คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1835/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พนักงานเดินหมายได้นำสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ไปส่งให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยรวม 2 ครั้ง ปรากฏว่าส่งให้ไม่ได้เพราะไม่พบจำเลย พบประตูปิดใส่กุญแจ สอบถามผู้ที่อยู่บ้านข้างเคียงไม่ทราบว่าจำเลยไปที่ใด แต่เมื่อคราวนำหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปส่งให้แก่จำเลยในครั้งแรก ก็ไม่พบจำเลยเช่นเดียวกันในการส่งหมายนัดครั้งที่ 2 จึงส่งหมายนัดโดยการปิดหมายไว้ที่ภูมิลำเนาของจำเลย จำเลยมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามกำหนดนัดดังนี้ แสดงว่าการที่พนักงานเดินหมายไม่พบจำเลยนั้นอาจเป็นเพราะจำเลยไม่อยู่บ้านหรือออกไปทำงานในตอนเช้า และกลับบ้านในตอนเย็นจึงถือไม่ได้ว่าการส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยไม่ได้นั้นเป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่พบหรือหลบหนีหรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ต้องส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยใหม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43 และ 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวอันเป็นความผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดจำคุก 4 ปี และปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาทจำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่บิดามารดาของผู้ตายรวมเป็นเงิน 100,000 บาทเป็นที่พอใจและบิดามารดาของผู้ตายไม่ติดใจเอาความกับจำเลยเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นคนดี ให้รอการลงโทษจำคุกไว้กำหนด3 ปี
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยโดยไม่รอการลงโทษจำเลยและปรับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในเบื้องต้นคดีมีปัญหาตามฎีกาจำเลยว่ากระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่พิเคราะห์แล้ว ในการส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยนั้นพนักงานเดินหมายได้นำสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ไปส่งให้แก่จำเลยณ ภูมิลำเนาของจำเลย ซึ่งตรงตามภูมิลำเนาของจำเลยในคำฟ้อง รวม2 ครั้ง และปรากฏจากรายงานการเดินหมายทั้งสองครั้งว่า ไม่พบจำเลยพบประตูปิดใส่กุญแจ สอบถามผู้ที่อยู่บ้านข้างเคียง ไม่มีใครทราบว่าจำเลยไปไหน แต่เมื่อพนักงานเดินหมายนำหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปส่งให้แก่จำเลยในครั้งแรก ก็ไม่พบจำเลยเช่นเดียวกัน ในการส่งหมายนัดได้โดยการปิดหมายไว้ที่ภูมิลำเนาของจำเลย จำเลยมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามกำหนดนัด จึงแสดงว่าการที่พนักงานเดินหมายไม่พบจำเลยนั้นอาจเป็นเพราะจำเลยไม่อยู่บ้านหรือออกไปทำงานในตอนเช้าและกลับบ้านในตอนเย็นดังที่จำเลยกล่าวอ้างมาในฎีกาก็ได้ จึงถือไม่ได้ว่าการส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยไม่ได้นั้น เป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่พบ หรือหลบหนีหรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 201ที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาศาลอุทธรณ์คดีโดยมิได้มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยเพื่อแก้นั้น จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 200 ไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการในเรื่องส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยแล้วส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาศาลอุทธรณ์คดีใหม่”.

Share