราะการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ใด มีสิทธิกล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้น โดยทำเรื่องยื่นต่อแพทยสภา และคณะกรรมการมีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้มีพฤติการณ์ที่สมควรให้มีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม แต่บทกฎหมายดังกล่าวมิได้จำกัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่ใช้สิทธิตามบทกฎหมายนั้น มิให้ใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่กระทำละเมิดต่อตนแต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหกโดยไม่จำต้องรอฟังผลคำสั่งของแพทยสภา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 73,426,042 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 68,303,295 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 5 ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกบริษัทอาคเนย์ ประกันภัย (2000) จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม โดยแสดงเหตุว่า จำเลยที่ 5 ได้ทำสัญญาประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกไว้กับบริษัทดังกล่าว บริษัทดังกล่าวต้องร่วมรับผิดด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้องและยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย 1,704,572 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 30,000 บาท คำขออื่นให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 อุทธรณ์ โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 2,250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ฎีกา โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่ความตาย นางมาลี ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้ฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประกอบกิจการโรงพยาบาล ใช้ชื่อว่าโรงพยาบาลนวนคร จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 6 เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลนวนคร จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 โดยจำเลยที่ 2 เป็นแพทย์ศัลยกรรมทั่วไป จำเลยที่ 3 เป็นแพทย์ศัลยกรรมทั่วไปและดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์ จำเลยที่ 6 เป็นแพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นแพทย์ศัลยกรรมตกแต่ง และจำเลยที่ 5 เป็นแพทย์ศัลยกรรมกระดูกประจำโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชมารับจ้างจำเลยที่ 1 รักษาคนไข้นอกเวลาที่โรงพยาบาลของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2544 เวลา 18 นาฬิกา โจทก์ขับรถยนต์มีภริยาและญาติโดยสารมาตามถนนพหลโยธินจากกรุงเทพมหานครมุ่งหน้าจังหวัดสระบุรีในช่องทางด่วน เมื่อมาถึงบริเวณตลาดไท อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เกิดอุบัติเหตุยางล้อรถระเบิดเป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์ขับพลิกคว่ำตกลงร่องน้ำข้างถนน โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกนำส่งโรงพยาบาลนวนคร ขณะนั้นจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่แพทย์เวรประจำห้องผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทำการรักษาโจทก์เบื้องต้น ต่อมาเวลา 23 นาฬิกา จำเลยที่ 5 ทำการรักษาโจทก์เฉพาะบริเวณขาด้านขวา หลังจากนั้นจำเลยที่ 4 ทำการรักษาเฉพาะบริเวณใบหน้าโจทก์ หลังรับการผ่าตัดโจทก์พักรักษาในห้องผู้ป่วยวิกฤต (ไอซียู) วันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 โจทก์ย้ายไปพักห้องผู้ป่วยทั่วไป จนกระทั่งวันที่ 3 พฤศจิกายน 2544 เวลา 11 นาฬิกา โจทก์ย้ายไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ครั้นวันที่ 4 พฤศจิกายน 2544 เวลา 11 นาฬิกา แพทย์โรงพยาบาลพญาไท 2 ทำการรักษาโดยผ่าตัดขาขวาบริเวณหน้าแข้งของโจทก์และใส่ขาเทียมช่วยเดินปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ. 1 และผ่าตัดรักษาบาดแผลที่บริเวณใบหน้าโจทก์หลายครั้ง ปัจจุบันโจทก์มีสภาพใบหน้าปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.11
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างมาในศาลล่างทั้งสอง จำเลยที่ 1 ก็มีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ ซึ่งแม้พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 32 จะบัญญัติให้ผู้ได้รับความเสียหายเพราะการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ใด มีสิทธิกล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้น โดยทำเรื่องยื่นต่อแพทยสภา และคณะกรรมการมีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้มีพฤติการณ์ที่สมควรให้มีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม แต่บทกฎหมายดังกล่าวมิได้จำกัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่ใช้สิทธิตามบทกฎหมายนั้น มิให้ใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่กระทำละเมิดต่อตนแต่อย่างใด ดังนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหกโดยไม่จำต้องรอฟังผลคำสั่งของแพทยสภา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 6 รักษาโจทก์โดยประมาทเลินเล่อปล่อยให้โจทก์นอนรอในห้องฉุกเฉินเป็นเวลา 2 ชั่วโมง จึงทำการรักษาและตรวจไม่พบว่ากระดูกสันหลังโจทก์หักเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธว่า ทำการรักษาโจทก์ทันทีที่รับตัวไว้ ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ที่โจทก์อ้างว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ คือ จำเลยที่ 3 ร่วมในการตรวจรักษาโจทก์ แต่กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ในชั้นฎีกาโจทก์กลับยกเหตุใหม่ขึ้นอ้างว่า จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์มีหน้าที่ควบคุมดูแลการทำงานของแพทย์ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยอื่นด้วย ฎีกาของโจทก์ส่วนนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 5 ว่า คดีในส่วนของจำเลยร่วม ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 5 ผู้เอาประกันภัยถูกโจทก์ฟ้องให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 5 ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้าเป็นคู่ความในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหากจำเลยที่ 5 แพ้คดี โดยอาศัยความผูกพันระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยร่วมตามกรมธรรม์ประกันภัยเบ็ดเตล็ด จึงเป็นกรณีผู้เอาประกันภัยค้ำจุนใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดกรณีเมื่อเกิดวินาศภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยขึ้น ซึ่งกฎหมายได้กำหนดอายุความเรียกร้องไว้โดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง ว่า ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดสองปี นับแต่วันวินาศภัย จึงต้องบังคับใช้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 5 ต้องฟ้องหรือมีคำขอเรียกให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนเข้าเป็นคู่ความในคดีภายในกำหนดสองปี นับแต่วันวินาศภัย เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า วันวินาศภัยในคดีนี้คือวันที่โจทก์ถูกตัดขา คือ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2544 โจทก์และจำเลยทั้งหกมิได้อุทธรณ์โต้เถียงคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติว่า วันดังกล่าวเป็นวันวินาศภัยอายุความในคดีนี้จึงเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2544 แต่จำเลยที่ 5 พึ่งขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมเข้าเป็นคู่ความในคดีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 โดยอ้างเหตุเพียงว่าไม่ทราบว่าสามารถเรียกผู้รับประกันภัยเข้าเป็นจำเลยร่วมได้ คดีในส่วนของจำเลยร่วมจึงขาดอายุความสองปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า คดีในส่วนของจำเลยร่วมขาดอายุความนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาตามฎีกาของจำเลยที่ 6 ว่า การที่โจทก์ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 6 โดยส่งไปตามที่อยู่ที่ระบุในคำฟ้องนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 6 เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลนวนครของจำเลยที่ 1 จึงมีเหตุที่โจทก์เข้าใจว่า โรงพยาบาล นวนครเป็นสถานที่ทำการงานของจำเลยที่ 6 อันถือเป็นภูมิลำเนาอีกแห่งหนึ่งด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 38 ทั้งเมื่อโจทก์นำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปยังที่อยู่ดังกล่าว จำเลยที่ 6 ก็ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยเห็นได้จากจำเลยที่ 6 ได้ตั้งทนายความทำคำให้การต่อสู้คดี แม้ขณะเข้าเบิกความต่อศาลชั้นต้น จำเลยที่ 6 จะระบุที่อยู่ของตนเป็นบ้านเลขที่ 13/28 ถนนสุนทรโกษา แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร แต่จำเลยที่ 6 ก็มิได้แถลงต่อศาลหรือแจ้งต่อโจทก์ว่า จำเลยที่ 6 มิได้มีที่ทำการงานอยู่ที่โรงพยาบาลนวนครเนื่องจากลาออกจากโรงพยาบาลดังกล่าวแล้ว และมีที่อยู่ตามที่เบิกความต่อศาล เช่นนี้โจทก์ย่อมไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยที่ 6 มิได้มีที่ทำการงานตามที่ระบุในคำฟ้องเป็นภูมิลำเนาอีกแห่งหนึ่ง การที่โจทก์ยังคงนำส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์แก่จำเลยที่ 6 โดยส่งไปยังที่อยู่ตามคำฟ้องจึงมิใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งยังได้ความด้วยว่าระหว่างอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา และศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องโดยส่งหมายแจ้งวันนัดพร้อมสำเนาคำร้องและสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 6 ณ ที่อยู่ตามคำฟ้องซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาล นวนครโดยวิธีปิดหมาย เมื่อถึงวันนัดจำเลยที่ 6 ก็ได้ตั้งทนายความมาถามค้านพยานโจทก์ด้วย ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 27 กันยายน 2549 ดังนี้ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 6 ทราบอย่างช้าในวันดังกล่าวว่ามีการส่งหมายนัดและคำคู่ความแก่จำเลยที่ 6 ตามที่อยู่ตามคำฟ้อง ซึ่งมิใช่ภูมิลำเนาอันแท้จริงของจำเลยที่ 6 แต่จำเลยที่ 6 ก็มิได้ขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียภายใน 8 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 6 ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้าง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง ดังนี้จำเลยที่ 6 จึงไม่อาจยกข้ออ้างว่าการส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 6 ณ ที่อยู่ตามคำฟ้องเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยที่ 6 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงทั้งบาดแผลผ่าตัดที่ใบหน้าและข้อเท้าขวา อาการดังกล่าวปรากฏตั้งแต่โจทก์รักษาที่โรงพยาบาลนวนครของจำเลยที่ 1 แต่แพทย์ของจำเลยที่ 1 กลับเห็นว่าเป็นน้ำเสียปนเลือด มิใช่หนอง อาการปวดที่เกิดขึ้นก็เห็นว่าเป็นอาการปวดจากบาดแผลผ่าตัดตามปกติ ทั้งนี้ เพราะไม่สนใจติดตามผลการรักษาอย่างจริงจังเพื่อดูว่าผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนหรือไม่ เมื่อพบอาการผิดปกติก็ไม่สนใจตรวจดูและวินิจฉัยโรคให้ถูกต้อง จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 จึงประมาทเลินเล่อปล่อยให้โจทก์ติดเชื้อภายหลังผ่าตัดแล้วไม่ทำการรักษาให้ทันท่วงทีจนเชื้อลุกลามไม่อาจแก้ไขได้ ต้องตัดขาโจทก์ ซึ่งตามมาตรฐานทางการแพทย์น่าจะป้องกันและรักษาได้ เหตุที่โจทก์ถูกตัดขาจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อในการดูแลรักษาเบื้องต้นของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 จำเลยดังกล่าวจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ฎีกาในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 มิได้ทำการรักษาโจทก์โดยประมาทเลินเล่อ แต่ได้ตรวจรักษาโจทก์ในทันทีและดูแลอาการของโจทก์ตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแล้วนั้น โจทก์มีตัวโจทก์ นายสมบูรณ์ น้องชายโจทก์ และนางมาลี มารดาโจทก์เบิกความเป็นพยานในทำนองเดียวกันว่า โจทก์ถูกนำส่งโรงพยาบาลนวนครเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2544 เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ โจทก์ได้รับบาดเจ็บบริเวณใบหน้าด้านขวาฉีกขาดทั้งแถบ กระดูกข้อเท้าขวาหัก กระดูกเหนือหัวเข่าขวาหัก จำเลยที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่แพทย์ประจำห้องผู้ป่วยฉุกเฉินทำการรักษาโจทก์เบื้องต้น ต่อมาจำเลยที่ 4 ทำการผ่าตัดรักษาบริเวณใบหน้า และจำเลยที่ 5 ทำการผ่าตัดใส่เหล็กดามข้อเท้า หลังการผ่าตัดโจทก์พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนวนคร แต่แพทย์ที่ทำการรักษามิได้ติดตามดูอาการของโจทก์ นายสมบูรณ์และนางมาลีรอพบแพทย์ที่ผ่าตัดโจทก์แต่ก็ไม่ได้พบ ต่อมามีจำเลยที่ 2 และที่ 4 มาตรวจรักษาบาดแผลที่ใบหน้า และจำเลยที่ 6 มาตรวจดูอาการที่ข้อเท้าแล้วแจ้งว่าโจทก์มีอาการปกติ แต่ความจริงแล้วโจทก์มีอาการไม่ดี ปวดขามาก เริ่มมีไข้สูง มีกลิ่นเน่าออกจากบริเวณใบหน้า บรรดาญาติจึงตกลงย้ายโจทก์ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลพญาไท 2 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2544 และโจทก์มีนายบัญญัติ กับนายธำรงค์โรจน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อโรงพยาบาลพญาไท 2 เป็นพยานเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ขณะรับตัวโจทก์ไว้พบว่าโจทก์มีไข้สูง บริเวณเท้าด้านขวาค่อนข้างเย็น เป็นสีม่วงดำ และบวมมาก คลำชีพจรที่หลังเท้าไม่ได้ จากบาดแผลมีลักษณะที่เซลล์ของขาตายแล้ว และจากลักษณะผิวหนังแสดงให้เห็นว่าประสาทและกล้ามเนื้อของโจทก์ตายมาก่อนแล้วด้วย นายธำรงค์โรจน์ได้ฉีดสีเข้าไปในหลอดเลือดของโจทก์เพื่อดูความเสียหายของหลอดเลือดส่วนปลายพบว่าหลอดเลือดส่วนปลายในระดับใต้น่องลงไปหรือเหนือข้อเท้าจนถึงปลายเท้าไม่มีหลอดเลือดใหญ่ ๆ ที่สามารถผ่าตัดต่อหลอดเลือดเพื่อนำเลือดไปเลี้ยงส่วนปลายเท้าได้ การที่กล้ามเนื้อตายอย่างเช่นกรณีของโจทก์อาจเกิดได้หลายกรณี อาทิ จากการบาดเจ็บของหลอดเลือดโดยตรง หรือบาดเจ็บต่อเท้าโดยตรง เช่น จากการถูกล้อรถบดขยี้ หรือจากการติดเชื้อ ซึ่งวิธีการรักษาก็จะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ อาการของโจทก์ถือว่าอยู่ในขั้นรุนแรง หลังจากแพทย์ตรวจรักษาและปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่าไม่สามารถรักษาเท้าของโจทก์ไว้ได้ วันรุ่งขึ้นจึงได้ผ่าตัดขาขวาของโจทก์ออก ส่วนบาดแผลบริเวณใบหน้าโจทก์มีนายวีระ แพทย์โรงพยาบาลพญาไท 2 เบิกความว่า บาดแผลที่ใบหน้าและศีรษะโจทก์มีหนองทั่วไป โจทก์มีอาการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง พยานรักษาโดยผ่าตัดใบหน้าโจทก์รวม 16 ครั้ง โดยระหว่างวันที่ 4, 6 และ 8 พฤศจิกายน 2544 เป็นการล้างแผลอย่างเดียวเนื่องจากมีหนองจำนวนมาก ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 มีจำเลยที่ 2 และที่ 4 เบิกความเป็นพยานในทำนองเดียวกันว่า โจทก์มีบาดแผลขนาดใหญ่ที่บริเวณใบหน้าด้านขวา ผิวหนังฉีกขาดลึกถึงกระดูก เลือดออกมาก เนื้อบริเวณหน้าผาก ตา ริมฝีปาก และแก้มมีการชอกช้ำ และมีเนื้อหลุดหายไปตั้งแต่บริเวณหน้าผาก บริเวณรอบตา ริมฝีปาก และแก้ม มีโพรงบริเวณจมูก และมีบาดแผลเป็นโพรงใต้ศีรษะ บาดแผลดังกล่าวมีสภาพสกปรก มีเศษขี้ดินอยู่ในแผล บางส่วนฝังลึกลงไปในเนื้อ จำเลยที่ 2 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แพทย์เวรในวันดังกล่าวได้นำโจทก์เข้าห้องฉุกเฉินทันทีแล้วรักษาด้วยการหยุดเลือด ให้น้ำเกลือให้น้ำเหลืองเทียมเพื่อทดแทนส่วนที่หายไป และใช้น้ำเกลือปลอดเชื้อล้างบาดแผลบริเวณใบหน้า ให้ยาแก้ปวด วัคซีนป้องกันบาดทะยัก ภูมิคุ้มกันโรคบาดทะยัก และยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่มากับแผลอีก 2 ชนิด คือ ยาคลอกซาซิลลินกับยาเจนต้ามัยซิน ซึ่งเป็นยาที่เป็นมาตรฐานใช้ในโรงพยาบาลทุกแห่งสามารถครอบคลุมฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ ส่วนที่ขาของโจทก์มีลักษณะผิดรูปเชื่อว่ากระดูกขาหัก จำเลยที่ 2 จึงให้พยาบาลดามขาไว้ นอกจากการสอบถามอาการจากตัวโจทก์เองแล้ว จำเลยที่ 2 ได้ใช้ตาดูและมือคลำตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าเพื่อหาความผิดปกติ ไม่พบว่าโจทก์มีอาการบาดเจ็บที่อื่นอีกนอกจากที่ใบหน้าและขาที่หักเท่านั้น หลังจากรักษาเบื้องต้นแล้วจำเลยที่ 2 ยังได้ส่งโจทก์ไปรับการเอกซเรย์ร่างกายบริเวณต่าง ๆ รวมทั้งเอกซเรย์สมอง จากนั้นแจ้งให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นแพทย์ด้านศัลยกรรมตกแต่งมาตรวจรักษาบาดแผลบริเวณใบหน้า และแจ้งจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นแพทย์ด้านศัลยกรรมกระดูกมาดูแลเรื่องขาที่หักของโจทก์ จำเลยที่ 4 ได้นำโจทก์เข้าผ่าตัดในวันเดียวกันเวลาประมาณ 23 นาฬิกา ใช้เวลาล้างแผลและผ่าตัด 3 ถึง 4 ชั่วโมง โดยต้องตัดเนื้อที่ตายออกบางส่วน และนำเนื้อที่โคนขามาปิดบริเวณเนื้อแก้มที่หายไปเพื่อช่วยให้แผลหายดีขึ้น หลังผ่าตัดแล้วจำเลยที่ 4 ยังมาดูอาการโจทก์ แต่เนื่องจากจำเลยที่ 4 มิได้เป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลนวนคร ในช่วงที่ไม่ได้มาก็จะมีแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลคอยดูแล ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2544 จำเลยที่ 4 ได้ผ่าตัดเนื้อตายที่ใบหน้าโจทก์เพิ่มอีกโดยได้อธิบายให้ญาติโจทก์ทราบว่าต้องมีการล้างแผลที่ใบหน้าโจทก์อีกหลายครั้งเนื่องจากบาดแผลสกปรกมาก และบาดแผลดังกล่าวจำเลยที่ 4 ใส่สายระบายน้ำที่ออกจากบาดแผลดังกล่าวไว้จึงมีกลิ่นเหม็นเน่าบ้าง พยาบาลจะวัดความดันโลหิตของโจทก์ทุก 4 ชั่วโมง จำเลยที่ 2 ได้มาตรวจอาการของโจทก์อีกหลายครั้ง โดยตรวจดูรายงานของพยาบาลด้วย นอกจากนี้ยังมีจำเลยที่ 5 เป็นพยานเบิกความว่า ในวันที่โรงพยาบาลรับตัวโจทก์ไว้ พยานได้มาดูอาการพบว่ามีกระดูกหักบริเวณเหนือเข่า และที่ปลายขา 2 แห่ง เส้นเลือดบริเวณขาไม่ได้รับอันตราย อาการบาดเจ็บที่ปลายขาไม่ถึงกับต้องตัดขา จึงผ่าตัดดามเหล็กไว้ ส่วนกระดูกที่หักบริเวณเหนือเข่าใช้วิธีการถ่วงน้ำหนัก วันรุ่งขึ้นพยานได้มาดูอาการโจทก์และบันทึกอาการไว้ในแฟ้มประวัติการรักษา พบว่าทุกอย่างปกติดี แต่กระดูกข้อเท้าเห็นไม่ชัดจึงได้สั่งให้เอกซเรย์เพิ่ม หลังผ่าตัดวันที่ 2 พยานตรวจร่างกายโจทก์พบว่าระบบเส้นเลือดและระบบประสาทปกติ หลังจากนั้นพยานจึงประสานให้จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นแพทย์กระดูกประจำโรงพยาบาล นวนครดูแลโจทก์ต่อ โดยจำเลยที่ 6 เบิกความสนับสนุนว่า วันที่ 2 พฤศจิกายน 2544 พยานตรวจอาการโจทก์ พบมารดาโจทก์ ได้อธิบายอาการของโจทก์ให้มารดาและญาติของโจทก์ทราบ โดยดูตามบันทึกของจำเลยที่ 5 หลังจากนั้นก็เคยสอบถามอาการโจทก์จากพยาบาลทราบว่ามีอาการทุเลาลง เห็นว่า โจทก์และญาติโจทก์เบิกความถึงอาการของโจทก์ภายหลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนวนคร ส่วนนายบัญญัติ นายธำรงค์โรจน์ และนายวีระก็เบิกความถึงอาการของโจทก์ขณะย้ายมารับการรักษาที่โรงพยาบาลพญาไท 2 แม้จะได้ความว่าโจทก์มีอาการบวมที่ขา บาดแผลที่ใบหน้ามีหนอง มีอาการติดเชื้อรุนแรง แต่พยานโจทก์ดังกล่าวก็มิได้ระบุถึงสาเหตุของอาการว่าเกิดจากการล้างบาดแผลที่ไม่สะอาดเพียงพอ หรือการให้การรักษาของแพทย์ที่โรงพยาบาลนวนครไม่เป็นไปตามมาตรฐานการแพทย์แต่อย่างใด ทั้งอาการบางอย่างพยานโจทก์ซึ่งเป็นแพทย์ก็ยังไม่อาจชี้ชัดถึงสาเหตุได้ แต่อย่างไรก็ตามได้ความจากคำเบิกความของนายสุรศักดิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรม พยานจำเลยที่ 4 ว่า ใบหน้าโจทก์ ไม่สามารถล้างแผลและเอาผิวหนังมาปิดได้ภายในครั้งเดียว แต่จะต้องล้างไปดูแลแผลไปเรื่อย ๆ และการล้างแผลด้วยน้ำเกลือถือว่าเป็นมาตรฐานการล้างแผลของแพทย์ การปะผิวหนังที่บริเวณบาดแผลก็เป็นการลดเชื้อโรคให้มีปริมาณน้อยลง แม้นายสุรศักดิ์จะเบิกความในฐานะพยานจำเลยที่ 4 แต่ก็เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมใบหน้า เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย 2 สมัย นับได้ว่าเป็นการให้ความเห็นที่มีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง ทั้งนายวีระพยานโจทก์เองก็เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 4 ถามค้านรับว่า บาดแผลของโจทก์ต้องมีการล้างหลายครั้ง ซึ่งจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 และนางสาวบุญญิสา ซึ่งทำหน้าที่พยาบาลประจำห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลนวนครก็ได้ความว่า ในวันที่รับตัวโจทก์ไว้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ล้างบาดแผลบริเวณใบหน้าโจทก์ด้วยตนเอง มีพยาบาล 1 คน เป็นผู้ช่วย โดยใช้น้ำเกลือมากกว่า 30 ลิตร ล้างบาดแผลซึ่งสกปรกและมีเศษดินลักษณะเป็นโคลนจำนวนมาก ในขณะจำเลยที่ 4 ผ่าตัดใบหน้าให้โจทก์ก็ได้ล้างแผลอีกครั้งเป็นเวลานาน และหลังจากวันนั้นในระหว่างที่โจทก์ยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนวนคร แพทย์และพยาบาลก็ยังทำการล้างแผล ให้ยาฆ่าเชื้อแก่โจทก์ และติดตามสภาพบาดแผลเรื่อยมาด้วย อันเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนที่เหมาะสมและติดตามอาการตามมาตรฐานการรักษา สอดคล้องกับความเห็นของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยที่เสนอต่อแพทยสภาว่า การดูแลรักษาโจทก์โดยรวมเหมาะสมถูกต้องตามหลักวิชาการแห่งวิชาชีพเวชกรรม พยานหลักฐานของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่อาจรับฟังว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 ดูแลรักษาบาดแผลบริเวณใบหน้าโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อ ส่วนอาการกระดูกหักก็ได้ความว่า จำเลยที่ 5 ทำการผ่าตัดให้การรักษาโจทก์ตั้งแต่วันแรกที่รับตัวไว้ ทั้งตรวจระบบเส้นเลือดและระบบประสาทอย่างครบถ้วน วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 5 ก็ยังมาติดตามดูอาการหลังการผ่าตัด ระหว่างอยู่ที่โรงพยาบาลนวนคร มีพยาบาลเข้ามาตรวจวัดความดันโลหิตและอาการทั่วไปของโจทก์เป็นระยะๆ พร้อมบันทึกรายงานไว้ อันเป็นทางปฏิบัติตามปกติเนื่องจากโจทก์ได้รับบาดเจ็บหลายแห่ง อาการแต่ละอย่างต้องมีแพทย์ผู้ชำนาญมาตรวจรักษาเฉพาะทาง แต่หากเป็นการติดตามอาการทั่วไปแพทย์ของโรงพยาบาลย่อมดูแลได้โดยอาศัยข้อมูลที่มีการลงบันทึกไว้ ประกอบกับปรากฏว่าภายหลังการรักษาในช่วงแรกโจทก์มีอาการดีขึ้น สามารถพูดคุยกับนายสมบูรณ์และหายใจได้ด้วยตนเอง ซึ่งย่อมเป็นผลมาจากการดูแลรักษาของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จนที่สุดโจทก์ย้ายจากห้องผู้ป่วยวิกฤตไปพักรักษาตัวที่ห้องผู้ป่วยทั่วไปได้ แสดงว่าสภาพโดยทั่วไปของโจทก์ดีขึ้นตามลำดับ ส่วนที่โจทก์และนางมาลีเบิกความว่า วันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 เวลากลางคืน โจทก์มีไข้สูงและปวดขาขวา จึงแจ้งแพทย์เวรทราบ วันรุ่งขึ้นโจทก์มีไข้สูงมากขึ้น ปวดขามากขึ้น กับมีกลิ่นเน่าบริเวณใบหน้า พยาบาลแจ้งว่ามีหนองและแนะนำให้ปิดเครื่องปรับอากาศแล้วเปิดหน้าต่างแทนเพื่อระบายกลิ่น แต่โจทก์ยังปวดและร้องครวญครางนั้น จำเลยที่ 2 ก็เบิกความรับว่า ช่วงเช้าวันดังกล่าวจำเลยที่ 2 ตรวจบาดแผลที่ใบหน้าโจทก์ พบว่าผ้าพันแผลมีน้ำเหลืองซึมแฉะ และโจทก์มีไข้กับแจ้งว่าปวดขา จำเลยที่ 2 จึงสั่งยาบรรเทาปวดให้โจทก์รับประทานและให้พยาบาลแจ้งจำเลยที่ 4 มาตรวจอาการที่ใบหน้า แจ้งแพทย์ศัลยกรรมกระดูกมาดูอาการที่ขา ตามเวชระเบียน ต่อมาทราบว่าช่วงเที่ยงจำเลยที่ 4 มาตรวจบาดแผลที่ใบหน้า และจำเลยที่ 6 มาตรวจดูอาการที่ขาของโจทก์ ทั้งเวลา 17 นาฬิกาของวันดังกล่าวจำเลยที่ 2 มาดูอาการของโจทก์อีกครั้งเชื่อว่าแผลที่ใบหน้าโจทก์ติดเชื้อจึงสั่งให้เพิ่มปริมาณยาเจนต้ามัยซินเพื่อฆ่าเชื้อแกรมลบคุมอาการ 24 ชั่วโมง และเพิ่มปริมาณยาฆ่าเชื้อคลอกซาซิลลินเพื่อฆ่าเชื้อแกรมบวกคุมอาการทุก 6 ชั่วโมง ตามเวชระเบียน ต่อมาเวลา 18 นาฬิกา นายทวิช แพทย์ศัลยกรรมกระดูกของจำเลยที่ 1 มาตรวจโจทก์เห็นว่าปกติ ซึ่งเมื่อพิจารณาเวชระเบียน พยาบาลประจำห้องพักโจทก์บันทึกไว้ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 เวลา 18 นาฬิกา โจทก์มีอาการไข้สูง แผลที่ใบหน้าซีกขวามีเศษดิน และมีหนองไหลออกทางท่อสายยาง และแผลมีกลิ่นซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์และนางมาลี จำเลยที่ 2 เบิกความอธิบายถึงอาการผู้ป่วยติดเชื้อโรคว่า จะมีอาการมีไข้ แผลมีกลิ่น หากมีอาการอักเสบจะมีอาการปวดแสบปวดร้อน ต่อมาเมื่อโจทก์ร้องเรียนไปยังแพทยสภา จำเลยที่ 2 ได้ทำบันทึกชี้แจงการรักษาโจทก์ระบุว่า วันที่ 2 พฤศจิกายน 2544 โจทก์เริ่มมีไข้สูง 39.5 องศาเซลเซียส เปิดแผลที่หน้ามีกลิ่น และมีเนื้อตายสีดำวินิจฉัยโรค คือ infected wound at face 1. ปรึกษาแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดให้มาดูแลและรักษาแผล 2. พิจารณาเปลี่ยน dose antibiotics (gentamicin) และนายสุทร แพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อพยานจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ได้เบิกความอธิบายถึงอาการติดเชื้อว่า จะเกิดแก๊สที่แผลทำให้มีกลิ่นเหม็นเน่า ดังนี้ การที่โจทก์มีอาการไข้ขึ้นสูง บาดแผลที่บริเวณใบหน้าเกิดหนอง มีกลิ่นเหม็นเน่าที่ใบหน้า และมีอาการปวดแสบปวดร้อน จึงสอดคล้องกับอาการติดเชื้อโรคตามที่จำเลยที่ 2 ได้อธิบายไว้ดังกล่าวเบื้องต้น อาการของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า โจทก์เริ่มมีอาการติดเชื้อโรค แต่การจะทราบว่าโจทก์ติดเชื้อโรคชนิดใดแพทย์ต้องทำการเพาะเชื้อจากเนื้อเยื่อ หรือเลือด หรือหนอง หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือทำการย้อมสีจากสิ่งดังกล่าวเพื่อนำมาประกอบการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อโรคเพื่อทำการรักษาต่อไป แพทย์ผู้ตรวจไม่สามารถวินิจฉัยจากอาการภายนอกเพียงอย่างเดียวได้ จำเลยที่ 2 เป็นเพียงแพทย์เจ้าของไข้ทั่วไป มิได้เป็นแพทย์ผู้ผ่าตัดรักษา เมื่อตรวจพบอาการของโจทก์แล้วได้แจ้งให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดซึ่งเป็นแพทย์เจ้าของไข้โดยตรงและมีหน้าที่ติดตามอาการภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดทราบในทันทีเพื่อมาตรวจดูอาการของโจทก์ และเมื่อเห็นว่าโจทก์มีอาการติดเชื้อจากบาดแผลบริเวณใบหน้า จำเลยที่ 2 จึงได้เพิ่มปริมาณขนาดยาฆ่าเชื้อเจนต้ามัยซินเพื่อฆ่าเชื้อแกรมลบ และช่วงเย็นจำเลยที่ 2 มาตรวจอาการโจทก์อีกครั้ง เมื่อเห็นว่าอาการโจทก์ยังไม่ดีขึ้นได้แจ้งนายทวิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมกระดูกและข้อมาตรวจดูอาการของโจทก์อีกครั้ง พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 มิได้เพิกเฉยต่ออาการป่วยของโจทก์และติดตามดูแลอาการโจทก์ตลอดมา ทั้งต่อมาแพทยสภาได้พิจารณาข้อร้องเรียนของโจทก์ที่อ้างว่า จำเลยที่ 2 ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่รักษามาตรฐานเป็นเหตุให้แผลผ่าตัดที่ใบหน้ามีการติดเชื้อรุนแรง แล้วแพทยสภาเห็นว่า การดูแลรักษาโดยรวมเหมาะสมถูกต้องตามหลักวิชาชีพ จำเลยที่ 2 มิได้กระทำผิดข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2526 จึงมีคำสั่งยกข้อกล่าวโทษ ตามคำสั่งแพทยสภา ที่ 60/2550 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งรับเอกสารเพิ่มเติมเพื่อให้การวินิจฉัยคดีเป็นไปโดยเที่ยงธรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคท้าย ดังนี้ กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการดูแลรักษาโจทก์เหมาะสมตามหน้าที่ที่ต้องกระทำในภาวะเช่นว่านั้นแล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมาจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย สำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านภายหลังผ่าตัดรักษาโจทก์มีหน้าที่ติดตามดูแลภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัด แต่เนื่องจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชมารับจ้างเป็นแพทย์รักษาคนไข้ของจำเลยที่ 1 เฉพาะรายเป็นครั้ง ๆ ไป หากไม่สามารถมาติดตามภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัดได้ ก็จะมอบหมายให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลของจำเลยที่ 1 ดูแลแทน ซึ่งจากทางนำสืบของฝ่ายจำเลยได้ความว่า วันที่ 2 พฤศจิกายน 2544 ช่วงเที่ยง จำเลยที่ 4 เข้ามาตรวจดูอาการโจทก์ตามที่ได้รับแจ้งจากพยาบาลของจำเลยที่ 1 แล้ว ได้ตัดเนื้อที่ตายบริเวณใบหน้าของโจทก์ออกเพิ่มขึ้น ตรวจบาดแผลแล้วเห็นว่ากลิ่นเหม็นเกิดจากเนื้อเน่า น้ำที่ไหลออกจากสายระบายมีลักษณะเป็นน้ำปนเลือด ไม่ใช่หนอง ส่วนจำเลยที่ 5 มิได้มาดูอาการโจทก์แต่ประสานให้จำเลยที่ 6 ดูแลแทน ก่อนเที่ยงจำเลยที่ 6 ดูอาการที่เท้าของโจทก์ ตรวจฟิล์มเอกซเรย์ให้โจทก์กระดิกนิ้วเท้าขาขวาและซ้าย โจทก์สามารถกระดิกนิ้วเท้าได้ จึงไม่สงสัยว่าจะมีอาการคอมพาร์ตเมนต์ ซินโดรม หรือกล้ามเนื้อตาย และต่อมาเวลา 18 นาฬิกา นายทวิชตรวจอาการที่เท้าโจทก์ โดยเปิดบาดแผลบริเวณขาดูพบเห็นว่าปกติ ตามเวชระเบียน และคำแปล จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่า ภายหลังจำเลยที่ 4 และที่ 5 ทำการผ่าตัดโจทก์แล้ว จำเลยที่ 4 และที่ 5 มีหน้าที่ในการติดตามดูภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัดในฐานะแพทย์เจ้าของไข้โดยตรง หากไม่สามารถมาตรวจอาการผู้ป่วยด้วยตนเอง ก็สามารถมอบหมายให้แพทย์อื่นในสาขาเดียวกันมาดูแทน ซึ่งเมื่อจำเลยที่ 4 ได้รับแจ้งจากทางโรงพยาบาลของจำเลยที่ 1 ก็ได้เดินทางมาตรวจอาการของโจทก์ และมีการแจ้งให้ส่งชิ้นเนื้อจากแผลของโจทก์ไปทำการเพาะเชื้อ ส่วนจำเลยที่ 5 ก็มีจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นแพทย์สาขาเดียวกันมาตรวจโจทก์ จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงมิได้ละเว้นหน้าที่ในการติดตามภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัดอันเป็นหน้าที่โดยตรงของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดรักษาผู้ป่วย เมื่อข้อเท็จจริง ที่โจทก์และจำเลยทั้งหกนำสืบรับกันมารับฟังได้ว่า ขณะที่โจทก์เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้มีการนำเอาตัวอย่างเลือดของโจทก์ไปเพาะเชื้อผลปรากฏว่า โจทก์มีอาการติดเชื้อหลายชนิดรวมทั้งเชื้อแอโรโมเเนส ไฮโดรฟิลล่า (Aeromonas hydrophila) โดยนางภัทราวดี แพทย์สาขาอายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชพยานจำเลยที่ 4 เบิกความว่า เชื้อแอโรโมเเนส ไฮโดรฟิลล่าเป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบพบในน้ำและในดินเท่านั้น ไม่มีอยู่ในห้องผ่าตัด เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด ยาปฏิชีวนะที่ให้ผลตอบสนองอย่างดี คือ ยาฆ่าเชื้อเจนต้ามัยซิน เมื่อแพทย์ให้ยาครอบคลุมเชื้อโรคไว้แล้วต้องเฝ้าดูอาการผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ และแพทย์ของจำเลยที่ 1 ให้ยาฆ่าเชื้อเจนต้ามัยซินแก่โจทก์แล้ว ส่วนจำเลยที่ 6 เบิกความว่า เชื้อแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลล่าชอบเกาะอยู่ตามลิ่มเลือด บริเวณตาตุ่มมีลิ่มเลือด บริเวณแผลผ่าตัดที่ข้อเท้ามีท่อระบายเลือดอาจจะเป็นไปได้ว่าเชื้อแอโรโมเเนส ไฮโดรฟิลล่าไปเกาะตรงแผลแล้วลุกลามไปถึงใต้เข่า นายธำรงค์โรจน์พยานโจทก์เบิกความว่า ขณะพบโจทก์ โจทก์มีไข้สูง ขาข้างที่ผ่าตัดบริเวณส่วนเท้ามีสีคล้ำถึงม่วงดำ มีอาการเย็น บวม มีตุ่มน้ำลักษณะคล้ายพุพองบริเวณหนังเท้าหลายจุด ไม่สามารถคลำชีพจรที่หลังเท้าได้ ไม่สามารถเคลื่อนไหวเท้าและนิ้วเท้า มีลักษณะเซลล์ขาตายแล้ว โจทก์มีไข้สูงสะลึมสะลือ ไม่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ตรวจเลือดพบว่ามีเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ บ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง หากปล่อยไว้การติดเชื้อจะส่งผลต่อระบบการทำงานของหัวใจ สมอง ตับและลำไส้ ต้องรักษาโดยการตัดขาเพื่อรักษาชีวิตโจทก์ การเพาะเชื้อต้องใช้เวลา 3 วัน ผลเพาะเชื้อโจทก์ติดเชื้อโรคแอโรโมเเนส ไฮโดรฟิลล่าในกระแสเลือดและแพทย์ของจำเลยที่ 1 ให้ยาต่อการรักษาเชื้อชนิดนี้ได้เร็ว หากแพทย์ให้ยาปฏิชีวนะแล้ว เชื้อโรคไม่ตอบสนองต่อยาฆ่าเชื้อ ผู้ป่วยยังมีการติดเชื้ออยู่ถือไม่ได้ว่าแพทย์ประมาทเลินเล่อ นายบัญญัติพยานโจทก์เบิกความว่า ขณะตรวจโจทก์มีอาการติดเชื้อมาก่อนอย่างรุนแรง แต่จะทราบว่าเป็นเชื้ออะไรต้องส่งเชื้อไปตรวจต้องใช้เวลา 3 วัน จึงจะทราบผล เมื่อเปิดแผลที่ขาดูพบว่าเชื้อลุกลามมาก เชื้อโรคแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลล่านี้แม้แพทย์ของจำเลยที่ 1 จะรักษาดีเพียงใด เชื้อโรคก็มีโอกาสสำแดงอาการได้ จากพยานหลักฐานดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า เชื้อโรคแอโรโมเเนส ไฮโดรฟิลล่าเป็นเชื้อที่มีอยู่ในน้ำและดินเท่านั้น เชื้อโรคดังกล่าวจึงมีอยู่ในน้ำและดินบริเวณร่องถนนที่เกิดเหตุ มิได้มีอยู่ในห้องฉุกเฉินหรือห้องผ่าตัดของจำเลยที่ 1 ดังนี้ เชื้อโรคจึงเข้าสู่ร่างกายโจทก์ทางบาดแผลบริเวณใบหน้า ก่อนโจทก์ถูกส่งตัวมารับการรักษาที่โรงพยาบาลของจำเลยที่ 1 ขณะจำเลยที่ 2 และที่ 4 รักษาโจทก์ได้ให้ยาฆ่าเชื้อเจนต้ามัยซินซึ่งมีผลตอบสนองดีกับเชื้อดังกล่าว โดยวันที่ 30 ตุลาคม 2544 จำเลยที่ 2 ให้ยาฆ่าเชื้อเจนต้ามัยซินปริมาณ 80 มิลลิกรัม เพื่อคลุมเชื้อโรคและให้วันละครั้ง ต่อมาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2544 เมื่อเห็นว่าโจทก์ติดเชื้อแล้ว จำเลยที่ 2 ได้เพิ่มปริมาณยาฆ่าเชื้อเจนต้ามัยซินเป็น 240 มิลลิกรัม เพื่อฆ่าเชื้อโรค ส่วนจำเลยที่ 4 ได้สั่งให้มีการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากบาดแผลโจทก์ไปทำการเพาะเชื้อเพื่อประกอบการตรวจวินิจฉัยโรคแล้ว และคำแปล นายวีระพยานโจทก์เบิกความว่า การให้ยาฆ่าเชื้อโรคเพื่อคุมอาการเป็นมาตรฐานปกติของแพทย์ ทั้งแพทย์โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้ให้ยาฆ่าเชื้อเจนต้ามัยซินแก่โจทก์เช่นเดียวกัน ดังนี้ กรณีผู้ป่วยที่มีบาดแผลขนาดใหญ่และบาดแผลสัมผัสกับแหล่งน้ำสกปรก แพทย์ผู้ทำการรักษาจะให้ยาฆ่าเชื้อโรคเจนต้ามัยซินเพื่อฆ่าแบคทีเรียแกรมลบที่มีอยู่ในดินและน้ำ อันเป็นมาตรฐานการรักษาตามเกณฑ์ปกติทั่วไปของแพทย์ โดยในเบื้องต้นจะให้ยาฆ่าเชื้อในระดับที่ควบคุมเชื้อโรคไว้ เพื่อคอยดูอาการของผู้ป่วยหลังเชื้อโรคฟักตัวระยะหนึ่ง หากผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อโรคแอโรโมเเนส ไฮโดรฟิลล่าแล้วแพทย์จะเพิ่มขนาดยาฆ่าเชื้อโรคและทำการเพาะเชื้อโรคเพื่อให้ทราบว่าเป็นเชื้อโรคชนิดใด กรณีของโจทก์นั้นจำเลยที่ 2 ได้เพิ่มขนาดยาฆ่าเชื้อเจนต้ามัยซิน และจำเลยที่ 4 ได้สั่งให้ดำเนินการนำเนื้อเยื่อของโจทก์ไปเพาะเชื้อแล้ว แต่โจทก์ได้ย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลพญาไท 2 เสียก่อน แม้จะฟังได้ว่ายาฆ่าเชื้อเจนต้ามัยซินไม่สามารถสนองต่อการฆ่าเชื้อโรค โจทก์ยังมีอาการติดเชื้อโรคอยู่ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 4 แพทย์ผู้ทำการรักษา จำเลยที่ 5 และที่ 6 เบิกความทำนองเดียวกันว่า อาการคอมพาร์ตเมนต์ ซินโดรมเป็นอาการบวมของเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บ กล้ามเนื้อจะขยายพังผืดจนกระทั่งไม่สามารถขยายต่อไปได้ จะกดรัดระบบเลือดและระบบเส้นประสาท ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและเส้นประสาทไม่พอทำให้เกิดการตายของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท อาการดังกล่าวจะเกิดในการผ่าตัดเย็บพังผืด แต่กรณีของโจทก์มิได้เย็บพังผืดปิดและผู้ป่วยจะมีอาการปวดมากขึ้นตลอดเวลา สีผิวบริเวณดังกล่าวจะเปลี่ยนไป เพราะกล้ามเนื้อตาย นิ้วเท้าจะอยู่ในท่างอและขยับไม่ได้ หากสงสัยจะต้องแกะสิ่งที่รัดบริเวณดังกล่าวออกดู โดยทั่วไปจะพบอาการภายใน 48 ชั่วโมง และกล้ามเนื้อที่ขาดเลือดจะมีลักษณะแห้ง มีการหดรั้งของเส้นเอ็น ไม่มีอาการเน่า ขณะตรวจโจทก์สามารถขยับนิ้วเท้าได้จึงไม่มีอาการกดรั้งของเส้นเอ็นหรืออาการคอมพาร์ตเมนต์ ซินโดรม ส่วนนายธำรงค์โรจน์และนายบัญญัติพยานโจทก์เบิกความทำนองเดียวกันว่า ขณะตรวจวินิจฉัยโรคไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นอาการคอมพาร์ตเมนต์ ซินโดรม แต่ยืนยันว่าโจทก์มีอาการติดเชื้อโรค นายธำรงค์โรจน์พบว่า บริเวณเท้ามีสีคล้ำถึงม่วงดำ เย็น บวม มีตุ่มน้ำพุพอง เคลื่อนไหวเท้าและนิ้วเท้าไม่ได้ อาการดังกล่าวจึงแตกต่างจากอาการคอมพาร์ตเมนต์ ซินโดรม ที่เนื้อเยื่อตายจะมีลักษณะแห้ง มีการหดรั้งของเส้นเอ็น นิ้วเท้าจะงอและขยับไม่ได้ ประกอบกับราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยได้ให้ความเห็นต่อแพทยสภาว่า การบำบัดรักษากระดูกหักทั้ง 2 ตำแหน่ง เหมาะสมถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงรับฟังไม่ได้ว่า การที่เส้นเลือดที่ขาขวาของโจทก์อุดตัน เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงเนื้อเยื่อที่บริเวณข้อเท้า มีสาเหตุมาจากอาการคอมพาร์ตเมนต์ ซินโดรม อันเกิดจากการรักษาของจำเลยที่ 5 และที่ 6 อาจเกิดจากการติดเชื้อโรคแอโรโมเเนส ไฮโดรฟิลล่าที่โจทก์ได้รับมาขณะประสบอุบัติเหตุที่บริเวณที่เกิดเหตุ ความเสียหายที่โจทก์ได้รับจึงมิใช่ผลโดยตรงจากการตรวจรักษาของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ดังนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 จึงมิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยดังกล่าวรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ฟังขึ้น เมื่อได้วินิจฉัยมาดังกล่าวแล้ว ฎีกาข้ออื่นของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่จำเป็นแก่คดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมของทั้งสองฝ่ายในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1